แทนที่ ‘เทศกาลสงกรานต์ 2564’ จะเป็นความหวังที่เข้ามาต่อชีวิตให้กับธุรกิจท่องเที่ยวและการโรงแรมของไทย หลังจากต้องผจญมรสุมอย่างหนักหน่วงในปีที่ผ่านมาต่อเนื่องมาจนถึงต้นปีนี้ ทว่าการแพร่ระบาดครั้งใหม่ของโรคโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ กำลังจะทำให้สงกรานต์ ‘ไม่คึกคัก’ อย่างที่คิดเสียแล้ว
โรงแรมยกเลิกจองห้องพักแล้ว 10-20%
มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (Thai Hotels Association: THA) ให้ข้อมูลกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ปกติแล้วเทศกาลสงกรานต์ของทุกปีถือเป็นช่วงไฮซีชันของธุรกิจโรงแรม แต่การระบาดครั้งนี้ที่เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนพบว่า ล่าสุดเริ่มมีการทยอยยกเลิกแล้ว 10-20% ในแหล่งท่องเที่ยวอย่าง ห้วหิน พัทยา ภูเก็ต และเชียงใหม่ สำหรับในกรุงเทพฯ นั้น การยกเลิกจองห้องพักมีอยู่บ้าง แต่ที่ต้องจับตาคือการเลื่อนประชุมและสัมมนามากกว่า
บรรยาย: มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (Thai Hotels Association: THA)
ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา / THE STANDARD
โดยก่อนจะมีการระบาดนั้น ‘หัวหิน’ เป็นทำเลที่โรงแรมถูกจองมากที่สุด โดยเกือบเต็ม ซึ่งเป็นผลมาจากการที่คนไทยหันมาเที่ยวในพื้นที่ใกล้ๆ มากขึ้น แตกต่างจากเดิมที่ช่วงสงกรานต์ผู้คนมักเดินทางไปยังจังหวัดไกลๆ ขณะที่พัทยาก็เป็นอีกทำเลที่มีคนจองเข้าไปเยอะเช่นกัน
“สิ่งที่ต้องจับตาต่อจากนี้คือการประกาศของสาธารณสุขแต่ละจังหวัด หากต้องกักตัว 14 วันเมื่อมาจากพื้นที่เสี่ยง แน่นอนว่าส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจโรงแรมแน่นอน”
สำหรับในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 การระบาดของโรคในช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงต้นปี ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจโรงแรมในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ โดยในเดือนกุมภาพันธ์นั้นพบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง 33.47% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่รายได้ลดลง 53.89% เพิ่งจะมาฟื้นตัวในช่วงเดือนมีนาคมนี้เอง แต่จากการระบาดรอบใหม่อาจทำให้เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ไม่ได้คึกคักอย่างที่คิดแล้ว
“เราไม่อยากให้การท่องเที่ยวกระทบบ่อยๆ อยากให้รัฐมีการจัดระเบียบไปยังสถานที่ที่ต้องมีการรวมตัวกันเยอะๆ เพราะระบาดทีก็กระทบที ตอนนี้ธุรกิจโรงแรมอยู่ในจุดต่ำที่สุดแล้ว ไม่สามารถลดต้นทุนได้ต่ำมากกว่านี้แล้ว อย่างปีที่ผ่านมารายได้การท่องเที่ยวในประเทศหายไป 50% ซึ่งอีกสิ่งที่เราพบคือ นักท่องเที่ยวใช้จ่ายน้อยลงสะท้อนว่าต้องการประหยัดเงินในกระเป๋า”
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐได้ออกมาตรการ ‘โกดังพักหนี้’ ซึ่งจะมีรายละเอียดอย่างชัดเจนในวันที่ 9 เมษายน โดยจะมีซอฟต์โลน 2.5 แสนล้านบาท และวงเงินสำหรับการโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ 1 แสนล้านบาท ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้น พบโรงแรมระดับ 3-4 ดาวสนใจโครงการนี้มากที่สุด และ 80% ของกลุ่มที่สำรวจสนใจที่จะเข้าโครงการนี้
นายกสมาคมโรงแรมไทยให้ความเห็นว่า ช่วงเวลาที่เหลือของปียังเป็นช่วงที่ประเมินยากสำหรับธุรกิจโรงแรม ความหวังอยู่ที่จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะเข้ามา ซึ่งช่วงพฤศจิกายนและธันวาคมมีจำนวนที่เดินทางเข้ามาหลักหมื่น แต่การระบาดในช่วงปลายปีทำให้เดือนกุมภาพันธ์มีการเดินทางเข้ามาเพียง 5,000 คน ซึ่งต้องลุ้นว่าการระบาดรอบใหม่นี้จะกระทบมากน้อยแค่ไหน
“ปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 6.7 ล้านคน ส่วนปีนี้นั้นจะถึง 5 ล้านคนไหมยังต้องลุ้นอีกที โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงื่อนไขเรื่องการกักตัว ตราบใดที่ยังมีอยู่ นักท่องเที่ยวจะลังเลที่จะเดินทางเข้ามาอย่างแน่นอน”
อาจวืดเป้าคนเดินทาง 3.2 ล้าน เงินสะพัด 1.2 หมื่นล้านบาท
ด้าน ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ตอนนี้ได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งสงกรานต์จะคึกคักหรือไม่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งการเข้า-ออกจังหวัดแบบกักตัวหรือไม่กักตัว ตลอดจนการควบคุมพื้นที่เสี่ยง ซึ่งล้วนส่งผลต่อการจัดงาน เลื่อน หรือยกเลิกของนักท่องเที่ยวทั้งสิ้น
บรรยาย: ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
ภาพ: ฐานิส สุดโต / THE STANDARD
สำหรับการระบาดในช่วงนี้ ททท. ได้ประเมินสถานการณ์ไว้ 3 รูปแบบ คือ
1. คนยังเดินทางตามแผน เนื่องจากสงกรานต์ในปีที่แล้วไม่ได้มีการเดินทาง จึงเลือกเดินทางในปีนี้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เป็นการเดินทางไปพักผ่อน แต่เป็นการกลับบ้านไปเยี่ยมผู้หลักผู้ใหญ่และกราบขอพร บางส่วนก็ต้องเดินทางเนื่องจากจองโรงแรมไว้จากโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 2 ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 30 เมษายนนี้ ด้วยเงื่อนไขของโครงการไม่สามารถยกเลิกได้ จึงจำเป็นที่ต้องเดินทางอยู่
2. ยังมีการเดินทาง แต่อาจจะเปลี่ยนจุดหมายปลายทางมาเป็นเส้นทางที่ใกล้ขึ้น และเปลี่ยนการเดินทางจากเครื่องบินมาเป็นรถส่วนตัวแทน
3. หยุดอยู่บ้านไม่เดินทางเลย โดยเฉพาะกับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างผู้สูงอายุ ซึ่งบางส่วนอาจจะเลื่อนการเดินทางออกไปก่อน
“ททท. ประเมินว่า จะมีสัดส่วนของการเดินทางรูปแบบแรกประมาณ 30% อีก 50% เป็นแบบที่สอง และแบบสุดท้ายประมาณ 30%”
เดิม ททท. ประเมินไว้ว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีการเดินทาง 3.2 ล้านคนต่อครั้ง และเม็ดเงินสะพัด 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากมีคนที่หยุดหรือเลื่อนเดินทางไปประมาณ 20% เหมือนที่ประเมินไว้ ก็อาจทำให้ตัวเลขดังกล่าวไม่ถึงตามที่คาดไว้ได้
ช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการระบาดในช่วงปลายปี ทำให้อัตราการเข้าพักจากเดิมที่อยู่ประมาณ 35% ได้ลดลงเหลือ 10% ในช่วงเดือนมกราคม ส่วนเดือนเมษายนนั้นเดิมคาดว่าจะอยู่ที่ 31% แต่ตอนนี้อาจลดลงมาเหลือ 20%
อย่างไรก็ตาม ททท. ยังคงตัวเลขประมาณการณ์การท่องเที่ยวสำหรับปี 2564 ไว้ตามเดิมคือ มีเม็ดเงินจากการท่องเที่ยว 1.2 ล้านล้านบาท มาจากนักท่องเที่ยวคนไทย 8 แสนล้านบาท และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 3 แสนล้านบาท ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวนั้นคาดว่าเป็นภายในประเทศ 160 ล้านคนต่อครั้ง และชาวต่างชาติ 6.5 ล้านคนต่อครั้ง
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล