เหตุการณ์ความไม่เรียบร้อยจากกรณีพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตจุฬาฯ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560 นำไปสู่การตั้งคณะกรรมการสอบ ‘เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล’ ในฐานะประธานสภานิสิตจุฬาฯ และพวกรวม 8 คน
บทสรุปของการสอบสวน คณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิตในฝ่ายกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการลงโทษตัดคะแนนความประพฤติของเนติวิทย์และนิสิตคนอื่น คนละ 25 คะแนน ซึ่งตามระเบียบจุฬาฯ ว่าด้วยสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2529 ผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิสิตฯ ต้องไม่เป็นนิสิตที่เคยถูกลงโทษตัดคะแนนความประพฤติสะสมตั้งแต่ 20 คะแนนขึ้นไป นั่นทำให้นายเนติวิทย์กับเพื่อนต้องพ้นจากการเป็นสมาชิกสภานิสิตฯ ไปโดยปริยาย
ในเวลาต่อมา เนติวิทย์และเพื่อนได้ยื่นฟ้องจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งเป็นฝ่ายโจทก์ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ลงโทษตัดคะแนนความประพฤตินิสิตฯ และคำสั่งที่ให้สมาชิกสภานิสิตสามัญพ้นจากตำแหน่ง
ผู้ที่ถูกฟ้องคดี คือ 1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2. อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 3. คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์หรืออุทธรณ์ของนิสิต
ล่าสุด ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดังต่อไปนี้
1. คําสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ 4929/2560 เรื่อง ลงโทษตัดคะแนนความประพฤตินิสิต ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2560 เฉพาะส่วนที่วินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งแปดกระทําผิดวินัยนิสิตตามข้อ 8 ของระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยวินัยนิสิต พ.ศ. 2527
และมติของคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์หรืออุทธรณ์ของนิสิต ในการประชุมครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 ตามคําสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ 0408/2561 เรื่อง แก้ไขคําสั่งลงโทษตัดคะแนนความประพฤตินิสิต ลงวันที่ 25 มกราคม 2561 เฉพาะส่วนที่วินิจฉัยว่าผู้ฟ้องคดีทั้งแปดกระทําผิดวินัยนิสิตตามข้อ 8 ของระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยวินัยนิสิต พ.ศ. 2527 และที่ให้ลงโทษตัดคะแนน ความประพฤติของผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสําหรับการกระทําผิดวินัยนิสิตในข้อดังกล่าว 10 คะแนน
2. คําสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ 4929/2560 เรื่อง ให้สมาชิกสภานิสิตสามัญ พ้นจากตําแหน่ง ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2560 ที่ให้นายเนติวิทย์จนไปถึงผู้ฟ้องคดีรายที่ 5 พันจากตําแหน่งการเป็นสมาชิกสภานิสิตสามัญ ประจําปีการศึกษา 2560 โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่มีคําสั่ง
อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองกลางได้ชี้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 มีอำนาจที่จะดำเนินการทางวินัยเนติวิทย์และพวกเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่คณะ เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยตามข้อ 6 ของระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยวินัยนิสิต พ.ศ. 2527
ศาลปกครองกลางยังระบุด้วยว่า แม้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 จะมีความเห็นแตกต่างไปจากคําวินิจฉัยของศาล ก็ไม่อาจถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 จงใจกลั่นแกล้งให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 8 ต้องถูกลงโทษทางวินัยนิสิต หรือต้องถูกลงโทษทางวินัยนิสิตหนักกว่าที่กฎหมายกําหนด ทั้งไม่ใช่การกระทําด้วยความประมาทเลินเล่ออีกด้วย ดังนั้น จึงไม่เป็นการกระทําละเมิดผู้ฟ้องคดีทั้ง 8 ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 8
คลิกอ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า