วันนี้ (4 มีนาคม) ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ในตลาดแรงงานไทยภาพรวมในปี 2566 ‘ปรับตัวดีขึ้น’
โดยอัตราการว่างงานรวม (Unemployment Rate) ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือเพียง 0.81% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ทำให้อัตราว่างงานเฉลี่ยทั้งปี 2566 ลดลงเหลือ 0.98% กลับไปสู่ระดับก่อนโควิดในปี 2562 หลังจากก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 2563-2565 อัตราการว่างงานไทยสูงกว่าระดับ 1% มาโดยตลอด
ขณะที่จำนวนผู้มีงานทำในไตรมาส 4 ปี 2566 อยู่ที่ 40.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.7% จากปีก่อนหน้า สอดคล้องกับจำนวนชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยที่ ‘ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย’ อยู่ที่ 46.9 ชั่วโมง เพิ่มขึ้น 1.1%YoY และจำนวนผู้ทำงานล่วงเวลา (OT) หรือผู้ที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์อยู่ที่ 6.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5.1%YoY
ค่าจ้างแรงงานไทยเฉลี่ยลดลง เหตุคนขาดทักษะ
อย่างไรก็ตาม ค่าจ้างแรงงานในภาพรวมไตรมาส 4 ปี 2566 กลับ ‘ลดลง’ 0.2%YoY อยู่ที่ 15,382 บาทต่อคนต่อเดือน โดยค่าจ้างเฉลี่ยที่ลดลงอาจเป็นผลมาจากปัญหาแรงงานไทยขาดทักษะที่นายจ้างต้องการ
ตามข้อมูลของสภาพัฒน์ยังระบุอีกว่า สัดส่วนแรงงานไม่มีฝีมือ (Unskilled Labour) ในภาคการผลิตเพิ่มขึ้นมีสัดส่วนถึง 43.6% ในปี 2565 ของกำลังแรงงานทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 26.2% ในปี 2560 โดยสาเหตุอาจมาจากภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาคอุตสาหกรรมเดิม (Traditional Industries) ไม่ได้เปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ (New Industries)
ดนุชาระบุว่า เพื่อปัญหาเหล่านี้ ภาครัฐควรต้องมีมาตรการเข้าไปช่วยพัฒนาทักษะแรงงาน เช่น Upskill และ Reskill นอกจากนี้ยังเสนอให้มีโครงการอบรมแรงงานระยะสั้นๆ 3-6 เดือน เพื่อช่วยยกระดับรายได้แรงงาน
โดยสภาพัฒน์เตรียมเข้าไปคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมไปถึงมหาวิทยาลัยต่างๆ
“ประเด็นนี้พูดมาตลอด ต้องทำให้ค่าแรงเพิ่มขึ้นตามฐานของทักษะที่เพิ่มขึ้นมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ เราต้องทำให้แรงงานมีทักษะเพิ่มขึ้นมากกว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปเรื่อยๆ” ดนุชากล่าว