×

‘โรงไฟฟ้า-ท่าเรือ-นิคมอุตสาหกรรม’ ระเบิดเวลาคุกคามชายฝั่งทะเลไทย

08.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ขณะนี้โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้จะมีโครงการโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นจำนวน 2 โครงการ ท่าเรือน้ำลึก 3 โครงการ และนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่ง
  • เมื่อเปรียบเทียบระหว่างสิ่งที่จะได้จากการเกิดขึ้นของโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่กับการทำธุรกิจท่องเที่ยวและการประมงโดยใช้ตัวชี้วัดต่างๆ พบว่า การท่องเที่ยวและประมงมีความคุ้มค่าในการพัฒนามากกว่าอุตสาหกรรมในทุกๆ ด้าน
  • โครงการเมกะโปรเจกต์เหล่านี้สะท้อนว่ากลุ่มทุนมีอำนาจเหนือรัฐบาลในการกำหนดนโยบายต่างๆ

     8 มิถุนายนของทุกปีคือ ‘วันมหาสมุทรโลก’ ที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อระลึกถึงคุณค่า และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของมหาสมุทร – แหล่งพึ่งพิงของสิ่งมีชีวิตบนโลกที่ครอบคลุมพื้นที่ 3 ใน 4 ของโลก ซึ่งหัวข้อของวันมหาสมุทรโลกในปีนี้คือ ‘มหาสมุทรของเรา อนาคตของเรา’

     ถ้ามหาสมุทรโลกนั้นยิ่งใหญ่และไกลตัวเกินไปสำหรับคนไทย THE STANDARD อยากชวนคุณมาโฟกัสเฉพาะทะเลไทย โดยเฉพาะทะเลภาคใต้ที่เป็นแหล่งผลิตอาหาร และแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก ซึ่งวันนี้กำลังถูกภัยคุกคามขนาดใหญ่ที่เรียกว่า ‘เมกะโปรเจกต์’

     โรงไฟฟ้าถ่านหิน นิคมอุตสาหกรรม และท่าเรือน้ำลึกคือสิ่งที่เรากำลังจะพูดถึง แน่นอนว่าโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้มีคนได้ประโยชน์จำนวนมาก แต่ในทางกลับกันก็มีคนที่ได้รับผลกระทบและเสียประโยชน์ในจำนวนที่ไม่น้อยกว่ากัน

     ในงานกิจกรรมวันมหาสมุทรโลกที่จัดขึ้นโดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ประเทศไทย ประสิทธิ์ชัย หนูนวล นักวิชาการอิสระ และผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน เปิดเผยรายงานวิจัยเรื่อง นิเวศ-เศรษฐกิจ-สังคม และผลกระทบทะเลและชายฝั่งภาคใต้จากกิจกรรมการพัฒนา กรณีศึกษาโรงไฟฟ้าถ่านหิน การขุดเจาะน้ำมัน และการสร้างท่าเทียบเรือ ซึ่งเกิดจากการลงพื้นที่สำรวจเปรียบเทียบระหว่างสิ่งที่จะได้จากการพัฒนาโครงการใหญ่กับสิ่งที่จะได้จากกิจการท่องเที่ยว และการประมง ในพื้นที่ชายทะเลจังหวัดชุมพร สงขลา สตูล ตรัง กระบี่ และนครศรีธรรมราช

 

 Photo: ArnuphapY, Shutterstock

 

     ประเด็นสำคัญที่พบจากงานวิจัยครั้งนี้คือ การจ้างงานที่ทางฝั่งอุตสาหกรรมมักจะอ้างว่าหากโครงการต่างๆ เกิดขึ้นจริง จะสามารถเพิ่มการจ้างงานได้เป็นจำนวนมาก แต่จากการศึกษากลับพบว่าอาชีพที่คนท้องถิ่นทำอยู่เดิม เช่น การประมง หรืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวกลับสามารถจ้างงานได้มากกว่า

     เช่น จังหวัดกระบี่ ที่กำลังจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แค่เฉพาะในเกาะลันตาที่เดียวก็สามารถจ้างงานได้ 9,000 กว่าตำแหน่ง ยังไม่นับรวมเกาะพีพี หรืออ่าวนางที่สามารถจ้างงานได้อีกมหาศาล ขณะที่ถ้ามีโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นจะสามารถจ้างงานได้มากที่สุดประมาณ 200 คนเท่านั้น

     “ถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้น การท่องเที่ยวก็เจ๊ง แหล่งงานที่จะเกิดขึ้นนับหลายหมื่นต่ำแหน่งก็จะหายไป แต่ได้เพิ่มเข้ามาแค่ 200 ตำแหน่ง เพราะโรงไฟฟ้ากับการท่องเที่ยวและการประมงมันอยู่ในที่เดียวกันไม่ได้ เราเลยพยายามทำการศึกษาเพื่อเปรียบเทียบว่าถ้ามีโครงการใหญ่ๆ เข้ามาแทนที่ อะไรจะเสียไป และอะไรที่จะได้มา ซึ่งพอตัวเลขออกมาก็พบว่ามันเทียบกันไม่ได้เลย”

     ซึ่งจากการศึกษาในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ประสิทธิ์ชัยเปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้จะมีโครงการโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นจำนวน 2 โครงการ ท่าเรือน้ำลึก 3 โครงการ และนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่ง ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบเรื่องการจ้างงานแล้ว สิ่งแวดล้อมก็จะสูญเสียไปจากโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้ด้วย

     “การท่องเที่ยวและการประมงก็ทำลายสิ่งแวดล้อมนะ แต่มันทำลายน้อยกว่ามาก และมีโอกาสที่จะแก้ไขได้ อย่างในปัจจุบันธุรกิจท่องเที่ยวเริ่มตระหนักแล้วว่าเขาต้องรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย เพราะไม่อย่างนั้นจะไม่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยว

     “แต่ถ้าเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หรือโรงไฟฟ้าถ่านหิน ธรรมชาติที่เสียหายไปแล้วมันจะแก้ไขไม่ได้ เสียแล้วเสียเลย ไม่สามารถเสกให้กลับมาเหมือนเดิมได้ เพราะฉะนั้นสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงถึง”

     ในรายงานฉบับดังกล่าวยังเปรียบเทียบเรื่องการกระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึงระหว่างกิจการอุตสาหกรรม และกิจการท่องเที่ยว ความสอดคล้องกับวัฒนธรรม การเติบโตอย่างยั่งยืน และสิทธิในการกำหนดอนาคตการพัฒนาของคนท้องถิ่น ซึ่งแน่นอนว่าการทำประมงและการท่องเที่ยวมีความคุ้มค่ากว่าการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ในทุกๆ ด้าน

     “เราไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา แต่เราสามารถเลือกการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ทั้งการประมง การท่องเที่ยว หรือการเกษตร หรือถ้าอยากเป็นอุตสาหกรรม เราก็สามารถเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กๆ ได้ นี่คือทางที่ยั่งยืน จ้างงานได้มากกว่า และรวยกว่าด้วย

     “แต่เวลาวางแผนการพัฒนา รัฐไม่เคยเอาตัวเลขเหล่านี้มาวางไว้ตรงหน้าเลย มันสะท้อนให้เห็นว่ารัฐไม่ได้คิดอยู่บนพื้นฐานประโยชน์ของประชาชน และสะท้อนว่ากลุ่มทุนมีอำนาจเหนือรัฐบาลในการกำหนดนโยบาย และถ้าปล่อยให้โครงการเหล่านี้เกิดขึ้น กลุ่มทุนก็จะมีอำนาจในการกำหนดนโยบายเรื่องอื่นๆ ทั้งเรื่องอาหาร และพลังงาน”

     ถ้าวันมหาสมุทรโลกถูกกำหนดมาเพื่อให้เราสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของท้องทะเล นี่อาจถึงเวลาแล้วที่เราจะหันกลับมาตั้งคำถามกับการพัฒนาประเทศของเราเองว่าจะทำอย่างไรให้แหล่งพึ่งพิงสำคัญของสิ่งมีชีวิตอยู่รอดปลอดภัยเพื่อเก็บไว้เฉลิมฉลองวันมหาสมุทรโลกได้อีกนานๆ

 

Cover  Photo:Take Photo, Shutterstock

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising