วานนี้ (14 พฤศจิกายน) กิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ครั้งที่ 1/2566 ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนัดแรกเห็นชอบแนวทางการแก้ปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยจะคำนวณภาระหนี้ของลูกหนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบันใหม่ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยการแก้ไขปัญหาหนี้กลุ่ม กยศ. จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับการช่วยเหลือ และจากนี้จะขยายความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้กลุ่มอื่นๆ ต่อไปให้ครอบคลุมทั้งระบบ
ขณะที่ ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตามกฎหมายฉบับใหม่จะมีการคำนวณภาระหนี้ของลูกหนี้ กยศ. ใหม่ โดยปรับลำดับการตัดยอดหนี้ จากเดิมเมื่อลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้มาแล้วจะตัดยอดดอกเบี้ยผิดนัดชำระก่อนดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นใหม่และเงินต้น แต่การคำนวณใหม่จะปรับลำดับเริ่มจากตัดเงินต้นก่อน แล้วจากนั้นจึงตัดดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นใหม่และดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ทำให้เงินต้นลดลงเร็วมากกว่าเดิม ซึ่งจะครอบคลุมลูกหนี้ประมาณ 3.5 ล้านรายที่ยังมีสถานะเป็นลูกหนี้ของกองทุน กยศ. หลังจาก พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 โดยการคำนวณจะเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่วันแรกที่ได้ชำระหนี้ให้กับ กยศ.
ลวรณกล่าวอีกว่า กยศ. จะไปจัดทำระบบการคำนวณให้เสร็จสิ้นภายใน 5 เดือนนับจากนี้ แต่ที่ประชุมมองว่าเป็นเวลาที่นานเกินไป จึงขอให้มีการทำระบบขึ้นมาแบบง่าย เพื่อเร่งคำนวณยอดหนี้ให้ลูกหนี้กลุ่มที่มีความเดือดร้อนและมีความจำเป็นเร่งด่วนก่อน 2 กลุ่ม ดังนี้
- ลูกหนี้ที่ถูกฟ้องร้องและอยู่ในชั้นของกรมบังคับคดี จำนวน 46,000 คน จะเริ่มทำให้เสร็จในเดือนธันวาคม 2566
- ลูกหนี้ที่จะหมดอายุความในเดือนมีนาคม 2567 จำนวน 40,000 คน เพื่อปรับโครงสร้างหนี้กับ กยศ. ใหม่
ขณะที่ ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า ลูกหนี้ทุกคนจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย ซึ่งมีสถานะลูกหนี้ตั้งแต่ พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ ขณะที่ผู้ค้ำประกันเดิมที่มีอยู่เดิม เมื่อลูกหนี้ได้ปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้วจะหลุดพ้นจากภาระค้ำประกันทันที โดยเริ่มต้นนำร่องลูกหนี้ในกรุงเทพฯ ก่อน และขยายไปยังภูมิภาคต่อไป
ลูกหนี้ กยศ. มีจำนวนเท่าไร
จากสถิติข้อมูล กยศ. ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 เผยว่า ปัจจุบันมีผู้กู้ยืมเงินทั้งสิ้น 6,739,085 คน สามารถแบ่งออกได้ดังนี้
- อยู่ในระหว่างการชำระหนี้ 3,537,022 คน
- อยู่ในช่วงปลอดหนี้ 1,299,490 คน
- ชำระหนี้เสร็จสิ้น 1,830,978 คน
- เสียชีวิต / ทุพพลภาพ 71,595 คน
ก่อนหน้านี้ กยศ. ได้เปิดเผยข้อมูลสถิติการชำระหนี้ของสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาและระดับอาชีวศึกษาทั่วประเทศที่มีผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุน พบว่ามหาวิทยาลัยพะเยามีอัตราการชำระหนี้ดีที่สุด ส่วนสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษา พบว่า วิทยาลัยเทคนิคลำปางมีอัตราการชำระหนี้ดีที่สุด
นายกฯ เตรียมแถลงแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบ
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยเห็นชอบแนวทางแก้ปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งจะคำนวณภาระหนี้ของลูกหนี้ที่ยังชำระไม่หมดให้กลับไปคำนวณเงินต้น และลูกหนี้ที่ชำระมากกว่า 150% สามารถหยุดจ่ายหนี้ได้ ว่านี่เป็นเรื่องนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินโดยรวมของรัฐบาลนี้ ทั้งหนี้ กยศ. หนี้ครู หนี้นอกระบบ และ SMEs ที่ติดมาตรา 21 เป็นเรื่องที่ตนไม่อยากจะพูดเรื่องเดียว แต่ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนหรือประมาณ 2 สัปดาห์ต่อจากนี้ ตนจะมีแถลงข่าวใหญ่ถึงมาตรการแก้ไขหนี้ทั้งหมด ไม่ใช่เพียงแค่ กยศ. อย่างเดียว แต่จะรวมทุกภาคส่วนเท่าที่จะสามารถทำได้
อ้างอิง: