×

Never Look Back! อย่าหันกลับมาทีมชาติไทย ถ้าคิดจะไปไกลกว่าอาเซียน

06.01.2025
  • LOADING...
ทีมชาติไทย

หลายปีมาแล้วผมเคยมีโอกาสไปทำข่าวที่ฮ่องกง และผ่านร้านค้าของทีมสโมสรฟุตบอลท้องถิ่นทีมหนึ่ง จึงลองแวะชมเพื่อเปิดหูเปิดตาสักหน่อย

 

ในร้านค้านั้นมีสินค้าที่ระลึกอยู่หลายอย่าง แต่มีหนึ่งอย่างที่ผมประทับใจมากเป็นพิเศษครับ นั่นคือเสื้อยืดสีแดงสดลายพื้นธรรมดาๆ เลย ด้านหนึ่งสกรีนสัญลักษณ์ของสโมสร แต่ที่โดดเด่นสะดุดตากว่าคือชายเสื้อด้านหลังที่สกรีนข้อความสั้นๆ ไว้

 

“Never Look Back”

 

อย่าหันหลังกลับมา

 

ผมคิดถึงข้อความนี้ขึ้นมาหลังจากที่เห็นความพ่ายแพ้ของทีมชาติไทยต่อทีมชาติเวียดนามในสนามราชมังคลากีฬาสถานของเราเอง

 

ในวันที่อาจจะไม่น่าจดจำเท่าไรนัก

 

“มีตั๋วยังพี่”

 

ผมได้แต่ยิ้มบางๆ กลับไปหาต้นเสียงของพ่อค้าแม่ขายที่พยายามส่งเสียงเรียกหาลูกค้า ยืนชูตั๋วกันหน้าสลอนตั้งแต่ประตูทางเข้าการกีฬาแห่งประเทศไทยไปจนถึงด้านหน้าจุดตรวจความปลอดภัยก่อนเข้าสนามราชมังคลากีฬาสถาน ของนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลรายการเอเอฟเอฟ อาเซียน มิตซูบิชิ อิเล็คทริค คัพ หรือเรียกกันคุ้นปากกว่าว่า ‘อาเซียนคัพ’

 

ไม่ต่างจากอีกหลายคน ผมไม่ได้ชื่นชอบคนเหล่านี้สักเท่าไรครับ เพราะการกักตุนบัตรเหล่านี้ทำให้แฟนฟุตบอลจำนวนมากมายที่อยากจะเข้ามาดูเกมในสนามจริงๆ ถูกลดทอนโอกาสในการซื้อตั๋วตามราคาหน้าบัตร

 

สนนราคานั้นถูกตีบวกไปตามใจชอบ ขึ้นอยู่กับการชั่งน้ำหนักของพ่อค้าแม่ขาย เวลาที่เหลือก่อนการแข่งขันจะเริ่ม และวาทศิลป์ในการเจรจาต่อรอง

 

สิ่งที่น่าเศร้าคือส่วนใหญ่พ่อค้าแม่ขายเหล่านี้มักจะเป็นผู้กำชัยชนะ

 

ด้วยความที่มันเป็นเกมนัดชิงชนะเลิศ และเป็นการพบกับคู่ปรับตลอดกาล อีกทั้งผลงานของนักเตะ ‘ช้างศึก’ ชุดที่ลงแข่งขันครั้งนี้ถือว่าทำได้ดี จุดกระแสได้มากพอสมควร ตัวแปรเหตุปัจจัยต่างๆ ทำให้เกิดความต้องการที่อยากจะมาเชียร์ด้วยตาเนื้อในสนามพุ่งกระฉูด

 

สำหรับผมเองโชคดีได้รับความอนุเคราะห์จากเพื่อนรักชวนไปนั่งเชียร์ฟุตบอลทีมชาติไทยด้วยกันในสนาม (แลกกันด้วยก๋วยเตี๋ยว 1 ชามถ้วน) จึงได้เป็น 1 ในผู้ชม 46,000 คนที่เป็นประจักษ์พยานของเกมที่ต้องบอกว่ามีครบทุกรสชาติของชีวิต

 

ทั้งรักทั้งชัง

 

ทั้งหวานและขมขื่น

 

 

อย่างที่เราต่างรู้ดีครับ ไทยแพ้ในเกมนี้ไป 2-3 นับผลรวม 2 นัดกับเกมก่อนในบ้านของนักเตะสกุลเหงียนด้วยแล้ว พวกเขาชนะด้วยสกอร์รวม 5-3 ได้แชมป์อาเซียนคัพสมัยนี้ไปครอง เป็นแชมป์สมัยที่ 3 ในประวัติศาสตร์

 

ในเกมที่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่ภาษาวัยรุ่นต้องบอกว่า ‘หนึ่งวันพันเรื่อง’

 

ไม่ว่าจะอาการบาดเจ็บของ เหงียน ซวน ซอน ดาวยิงตัวเก่งผู้โชคร้ายที่ประสบอุบัติเหตุในจังหวะการเล่นถึงขั้นขาหัก (ขออวยพรให้หายและฟื้นตัวกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง) ไปจนถึงประตูที่เป็นคำถามถึง ‘สปิริตเกมกีฬา’ ของ สุภโชค สารชาติ ที่ผู้เล่นทีมชาติไทยเองก็มีคำถามอยากจะถามกลับเหมือนกันในเรื่องนี้ว่า สปิริตที่ถามหากันมันมีอยู่จริงใช่ไหม

 

ไปจนถึงใบแดงของ วีระเทพ ป้อมพันธุ์ ที่เป็นจุดเปลี่ยนของเกม ทำให้ไทยเป็นรองในช่วงเวลาที่เหลือ แต่ก็มีคำถามกลับไปอีกถึงการทำหน้าที่ของผู้ตัดสินชาวเกาหลีว่า ที่ตัดสินอยู่นั้นอยู่บนมาตรฐานการตัดสินที่ดีจริงแล้วใช่ไหม

 

ประตูที่ไม่ควรเกิดของสุภโชค และชัยชนะเหนือไทย 2 นัดติดต่อกัน โดยเฉพาะการมาชนะถึงถิ่นราชมังคลากีฬาสถาน ทำให้ชาวเวียดนามได้ฉลองอย่างมีความสุขทั้งประเทศ

 

ว่ากันตามเนื้อผ้าและหน้าเสื่อ ทีมชาติเวียดนามก็ทำได้ดีพอจะเป็นแชมป์เหมือนกัน ด้วยสภาพร่างกายของผู้เล่นที่ดูสดกว่า การวางแผนการเล่นที่ชัดเจน ซึ่งมาจากการตระเตรียมทีมอย่างดีถึง 2 เดือนเต็มก่อนการแข่งขัน

 

และที่สำคัญที่สุดคือความกระหายในชัยชนะที่มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

 

คนสายตายาวอย่างผมมองจากบนอัฒจันทร์ก็รู้ว่า เวียดนามพร้อมทำทุกอย่างเท่าที่กติกาการแข่งขันจะเอื้อ เพื่อเอาแชมป์กลับฮานอยให้ได้

 

เล่นหนัก, ดึง, เหนี่ยวรั้ง, ผลัก, ชาร์จเข้าบอลทั้งตัวที่ไปไกลกว่าจังหวะ 50-50 ไปจนถึงแท็กติกการถ่วงเวลา (Time Wasting) ที่งัดมุกคลาสสิกมาใช้กันหมด เดี๋ยวล้ม เดี๋ยวเมื่อย เดี๋ยวตะคริวขึ้น โดนปะทะ แม้จะดูแล้วแค่ถากๆ ไม่น่าเป็นอะไรมาก แต่ก็เจ็บโอดโอยจนรู้สึกเป็นห่วง

 

ไม่ใช่แค่นักเตะไทย แต่แฟนบอลในสนามเองก็คงพูดในใจพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมายว่า “กูว่าแล้ว”

 

แต่นั่นเป็น Mentality ในแบบของเขาครับ และก็เป็นแบบนี้มานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเป็น

 

พื้นเพภูมิหลังความเป็นมาของประเทศมีส่วนในการกำหนดบุคลิกของนักกีฬา ซึ่งนั่นทำให้เมื่อลงสนามแล้ว นักเตะเวียดนามเล่นแบบนั้นและแสดงออกในแบบนั้น

 

เพราะถ้วยใบนี้มีความหมายมากจริงๆ สำหรับพวกเขา

 

 

คำถามคือ แล้วสำหรับคนไทย ตกลงแล้วแชมป์นี้มันมีความหมายแค่ไหน?

 

หนึ่งในวลีที่แฟนบอลชาวไทยพูดกันมากในช่วงหลายปีหลังคือ “ก้าวข้ามอาเซียน” 

 

คนแรกที่พูดคำนี้คือ พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

โดยเจตนาแล้วคำว่าก้าวข้ามอาเซียนนั้นชัดเจนคืออยากเห็นฟุตบอลทีมชาติไทยยกระดับขึ้นไปสู้กับทีมระดับสูงของเอเชียให้ได้ โดยมีเป้าหมายสูงสุดที่เป็นเหมือนดวงจันทร์ในดวงใจอย่างการไปฟุตบอลโลก

 

เพียงแต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมาก็มีการพูดกันว่า ดูเหมือนเดินไปเดินมาเราจะวนกลับมาหาที่เก่า บ้างก็ว่าไปข้างหน้าหนึ่งก้าวถอยหลังสองก้าว ตัดใจไม่ขาดจากรายการฟุตบอลในระดับภูมิภาคของเราสักที ไม่ว่าจะเป็นซีเกมส์หรืออาเซียนคัพ

 

อย่างไรก็ดี สำหรับอาเซียนคัพหนนี้เป็นครั้งแรกที่มีการใช้ผู้เล่นหน้าใหม่หลายคน โดยมีผู้เล่นในระดับทีมชุดใหญ่ประคองไม่กี่คน

 

จริงอยู่ที่เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรื่องของตารางการแข่งขัน ซึ่งไม่ได้อยู่ในปฏิทิน International Calendar ของ FIFA (หรือที่คนไทยเรียกกันติดปากว่า ‘ฟีฟ่าเดย์’) ทำให้สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ไม่มีสิทธิ์บังคับเรียกผู้เล่นจากสโมสรมารับใช้ทีมชาติได้ และโปรแกรมการแข่งขันลีกของไทยก็ยังดำเนินอยู่

 

แต่อีกส่วนผมเชื่อว่า โค้ชอย่าง มาซาทาดะ อิชิอิ เองก็ใจใหญ่พอที่จะเอาชื่อเสียงและความมั่นคงในตำแหน่งหน้าที่การงานของตัวเองมาเดิมพันกับรายการนี้

 

ให้เด็กมันเล่นดู เดี๋ยวรู้กัน

 

จากทีมชุด ‘ลองของ’ ที่มีระยะเวลาในการเตรียมตัวสั้นมากไม่ถึง 2 สัปดาห์ จากทีมที่เริ่มต้นกันแบบกระท่อนกระแท่น การที่สุดท้ายสามารถมาได้ไกลถึงรอบชิงชนะเลิศได้แบบนี้ โดยส่วนตัวผมมองว่าถือเป็นความสำเร็จแล้ว

 

อย่างน้อยก็มีโมเมนต์ที่น่าภาคภูมิใจให้เห็น โดยเฉพาะในวันที่ ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา ซึ่งมีอาการป่วย แต่กัดฟันออกจากห้องพยาบาลใส่เสื้อ ‘ช้างศึก’ ลงมาทำประตู พาทีมชาติไทยผ่านด่านฟิลิปปินส์ จนจุดกระแสบอลไทยได้สำเร็จ

 

หรือแม้แต่ในนัดชิงชนะเลิศที่ผ่านพ้นไป ถ้ามองข้ามความผิดพลาดและใบแดงแล้ว สปิริตนักเตะที่แสดงออกมาให้เห็น การต่อสู้จนถึงหยดสุดท้าย ชนิดที่เกือบจะกลับมาสู่เกมได้อีกครั้งด้วย ถ้าลูกยิงของ ศุภนันท์ บุรีรัตน์ ชนคานแล้วกระเด้งลึกข้ามเส้นไปอีกแค่เซนติเมตรเดียว

 

ก็ไม่มีอะไรให้น่าเสียใจเลยสักนิดเดียว

 

ความผิดพลาดของผู้เล่น หรือแม้แต่ความผิดพลาดของอิชิอิที่หลายคนเพ่งเล็ง โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนตัวนั้นเป็นรายละเอียดของเกมการแข่งขัน

 

 

แต่ถ้าเรามองในภาพใหญ่แล้ว รายการนี้ทีมชาติไทยและวงการฟุตบอลไทย ‘ได้’ มากกว่า ‘เสีย’

 

สิ่งที่เราได้จากอาเซียนคัพครั้งนี้คือการได้เห็นภาพของทีมชาติไทยว่าพอมองเห็นอนาคตที่สดใส เรามีผู้เล่นฝีเท้าดีรุ่นใหม่หลายคน โดยเฉพาะกลุ่มผู้เล่นลูกครึ่งที่ถูกดึงเข้ามาติดทีมชาติ พอจะมองเห็นว่าฝากผีฝากไข้ได้

 

โดยเฉพาะ เบนจามิน เดวิส ที่โดดเด่นอย่างมากในรายการนี้ หากรักษาความดี รักษาเนื้อรักษาตัว เก็บประสบการณ์ และพัฒนาการเล่นต่อเนื่อง มีโอกาสสูงที่จะก้าวขึ้นมาเป็น ‘เสาหลัก’ ของทีมชาติไทยยุคต่อไป

 

แน่นอนมีผู้เล่นบางรายที่อาจจะดูแล้วยังสอบไม่ผ่านสำหรับเกมระดับนี้ โดยเฉพาะคนที่ถูกโจมตีหนักเป็นพิเศษอย่าง เสกสรรค์ ราตรี ที่อยากเป็นกำลังใจให้กลับมาตั้งใจพัฒนาตัวเองต่อไป

 

ขั้นต่ำที่สุด ประสบการณ์จากรายการนี้จะมีค่าอย่างมากสำหรับพวกเขาเหล่านี้

 

ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำในช่วงเวลาที่ดี

 

หรือบทเรียนจากความพ่ายแพ้และความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

 

ความพ่ายแพ้หรือการไม่ได้แชมป์ไม่ใช่เรื่องใหญ่ในระดับคอขาดบาดตายขนาดนั้น ซึ่งสิ่งที่แฟนฟุตบอลควรทำมากกว่าการตำหนิแบบไม่มีเหตุมีผลคือการให้กำลังใจและสนับสนุนทีมต่อไป

 

อยากปลูกไม้ใหญ่ใช่วันสองวันต้นจะขึ้นสูงเสียดฟ้าเสียเมื่อไร มันต้องใช้เวลา

 

ที่เป็นห่วงมีเพียงแค่เราจะจริงจังกับมันได้สักแค่ไหนและอีกนานสักแค่ไหน เพราะอย่างที่รู้ว่าปัญหาภายในวงการฟุตบอลไทยนั้นไม่เคยมีคำว่าจีรังและยั่งยืน

 

ฟุตบอลไทยไม่เคยเป็นมืออาชีพ แค่ปัญหาการเรียกตัวผู้เล่นและการจัดโปรแกรมการแข่งขันก็เห็นได้ชัดแล้ว ไม่นับอีกสารพันที่บ้างก็หยุมหยิม บ้างก็ใหญ่แต่ไม่รู้จะแก้อย่างไร

 

เครื่องสะท้อนที่ดีที่สุดของปัญหาคือความตกต่ำของฟุตบอลลีกไทยที่มูลค่าตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย ความเป็นและความตายของ ‘รากแก้ว’ ในระดับลีกล่างไปจนถึงโครงสร้างฟุตบอลเยาวชนกลายเป็นเรื่องที่สำคัญรองลงไป

 

สวนทางกับฟุตบอลเดินสายที่เป็นอีกระบบกลับรุ่งเรืองเฟื่องฟู จับต้องได้มากกว่า

 

และแน่นอนเราต่างจากเวียดนามที่จริงจังกับฟุตบอลกว่ามาก

 

ระยะห่างที่เคยว่าไกลนั้นหดใกล้ หรือในบางจังหวะถูกแซงหน้าไปก็อาจจะไม่ทันได้รู้ตัว อีกหลายชาติใช้ ‘ทางลัด’ อย่างการโอนสัญชาติผู้เล่น (ซึ่งต่างจากการใช้ลูกครึ่งแบบของไทย) ก็ยกระดับทีมขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญเหมือนกัน

 

 

พูดถึงตรงนี้ในบางอารมณ์ ผมคิดว่าบางครั้งฟุตบอลอาเซียนเองก็ใช่จะไม่ดี

 

อย่างน้อยมันเป็นรายการฟุตบอลที่ทุกคนแสดงให้เห็นถึง ‘แพสชัน’ ของการแข่งขันที่เร่าร้อน เติมไฟในหัวใจได้พอสมควร

 

ความไม่มีใครยอมใครในแบบ ‘Rivalry’ ไม่ใช่เรื่องที่แย่เสมอไป มีคนเคยวิจัยแล้วว่า ความไม่ถูกกัน (เช่น ไทย-เวียดนาม) มีส่วนช่วยเป็นแรงผลักดันกันและกันได้ด้วย เหมือนกรณีของลิเวอร์พูลกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ขับเคี่ยวกันมาหลายสิบปี จนครองความยิ่งใหญ่ในลีกฟุตบอลอังกฤษ

 

แต่อย่างที่บอก ถ้าอยากจะไปไกลกว่านั้น ไปให้ไกลกว่าอาเซียน สายตาต้องมองไปข้างหน้า

 

ไม่ว่าจะผิดหรือถูก อย่างน้อยวันนี้เราได้เริ่มออกเดินทางแล้ว

 

ไม่ต้องหันกลับมาแล้ว คิดถึงอยู่ในใจก็พอ

 
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X