×

ชัชชาติยืนยัน ผังเมืองรวมฯ ปรับปรุงใหม่ไม่เอื้อนายทุน ขออย่าสร้างวาทกรรมเกลียดชัง ฝาก สส. ช่วยดูข้อใช้งานใน พ.ร.บ. ปี 62

โดย THE STANDARD TEAM
10.01.2024
  • LOADING...

วันนี้ (10 มกราคม) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีการเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนต่อร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ปรับปรุงครั้งที่ 4 ซึ่งภายหลังการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2567 มีประชาชนบางส่วนมองว่า ผังเมืองรวมฯ ดังกล่าวเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มนายทุน

 

ชัชชาติกล่าวว่า เราพูดมาตลอดว่าเรื่องผังเมืองเป็นเรื่องที่สำคัญ เป็นเรื่องยากและมีความละเอียดอ่อน การร่างผังเมืองรวมฯ ต้องใช้นักผังเมืองชำนาญการเป็นผู้ร่างเพื่อความเหมาะสมถูกต้อง 

 

สำหรับประเด็นที่สังคมตั้งคำถามว่า ผังเมืองรวมฯ ปรับปรุงใหม่นี้เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มนายทุนหรือไม่ ชัชชาติกล่าวว่า อย่าใช้คำนี้ มันเป็นการสร้างวาทกรรมที่ทำให้เกิดความแตกแยก ขอให้เราคุยกันด้วยเหตุผล เพราะพร้อมที่จะฟังเหตุผลทุกอย่าง

 

ทั้งนี้ ผังเมืองที่ใช้ในปัจจุบันเป็นผังเมืองที่ใช้มาอย่างต่อเนื่อง

หากสังเกตส่วนของพื้นที่สีแดงหรือพื้นที่พาณิชยกรรม มีอยู่เป็นบางพื้นที่กระจายตัว ส่วนนี้เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่ กทม. ในยุคนี้พยายามจัดสรรให้ดีขึ้น ทางนักผังเมืองเองก็ต้องมีคำอธิบายไว้ให้กับประชาชนว่าทำไมถึงมี การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ทำเพื่ออะไร

 

“ขออย่าพูดว่าผังเมืองทำเพื่อนายทุน เพราะคนที่มีบุญคุณกับเราจริงๆ คือประชาชน ไม่ใช่นายทุน เรายืนอยู่ตรงนี้ได้เพราะประชาชนเลือกมา เราอยากเห็นประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” ชัชชาติกล่าว

 

ชัชชาติกล่าวต่อว่า การพิจารณาพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งจากทั้งผังเมืองไม่ได้สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งเมือง เช่นเดียวกับการแก้ไขพื้นที่ใดเพียงพื้นที่เดียวก็ไม่ได้แก้ปัญหาให้คนทั้งเมือง เราต้องดูในภาพรวมให้สอดคล้องไปกับหลักนโยบายที่ตั้งไว้ คือเราอยากเห็นกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้

 

ชีวิตคนเราคืออยู่ที่บ้าน เดินทาง และทำงาน เมื่อใดก็ตามที่บ้านและที่ทำงานอยู่ห่างกัน คุณภาพชีวิตก็จะยิ่งแย่ การที่งานกระจุกตัวอยู่พื้นที่เดียวในกรุงเทพฯ ก็ทำให้เด็กรุ่นใหม่ประสบปัญหาชีวิต เพราะฉะนั้นต้องมองว่าทำอย่างไรให้มีบ้านอยู่ใกล้ที่ทำงานมากขึ้น หรือทำให้งานอยู่ใกล้ที่ที่พวกเขาอาศัย

 

จากที่สังเกตเห็นในผังเมือง การที่มีพื้นที่พาณิชยกรรมอยู่ตามโซนพื้นที่เขตหนองจอก เขตมีนบุรี เพราะ กทม. หวังว่าจะมีการทำออฟฟิศอยู่ใกล้บ้าน หรือการที่เพิ่มพื้นที่สีส้ม (พื้นที่อาศัยขนาดกลาง) ในโซนถนนประดิษฐ์มนูธรรมก็เพื่อให้คนสามารถอยู่ใกล้งานได้มากขึ้น ไม่ต้องหลุดออกไปนอกขอบกรุงเทพฯ

 

ชัชชาติกล่าวต่อว่า อยากให้เริ่มต้นด้วยการพูดคุยกัน รับฟังปัญหากัน ไม่ใช่เริ่มต้นด้วยการตั้งธงว่าการสร้างผังเมืองแบบนี้เป็นการเอื้อให้นายทุน เพราะมันจะทำให้เกิดความเกลียดชังขัดแย้ง เรายินดีที่จะรับฟัง เริ่มจากการขยายระยะเวลาให้ประชาชนได้แสดงความเห็นเข้ามาถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 และจะพยายามเพิ่มเติมช่องทางให้มากขึ้น

 

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การผังเมือง พ.ศ. 2562 เป็น พ.ร.บ. ที่มีขั้นตอนยาว จากทั้งหมด 18 ขั้นตอน ตอนนี้เราอยู่กันที่ขั้นตอนที่ 5 เพราะฉะนั้น กทม. ก็ยังเปิดรับฟังความเห็นเพิ่ม

 

กรณีที่ในผังเมืองรวมฯ ปรับปรุงใหม่ มีการเตรียมเขตทางเพิ่มเติมขึ้น เพราะต้องการให้มีระยะห่างจากถนนกับอาคารมากขึ้น ทำให้เมืองโล่งขึ้น คนอาจจะเข้าใจว่าเป็นการเอื้อประโยชน์นายทุนตัดถนน แต่ที่จริงแล้วเป็นการศึกษาจากต่างประเทศว่าเมืองควรมีฟุตปาธกว้างมากขึ้น มีระยะเว้นมากขึ้น คนจะสร้างตึกต้องถอยจากถนนที่มีอยู่ 

 

ชัชชาติกล่าวยอมรับว่า พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2562 ที่ใช้ปัจจุบันยังมีปัญหาอยู่มาก ซึ่งถ้าร่างผังเมืองรวมฯ ตัวนี้ทำประชาพิจารณ์เสร็จ ส่งต่อให้คณะกรรมการผังเมืองจังหวัด ที่ตามปกติแล้วผู้ว่าฯ จะต้องเป็นประธานเอง แต่ยกเว้นที่กรุงเทพฯ ที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน 

 

เมื่อทุกอย่างอนุมัติและให้ท้องถิ่นออกข้อบัญญัติเพื่อนำผังเมืองนี้ไปบังคับใช้แล้ว ถ้าถึงขั้นตอนเข้าสภา กทม. และมีการเปลี่ยนแปลงในสภา ส่วนตัวกังวลว่าจะต้องย้อนกลับไปกระบวนการทำประชาพิจารณ์ใหม่อีกหรือไม่ นี่เป็นข้อกังวลที่ต้องฝากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ในรัฐสภาช่วยตรวจสอบว่า พ.ร.บ. ตัวนี้ยังมีจุดที่ต้องปรับแก้ในการใช้งาน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising