เมื่อวันที่ 19-25 กันยายนที่ผ่านมา PwC ในฐานะ Executive Series Sponsor ของงานสัปดาห์ภูมิอากาศ หรือ Climate Week NYC 2022 ที่ถูกจัดขึ้นทุกปี ณ กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้จัดทำรายงานที่น่าสนใจภายใต้ชื่อ Net Zero Economy Index ที่แสดงให้เห็นว่าประชาคมโลกยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องลดความเข้มข้นคาร์บอน (Carbon Intensity) หรือการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจถึง 15.2% ต่อปี จึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ได้ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ยังต้องลดก๊าซคาร์บอนให้ได้รวดเร็วกว่า 11 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลกในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
นี่จึงทำให้เกิดคำถามสำคัญตามมาว่า ผู้นำภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชากรบนโลกใบนี้ จะต้องทำอย่างไรถึงจะบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ท้าทายนี้ได้?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เมื่อ ‘เป้าหมายสีเขียว’ และ ‘เป้ายอดขาย’ ไม่สอดคล้องกัน เปิดช่องโหว่นโยบาย สิ่งแวดล้อม ในอุตสาหกรรมแฟชั่น
- ธปท. เตรียมออก Standard Practice ด้านสิ่งแวดล้อมในไตรมาส 3 พร้อมกำหนดให้แบงก์ส่งแผนและเป้าสีเขียวที่จับต้องได้ต้นปีหน้า
- ‘Bridgewater’ บริษัทจัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ใหญ่ที่สุดในโลก แนะวิธีลงทุนสำหรับนักลงทุนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อหนุนเป้าหมาย Net Zero
ในระดับของภาคเอกชนแล้ว แม้ว่าในปัจจุบันจะมีองค์กรชั้นนำระดับโลกจำนวนมากที่เห็นถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และออกมาประกาศนโยบายเดินหน้าสู่การเป็นองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) กันยกใหญ่ แต่ในทางปฏิบัติ การที่องค์กรจะสามารถรักษาและทำให้คำมั่นสัญญาเหล่านี้เป็นความจริงได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องอยู่บนพื้นฐานของชุดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ที่โปร่งใส โดย PwC ได้นำเสนอบทความ Accelerating the net zero transition: Four priorities for business ที่ชี้ถึง 4 ภารกิจสำคัญที่องค์กรธุรกิจควรต้องเร่งจัดการ เพื่อก้าวสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ดังต่อไปนี้
- เร่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการดำเนินงานและห่วงโซ่อุปทานของบริษัท โดยข้อมูลของ PwC พบว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนจากห่วงโซ่อุปทานส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินงานของบริษัทส่วนใหญ่ถึง 65-95% ซึ่งแม้ว่าบริษัทจำนวนมากจะตระหนักถึงความจำเป็นในการต้องจัดการกับการปล่อยก๊าซในส่วนนี้ แต่ก็ยังไม่ได้เร่งลงมือปฏิบัติ โดยกลัวว่าจะมีความยุ่งยากซับซ้อน
- ทำความเข้าใจความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ และจัดการความเสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว ความเสี่ยงที่ยากต่อการจัดการมากที่สุด คือ ความเสี่ยงที่องค์กรยังไม่ได้มีการประเมินอย่างเหมาะสม เช่น ความเสี่ยงทางกายภาพที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ยกตัวอย่าง กรณีเหตุการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปีที่ผ่านมา ไปจนถึงน้ำท่วมหนักในประเทศปากีสถาน ซึ่งเราคงไม่ปฏิเสธว่าภัยธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถือเป็นภัยคุกคามที่สร้างความเสียหายมูลค่ามหาศาล และส่งกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนและการดำเนินธุรกิจทั่วโลก ซึ่งบทเรียนสำคัญที่ทุกๆ องค์กรจะต้องจดจำ คือ จะต้องมีการระบุและจัดการความเสี่ยงอย่างรอบด้าน ทั้งจากห่วงโซ่อุปทาน และแหล่งทรัพยากรต่างๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
- เคลื่อนย้ายและจัดหาแหล่งเงินทุนที่ยั่งยืน การก้าวสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ขององค์กรจำเป็นต้องอาศัยเงินทุนจากภาคเอกชน เช่น โครงการ Glasgow Financial Alliance for Net Zero (GFANZ) ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มบริษัททางการเงินกว่า 450 แห่งทั่วโลก เพื่อบริหารสินทรัพย์รวมกว่า 130 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อและการลงทุนที่มีเป้าหมายของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และ The Sustainable Markets Initiative ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือระดับโลก เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถเปลี่ยนสู่ Net Zero ได้อย่างยั่งยืน เป็นต้น
นอกจากนี้ การลงทุนด้านเทคโนโลยียังถือเป็นสิ่งสำคัญในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ด้วยเช่นกัน โดยในขณะที่การลงทุนด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มสูงขึ้น แต่การศึกษาของเราพบว่า การลงทุนมุ่งเน้นไปที่โซลูชันในการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพียง 20% เท่านั้น นี่หมายความว่า เรายังมีโอกาสอีกมากในการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยสร้างผลกระทบในระดับที่มากกว่าที่เป็นอยู่
- การจัดทำรายงานความยั่งยืนและการตรวจสอบต้องมีประสิทธิภาพ และมีข้อมูลที่ถูกต้อง ในรายงานการสำรวจนักลงทุนทั่วโลกของ PwC เมื่อปีที่แล้ว เราพบว่า มีเพียง 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามที่คิดว่า การรายงานด้าน ESG มีคุณภาพดีเพียงพอแล้ว สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่น ขณะที่หน่วยงานกำกับก็ต้องการให้องค์กรเปิดเผยข้อมูล และกำหนดมาตรฐานต่างๆ ในการวางกรอบที่จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับการรายงานของตน ในทางตรงกันข้าม หน่วยงานกำกับก็จะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากลเช่นกัน ทั้งนี้ ภาคธุรกิจที่ต้องการจัดทำรายงานความยั่งยืน สามารถเริ่มศึกษาหาข้อมูลจากแนวทางของ World Economic Forum (WEF) และ International Sustainability Standards Board (ISSB) ได้
เราจะเห็นได้ว่า เราทุกฝ่ายยังคงต้องใช้ความพยายามอีกมากในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนสู่การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลและผู้กำหนดนโนบาย ที่จะต้องมีบทบาทและความรับผิดชอบในการวางกฎระเบียบออกสู่ตลาด ขณะที่องค์กร ผู้บริหาร พนักงาน ผู้บริโภค นักลงทุน ลูกค้า และประชาชนทั่วไป ก็จะต้องตระหนักรู้ว่า วันนี้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นวาระเร่งด่วนของโลก ที่ทุกคนจะต้องช่วยกันเร่งดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อบรรเทาความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
อ้างอิง:
- Accelerating the net zero transition: Four priorities for business, PwC: https://www.pwc.com/gx/en/services/sustainability/climate/accelerating-the-net-zero-transition-four-priorities-for-business.html