×

เฟซชิลด์ใช้สวมแทนหน้ากากผ้าได้หรือไม่? เปิดเบื้องลึกของไอเท็มใหม่ในยุคโควิด-19

10.06.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • เฟซชิลด์เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ส่วนบุคคลป้องกันการติดเชื้อ (Personal Protective Equipment: PPE) หลัก 4 ชิ้นของบุคลากรทางการแพทย์ และถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับแว่นครอบตา คือสวมเพื่อป้องกันสารคัดหลั่งกระเด็นเข้าตา 
  • จากการวิจัยประสิทธิภาพของเฟซชิลด์ด้วยเครื่องจำลองการไอและการหายใจเมื่อปี 2557 พบว่า ในช่วงแรกของการไอ เฟซชิลด์สามารถป้องกันการสูดหายใจและการเปื้อนของหน้ากากได้ 96% และ 97% ตามลำดับ แต่เมื่อเวลาผ่านไป 1-30 นาที ละอองจากการไอฟุ้งอยู่ภายในกล่องทดลอง ความสามารถในการป้องกันการสูดหายใจลดลงเหลือเพียง 23%
  • ในประเทศไทยยังไม่มีคำแนะนำให้สวมเฟซชิลด์ ‘เพียงชิ้นเดียว’ ในการป้องกันโควิด-19 เพราะเชื้อแพร่ผ่านทางละอองขนาดใหญ่ เช่น น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ ที่สูดหายใจเข้าไปเป็นหลัก และเฟซชิลด์ก็มีช่องว่างระหว่างให้ละอองเหล่านี้ผ่านเข้ามาถึงจมูกและปากของเราได้ 

ใครเคยนึกอยากถอดหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าออกบ้างครับ? 

 

เพราะเวลาสวมหน้ากากรู้สึกหายใจลำบาก ยิ่งเวลาพูดไปสักพักหน้ากากก็มักจะเลื่อนหลุดลงมาอยู่ด้านล่างจนต้องจับหน้ากากขึ้นไปตรงตำแหน่งเดิมอยู่หลายครั้ง (ทั้งที่ไม่ควรจับหน้ากากด้วยมือที่ไม่สะอาด หรือไม่ควรจับด้านหน้าของหน้ากากเลย เพราะเป็นส่วนที่สกปรกที่สุด) ส่วนคุณผู้หญิงที่แต่งหน้าก็มักถูกหน้ากากเช็ดเครื่องสำอางออก หรือรู้สึกไม่สวยเท่ากับตอนปกติ เลยนึกอยากถอดหน้ากากออกแล้วสวม ‘เฟซชิลด์’ แทน เหมือนกับดาราหลายคน

 

แต่ความจริงแล้วเฟซชิลด์สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้หรือไม่?

 

เฟซชิลด์คือ 1 ใน 4 อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ

หลายคนน่าจะเพิ่งรู้จักกับเฟซชิลด์ (Face Shield) เป็นครั้งแรกตอนที่มีกระแสการทำเฟซชิลด์บริจาคให้กับโรงพยาบาลช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2563 (จะว่าไปแล้วเฟซชิลด์ก็คล้ายกับ ‘หน้ากากกันสเปรย์’ เวลาจัดแต่งทรงผมอยู่เหมือนกัน ส่วน ‘หมวกชาวประมง’ ที่มีพลาสติกใสยื่นออกมาคลุมด้านหน้า น่าจะเริ่มวางขายก่อนหน้านั้นราวเดือนกุมภาพันธ์) เพราะเฟซชิลด์เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ส่วนบุคคลป้องกันการติดเชื้อ (Personal Protective Equipment: PPE) หลัก 4 ชิ้นของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งประกอบด้วย

 

  1. หน้ากากอนามัย หรือ N-95
  2. แว่นครอบตาหรือเฟซชิลด์
  3. กาวน์
  4. ถุงมือ

 

แต่จะสังเกตว่าเฟซชิลด์ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับแว่นครอบตา คือสวมเพื่อป้องกันสารคัดหลั่งกระเด็นเข้าตา แต่เฟซชิลด์สามารถคลุมใบหน้าได้มากกว่า โดยมาตรฐานของเฟซชิลด์คือ ด้านยาวจะต้องคลุมตั้งแต่หน้าผากลงมาจนถึงใต้คาง และด้านกว้างจะต้องคลุมทั้ง 2 ข้างของใบหน้า ตรงกันข้ามกับหน้ากากอนามัย หรือ N-95 ซึ่งสวมเพื่อปกป้องจมูกและปาก โดยหน้ากากอนามัยใช้ป้องกันละอองขนาดใหญ่ เช่น น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ ส่วนหน้ากากชนิด N-95 ใช้ป้องกันละอองขนาดเล็ก ซึ่งทั้งคู่จะต้องมีคุณสมบัติในการป้องกันการซึมผ่านของของเหลวด้วย

 

การสวม PPE ที่เหมาะสมของบุคลากรทางการแพทย์ (อ้างอิง: CDC)

 

นอกจากนี้ขณะสวมยังไม่ควรมีช่องว่างระหว่างหน้ากากกับใบหน้า เช่น สำหรับหน้ากากอนามัย อาจใช้เทปกาวปิดตรงสันจมูก (สำหรับคนสวมแว่นตา ถ้าหายใจแล้วเกิดฝ้าที่แว่นก็ใช้วิธีเดียวกันนี้ได้) การกดลวดบริเวณสันจมูกด้วยมือทั้งสองข้าง และสำหรับหน้ากากชนิด N-95 จะต้องทดสอบการแนบสนิท (Fit Check) หลังสวมหน้ากากแล้วทุกครั้ง ด้วยการใช้มือโอบรอบหน้ากากแล้วหายใจออกแรงกว่าปกติว่าไม่มีการรั่วของลมหายใจ เพราะไม่อย่างนั้นหน้ากากก็จะไม่สามารถป้องกันได้ 95% อย่างที่ต้องการ

 

ดังนั้นเราจึงเห็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องเข้าใกล้ผู้ป่วยในระยะ 1 เมตรสวมทั้งหน้ากากอนามัย + เฟซชิลด์ = 2 ชิ้นพร้อมกัน โดยเฉพาะตอนเก็บตัวอย่างจากโพรงหลังจมูก ดูดเสมหะ หรือใส่ท่อช่วยหายใจ (เดิมเราก็ไม่เคยเห็นแพทย์/พยาบาลสวมเฟซชิลด์กันเท่าไรนัก ทั้งที่เชื้อก่อโรคทางเดินหายใจอื่นก็สามารถติดต่อผ่านละอองแบบเดียวกัน ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะโรงพยาบาลไม่ได้จัดเตรียมไว้ หรือเพราะหลายคนสวมแว่นสายตา แต่พอมีการระบาดของโควิด-19 ต่างก็เปลี่ยนสวมกันเกือบทุกคนจนน่าจะเป็น ‘ชีวิตวิถีใหม่’ หรือ New Normal ในโรงพยาบาลเลยก็ว่าได้)

 

เฟซชิลด์ไม่สามารถใช้แทนหน้ากากได้

คำแนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าก่อนออกจากบ้านทุกครั้งเป็นการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ทั้ง ‘ขาเข้า’ และ ‘ขาออก’ กล่าวคือ ถ้าเราเป็นคนปกติ (ยังไม่ติดเชื้อ) การสวมหน้ากากจะป้องกันไม่เราสูดละอองน้ำมูกน้ำลายที่ผู้ป่วยไอจามออกมาเข้าไปในระบบทางเดินหายใจ 

 

แต่ถ้าเราเป็นผู้ติดเชื้อที่ยังไม่แสดงอาการ (ถ้ามีอาการแล้ว ก็ไม่ควรออกไปในที่สาธารณะ) การสวมหน้ากากจะป้องกันไม่ให้เราแพร่เชื้อต่อ ตอนพูดที่อาจมีน้ำลายกระเด็น แต่ก็จะถูกหน้ากากดักไว้เหมือนเวลาไอจามปิดปากด้วยผ้าเช็ดหน้าหรือแขนเสื้อ

 

ในขณะที่การสวมเฟซชิลด์ถึงแม้จะคลุมทั้งใบหน้า แต่ก็ไม่แนบชิดเหมือนหน้ากาก ทำให้ผู้สวมยังสามารถหายใจเอาละอองสารคัดหลั่งเข้าไปได้ 

 

จากการวิจัยประสิทธิภาพของเฟซชิลด์ด้วยเครื่องจำลองการไอและการหายใจเมื่อปี 2557 พบว่า ในช่วงแรกของการไอ เฟซชิลด์สามารถป้องกันการสูดหายใจและการเปื้อนของหน้ากากได้ 96% และ 97% ตามลำดับ แต่เมื่อเวลาผ่านไป 1-30 นาทีละอองจากการไอฟุ้งอยู่ภายในกล่องทดลอง (เปรียบเสมือนการนั่งพูดคุยในรถหรือห้องที่อากาศถ่ายเทได้น้อย) ความสามารถในการป้องกันการสูดหายใจลดลงเหลือเพียง 23%

 

ดังนั้นเฟซชิลด์จึงไม่สามารถใช้แทนหน้ากากได้ แต่อาจใช้เป็นอุปกรณ์เสริมเหมือนบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล หรืออย่างที่ ศบค. แนะนำพนักงานในห้างสรรพสินค้าที่ต้องใกล้ชิดกับลูกค้าควรสวมเฟซชิลด์ร่วมด้วย (ส่วนคนทั่วไปไม่จำเป็นต้องใช้ เพราะสามารถเว้นระยะห่างจากผู้อื่นได้) 

 

และถึงแม้การสวมเฟซชิลด์จะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้สวมยกมือขึ้นมาสัมผัสใบหน้า เช่น ขยี้ตา แคะจมูก แต่ช่องทางนี้ไม่ใช่ช่องทางหลักในการติดเชื้อ การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าจึงสามารถป้องกันการติดเชื้อได้มากกว่า

 

อย่างไรก็ตาม หากโรงพยาบาลขาดแคลนหน้ากากอนามัย ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ก็เสนอทางเลือกว่า อย่างน้อยควรสวมเฟซชิลด์ หรือใช้หน้ากากผ้าแล้วสวมเฟซชิลด์ป้องกันอีกชั้นหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้เฟซชิลด์ก็อาจใช้ ‘ลดความเสี่ยง’ ในการติดเชื้อได้ 

 

ฉะนั้นผู้ที่ถอดหน้ากากออกแล้วสวมเฟซชิลด์แทนก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่ยังเหลืออยู่ เปรียบเทียบกับผู้ที่ขี่บิ๊กไบค์ด้วยความเร็ว มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ แต่เขาก็สวมหมวกกันน็อกเพื่อลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุรุนแรง เป็นต้น

 

การสวมเฟซชิลด์ในสิงคโปร์

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 สิงคโปร์เปิดเมืองระยะที่ 1 ไล่เลี่ยกับการผ่อนปรนระยะที่ 3 ของประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้านเหมือนบ้านเรา แต่ในประกาศยังระบุด้วยว่า มีบางสถานการณ์ที่ไม่อาจสวมหน้ากากได้ จึงอนุญาตให้ประชาชน 3 กลุ่มต่อไปนี้สวมเฟซชิลด์แทน

 

  1. เด็กอายุน้อยกว่า 12 ปีที่มีปัญหาการสวมหรือไม่สามารถสวมหน้ากากเป็นเวลานาน
  2. ผู้มีโรคประจำตัวที่มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจหรือปัญหาสุขภาพอื่นจากการสวมหน้ากากเป็นเวลานาน
  3. ผู้สอนในห้องเรียนหรือห้องบรรยาย ซึ่งยืนประจำอยู่จุดเดียวและสามารถเว้นระยะห่างจากผู้อื่น

 

โดยเฟซชิลด์จะต้องมีคุณสมบัติตามที่ผมกล่าวไปในหัวข้อแรก และมีข้อยกเว้นการสวมหน้ากากสำหรับการถ่ายทำรายการโทรทัศน์ที่มีการเว้นระยะห่างและการดูแลความปลอดภัยตลอดการถ่ายทำ นับว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่ยืดหยุ่นกับมาตรการสวมหน้ากาก 

 

เราจึงต้องติดตามต่อว่ามาตรการนี้จะเป็นผลดี คืออย่างน้อยเด็กก็สามารถสวมอุปกรณ์ป้องกันได้ตลอดและไม่หยิบจับหน้ากากบ่อย (ทั้งนี้เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปีไม่ควรสวมหน้ากากอยู่แล้ว) หรือเป็นผลเสียทำให้เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในโรงเรียนกันแน่

 

ภาพที่ 2 คำแนะนำการสวมเฟซชิลด์ในสิงคโปร์ (อ้างอิง: CNA)

 

โดยสรุปในประเทศไทยยังไม่มีคำแนะนำให้สวมเฟซชิลด์ ‘เพียงชิ้นเดียว’ ในการป้องกันโควิด-19 เพราะเชื้อแพร่ผ่านทางละอองขนาดใหญ่ เช่น น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ ที่สูดหายใจเข้าไปเป็นหลัก และเฟซชิลด์ก็มีช่องว่างให้ละอองเหล่านี้ผ่านเข้ามาถึงจมูกและปากของเราได้ 

 

การป้องกันตัวที่เหมาะสมคือการสวมหน้ากาก หากไม่ได้สวม เช่น ตอนรับประทานอาหาร ก็ควรพูดให้น้อยที่สุด ร่วมกับการล้างมือบ่อยๆ และการเว้นระยะห่างจากผู้อื่น 1-2 เมตร ทั้งนี้เฟซชิลด์สามารถป้องกันไม่ให้ละอองกระเด็นโดนใบหน้าโดยตรงได้มากกว่า 90% จึงอาจใช้เป็นอุปกรณ์เสริมได้

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X