แผนปฏิรูปรถเมล์ที่หลายคนจำภาพได้คือการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์และการเปลี่ยนชื่อสายรถใหม่เป็นตัวเลขและภาษาอังกฤษ ซึ่งปรากฏว่าในช่วงการทดลอง 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคมปีที่ผ่านมาได้รับเสียงวิจารณ์อย่างหนักจนต้องประกาศยกเลิกไป
อันที่จริงนั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนการปฏิรูปรถเมล์ แต่มีอีกแผนการปฏิรูปที่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงนั่นคือ การยกเลิกระบบผูกขาดการเดินรถเมล์โดย ขสมก.
โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเดิมที่ให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นผู้เดินรถรายเดียว ทำให้ ขสมก. มีสถานะเป็นผู้ประกอบการเดินรถรายหนึ่ง ส่วนรถร่วม ขสมก. เดิม จะต้องขอใบอนุญาตประกอบการเดินรถกับกรมการขนส่งทางบกโดยตรง
หมายความว่าจากนี้ไปหากมีการเปิดเส้นทางเดินรถเมล์สายใหม่ กรมขนส่งทางบก จะเป็นเจ้าภาพในการกำหนดมาตรฐานและคัดเลือกผู้ประกอบการเดินรถเมล์ โดย ขสมก. มีสถานะเป็นเพียงผู้ประกอบการรายหนึ่งที่มีสิทธิมายื่นคำขอเดินรถ ทั้งนี้เพื่อการแข่งขันเชิงคุณภาพ
เป็นที่มาของรถเมล์ 2 เส้นทางนำร่องนี้ ซึ่งกรมการขนส่งทางบก ได้เปิดให้ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมยื่นคำขอประกอบการ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2560
เส้นทางที่ 1 คือ เส้นทางสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์-โรงพยาบาลรามาธิบดี (ทางด่วน) มีบริษัท มารัตน์ ทรานสปอร์ต จำกัด เป็นผู้ได้รับอนุญาตประกอบการ
ให้บริการในเส้นทางสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ เคหะบางพลีเมืองใหม่ เมกาบางนา ห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ หัวหมาก พระราม 9 อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และโรงพยาบาลรามาธิบดี รวมระยะทาง 61 กิโลเมตร
ใช้รถโดยสารปรับอากาศขนาด 31 ที่นั่ง และมีที่ยืนสำหรับผู้โดยสาร มีระบบรองรับผู้พิการ และสามารถรองรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และบัตรแรบบิทของรถไฟฟ้าบีทีเอสได้
โดยจำนวนรถมีทั้งหมด 16 คัน เดินรถขั้นต่ำวันละ 48 เที่ยวต่อวัน อัตราค่าโดยสารเป็นไปตามระยะทาง เริ่มต้นที่ 13-25 บาท ซึ่งจะเปิดให้บริการฟรี 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 16-20 มกราคม 2561 และพร้อมให้บริการเต็มรูปแบบต่อเนื่องต่อไป
เส้นทางที่ 2 คือ เส้นทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ศาลายา-สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต (ทางด่วน) มีบริษัท ชัยวิเศษ แทร์นสปอท จำกัด เป็นผู้ได้รับอนุญาต
ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการเดินรถ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งจะใช้รถโดยสารปรับอากาศมาตรฐาน 2 (ค) มีที่นั่งผู้โดยสาร 21-30 ที่นั่ง และไม่มีที่ยืน โดยมีจำนวนรถทั้งหมด 18 คัน เดินรถขั้นต่ำวันละ 48 เที่ยว วิ่งระยะทาง 40 กิโลเมตร อัตราค่าโดยสาร 40 บาทตลอดสาย มีแอปพลิเคชันจองล่วงหน้าได้ โดยจะให้บริการในเส้นทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ศาลายา มหาวิทยาลัยมหิดล (ศาลายา) สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (บรมราชชนนี) ถนนราชพฤกษ์ สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต โดยจะเปิดให้บริการภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ พร้อมให้บริการฟรีใน 5 วันแรกเช่นเดียวกัน
สำหรับมาตรฐานความปลอดภัยภายใต้การควบคุมจากกรมการขนส่งทางบกนั้น มีการติดตามการเดินรถและพฤติกรรมพนักงานขับรถผ่านระบบ GPS Tracking ลักษณะ On-line แบบ Realtime และมีมาตรการบังคับใช้กฎหมายทั้งผู้ประกอบการและพนักงาน มีระบบติดตามและประเมินคุณภาพของผู้ประกอบการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด หลังจากเปิดให้บริการแล้ว กรมการขนส่งทางบกจะเปิดให้ประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการให้บริการรถโดยสารประจำทางในเส้นทางนำร่องดังกล่าว ทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก ‘การปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ กทม.’ หรือ www.facebook.com/BusRerouteBKK/ เพื่อนำข้อเสนอแนะ ข้อแนะนำมาประเมินและปรับปรุงการปฏิรูปเส้นทางรถโดยสารประจำทางให้สอดคล้อง กับความต้องการของประชาชนซึ่งเป็นผู้ใช้บริการต่อไป