ในขณะที่บริษัทแม่ของเนสท์เล่เตรียมปรับขึ้นราคาสินค้า หลังจากที่ต้นทุนการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นจนฉุดให้ผลกำไรของบริษัทลดลง แต่ในประเทศไทยได้ยืนยันถึงทิศทางที่จะยังไม่ขึ้นราคาในตอนนี้ และจะใช้มาตรการดังกล่าวเป็นทางเลือกสุดท้าย
ปี 2565 เนสท์เล่ยอมรับว่า ต้นทุนสินค้าในประเทศไทยขึ้นราว 8% ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของสินค้าทุกกลุ่ม แต่หากดูเป็นสินค้าแต่ละตัว บางสินค้ามีต้นทุนขึ้นสูงมากกว่านั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- อั้นไม่ไหว! ‘Nestle’ เตรียมขยับขึ้นราคาสินค้า หลังแบกรับต้นทุนผลิตพุ่งจนฉุดกำไรปี 2022 เหลือ 9.3 พันล้านฟรังก์สวิส
- ตรึงราคาไม่ไหว! ‘ลีโอ’ ขึ้นราคา 1-1.5 บาทต่อขวด ส่วน ‘ช้าง’ เพิ่มขวดแก้วอีก 1 บาท ฟากน้ำตาลกำลังจะขึ้น หวั่นทำสินค้าอื่นๆ ขยับตัวตามอีก 2-3 เดือนข้างหน้า
- ขึ้นราคาสินค้าอีกรอบ! ‘P&G’ ยักษ์ผู้ผลิตสินค้าคอนซูเมอร์ ปรับราคารับต้นทุน-ดอลลาร์แข็ง แม้อาจกระทบการใช้จ่ายผู้บริโภค
“เนสท์เล่ไม่เคยประกาศว่าจะไม่ขึ้นราคา แต่เราตระหนักดีถึงสถานการณ์ที่น่าหนักใจที่ผู้บริโภคชาวไทยต้องเผชิญในเวลานี้ เนสท์เล่จึงพยายามอย่างเต็มที่เพื่อลดผลกระทบต่อผู้บริโภค โดยหันไปมองเรื่องการประหยัดต้นทุนที่เป็นไปได้ตลอดห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมดของเรา ก่อนที่จะพิจารณาการปรับราคาเป็นทางออกสุดท้าย” วิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า กล่าว
คำยืนยันของผู้บริหารของเนสท์เล่ ประเทศไทย เกิดขึ้นหลังกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัทแม่ในสวิตเซอร์แลนด์ได้เผยถึงความจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้าเพื่อชดเชยกับความเสียหายที่เกิดจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งรวมถึงราคาพลังงาน หนึ่งในต้นทุนการผลิตที่สำคัญปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
เนสท์เล่ ประเทศไทย จะยังไม่ปรับขึ้นราคา แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะสามารถตรึงราคาสินค้าไปได้ถึงเมื่อไร ท่ามกลางต้นทุนต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นไม่หยุด โดยก่อนหน้านี้ สมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ค้าปลีกไทย ฉายภาพกับ THE STANDARD WEALTH ว่า สินค้าอุปโภคบริโภคหลายๆ กลุ่ม ได้ส่งหนังสือขอปรับราคาขายส่งและขายปลีกมาตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งปัจจัยหลักมาจากต้นทุนต่างๆ ทั้งระบบซัพพลายเชน พลังงานต่างๆ ที่ปรับตัวขึ้น
ทั้งนี้ ยังมีบางรายที่ยังไม่ขึ้นราคาเพราะต้องรองรับกับการแข่งขันที่สูง แต่เมื่อถึงเวลาอาจเริ่มแบกรับต้นทุนไม่ไหว พร้อมกับเริ่มผลิตสินค้าล็อตใหม่ ทำให้เห็นสินค้าบางรายการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ในปี 2565 เนสท์เล่มีการเติบโตอยู่ที่ 3.5-4% เมื่อเทียบกับปี 2564 ซึ่งปี 2566 วิคเตอร์ก็คาดหวังว่าจะมีการเติบโตในระดับที่ใกล้กัน
เนสท์เล่ได้เปิดเผยถึงเม็ดเงินที่จะลงทุนรวมในปี 2566 จำนวนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในโรงงาน จำนวนประมาณ 6.5 พันล้านบาท และลงทุนในด้านธุรกิจและการตลาด จำนวนประมาณ 3.5 พันล้านบาท
“ที่เราตัดสินใจลงทุนเยอะ เพราะเชื่อว่าสินค้าต้องผลิตในประเทศไทย แม้จะเป็นบริษัทระดับโลกแต่ต้องปรับการดำเนินงานให้เข้ากับไทย และปรับให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวไทย”
สิ่งที่น่าจับตาคือ การลงทุนในสายการผลิตของหน่วยธุรกิจเนสท์เล่ เพียวริน่า เพ็ทแคร์ (Purina Pet Care) จำนวน 500 ล้านฟรังก์สวิส ซึ่งเป็นการลงทุนครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบ 5 ปี และในปีนี้จะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นถึง 50%
แม่ทัพเนสท์เล่ยอมรับว่า ความท้าทายในปี 2566 อยู่ที่เรื่องวัตถุดิบ ทำให้ต้องมีการปรับพอร์ตโฟลิโอ ตลอดจนการบริหารภายใน ตั้งแต่การหาวัตถุดิบ การขนส่ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ที่มีข่าวว่าเนสท์เล่จะปิดโรงงานในเมียนมาที่มีเพียงแห่งเดียวและจะถอดธุรกิจออก เรื่องนี้วิคเตอร์กล่าวว่า ทิศทางของธุรกิจในเมียนมาจะเปลี่ยนจากการดำเนินธุรกิจเองไปผ่านดิสทริบิวเตอร์ ซึ่ง “เราเชื่อว่านี่จะเป็นวิธีที่ทำให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างยั่งยืนต่อไป”