×

สภาพัฒน์ ชู 13 หมุดหมายพลิกโฉมประเทศ ด้าน ‘วิรไท’ แนะไทยเร่งแก้ 7 ปัญหารับมือโลกยุค VUCA

22.09.2021
  • LOADING...
VUCA

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ กล่าวในงานเสวนา หัวข้อ ‘13 หมุดหมาย พลิกโฉมประเทศไทย’ ว่า ขณะนี้ สศช. อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (แผนพัฒนาฯ 13) ซึ่งจะถูกนำมาใช้ในระหว่างปี 2566-2570 โดยแผนฉบับนี้มีความแตกต่างจากแผนพัฒนาทั้ง 12 ฉบับก่อนหน้าที่มุ่งเน้นการวางยุทธศาสตร์แบบกว้าง แต่แผน 13 จะคัดกรองเฉพาะประเด็นที่มีลำดับความสำคัญที่สุด มีการกำหนดภารกิจให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและผลกระทบจากวิกฤตโควิด

 

เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า สศช. ได้กำหนดให้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มีทั้งหมด 13 หมุดหมาย ครอบคลุม 4 มิติการพัฒนา ได้แก่

 

มิติแรก ภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 1. มุ่งเน้นสร้างมูลค่าของสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป โดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม หมุดหมายที่ 2. ยกระดับการท่องเที่ยวให้เป็นการท่องเที่ยวคุณภาพสูง หมุดหมายที่ 3. สนับสนุนให้ผู้ประกอบการเดิมในอุตสาหกรรมยานยนต์สามารถปรับตัวไปสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการสร้างปัจจัยสนับสนุนเพื่อให้ผู้ใช้รถยนต์เปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หมุดหมายที่ 4. สร้างมูลค่าจากสินค้าและบริการสุขภาพ ซึ่งไทยมีความได้เปรียบ 

 

หมุดหมายที่ 5. ยกระดับบทบาทของไทยในห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาค โดยให้ความสำคัญกับการเป็นศูนย์กลางคมนาคมและโลจิสติกส์ และการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ หมุดหมายที่ 6. ผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจดิจิทัล โดยการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบ รวมถึงการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เดิมสามารถปรับเปลี่ยนไปสู่อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

 

มิติที่สอง โอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 7. พัฒนาศักยภาพ SME สู่การเป็นผู้ประกอบการยุคดิจิทัล หมุดหมายที่ 8. สร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก สร้างความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ และดิจิทัล หมุดหมายที่ 9. แก้ไขปัญหาความยากจนข้ามรุ่นแบบมุ่งเป้า ที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของครัวเรือนยากจน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการจัดความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตแก่คนไทยทุกช่วงวัย

 

มิติต่อมา ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 10. เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร รวมถึงการเร่งลดก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะในภาคพลังงานและอุตสาหกรรม หมุดหมายที่ 11. สร้างความสามารถในการรับมือกับภัยธรรมชาติ โดยมุ่งเน้นการป้องกันภัย โดยใช้แนวทางธรรมชาติ รวมถึงการพัฒนาประสิทธิภาพในการคาดการณ์และเตือนภัย

 

และมิติสุดท้าย ปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 12. สนับสนุนให้คนทุกช่วงวัยมีโอกาสพัฒนาทักษะอย่างเต็มศักยภาพ มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และมีสมรรถนะที่สอดคล้องกับบริบทของโลกยุคใหม่ และหมุดหมายที่ 13. ยกระดับภาครัฐให้มีสมรรถนะสูงและคล่องตัว สามารถก้าวสู่การเป็นภาครัฐดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงการยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ

 

ทั้งนี้หลังจากผ่านกระบวนการยกร่างกรอบแผนพัฒนาฯ ดังกล่าว สศช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่างๆ 13 คณะ (ตาม 13 หมุดหมาย) เพื่อดำเนินการยกร่างรายละเอียดของตัวชี้วัดและกลยุทธ์ของแต่ละหมุดหมายในช่วงตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา (มิถุนายน ถึง กันยายน 2564) และภายหลังจากการประชุมในวันนี้ สศช. จะจัดให้มีการรับฟังและระดมความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 อีกครั้งในช่วงธันวาคม 2564 ถึง มกราคม 2565

 

โดยจะนำความคิดเห็นที่ได้รับไปปรับปรุงแผนพัฒนาฯ อีกครั้ง ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะรัฐมนตรี และรัฐสภาตามลำดับ ก่อนจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาและทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ในเดือนตุลาคม 2565 

 

ด้าน วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในงานเดียวกันว่า แผนพัฒนาฯ 13 จะเป็นแผนที่มีความสำคัญในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยมาก เนื่องจากโลกในปัจจุบันอยู่ภายใต้บริบทที่เรียกว่า ‘VUCA World’ ย่อมาจาก ความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความสลับซับซ้อน (Complexity) ความคลุมเครือ (Ambiguity) ‘VUCA World’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องเตรียมรับมือ

 

“การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีไปสู่ยุคดิจิทัล การพัฒนาหุ่นยนต์ AI การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ทั้งหมดจะทำให้โลก VUCA รุนแรงยิ่งขึ้นการจะเปลี่ยนประเทศภายใต้ภาวะเช่นนี้ต้องให้ความสำคัญกับการจัดสรรทรัพยากรใหม่ เอาทรัพยากรส่วนเกินจากภาคเศรษฐกิจเดิมไปอยู่ในภาคเศรษฐกิจใหม่ให้ได้” วิรไท กล่าว

 

อดีตผู้ว่า ธปท. ระบุอีกว่า หลายปัญหาที่เกิดขึ้นของไทยได้ข้ามจุดหักเหที่ไม่อาจย้อนกลับ หรือ Tipping Point ไปแล้ว เช่น การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ  และโครงสร้างประชากรที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ซึ่งในส่วนนี้จะต้องใช้วิธีตั้งรับและเตรียมความพร้อมให้ดีที่สุด

 

อย่างไรก็ดี ไทยยังมีปัญหาอีก 7 ด้านที่ยังไม่ผ่าน Tipping Point และต้องวางแผนป้องกันก่อนที่ปัญหาจะบานปลายจนแก้ไขยากและก่อให้เกิดผลกระทบเป็นโดมิโน ประกอบด้วย 

 

  1. ปัญหาขนาดของภาครัฐไทยที่มีขนาดใหญ่ มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงจำนวนมาก ทำให้มีรายจ่ายประจำสูงไปเบียดบังต่อการใช้งบด้านอื่นๆ โดยเฉพาะงบลงทุน และเป็นข้อจำกัดทางด้านการคลัง

 

  1. ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เริ่มเห็นเส้นแบ่งทางสังคมมากขึ้น ทั้งการเข้าถึงการศึกษา การเข้าถึงโอกาสในการทำธุรกิจหรือความสามารถในการแข่งขันระหว่าง ธุรกิจขนาดใหญ่และ SME 

 

  1. ความสามารถในการแข่งขันของไทยในหลายผลิตภัณฑ์ เนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่ของไทยยังอยู่ในอุตสาหกรรมเก่า การลงทุนใหม่จากต่างชาติเข้ามาในประเทศน้อย ประกอบกับการที่ไทยไม่ได้อยู่ในข้อตกลงการค้าเสรีสำคัญหลายรายการ ทำให้ไทยมีโอกาสหลุดจาก Global Value Chain

 

  1. ความเห็นต่างของคนระหว่างรุ่นที่มีความขัดแย้งทางความคิด ซึ่งโจทย์ที่คิดว่า จะทำอย่างไรให้ความขัดแย้งเบาบางลง ต้องพยายามหาจุดร่วมระหว่างคนสองรุ่น

 

  1. คุณภาพของระบบการศึกษาไทยที่พัฒนาขึ้นน้อยมากจากอดีต ในขณะที่การแข่งขันในอนาคตจะเน้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้ไทยอาจแข่งขันได้ยากขึ้น

 

  1. ความสามารถในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ที่ระบบนิเวศของไทยไม่ได้เอื้อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากไทยตกขบวนรถไฟเทคโนโลยี จะส่งผลระยะยาวทั้งในด้านต้นทุนการใช้ชีวิตและต้นทุนการทำธุรกิจ

 

  1. ปัญหาคอร์รัปชันที่ยังรุนแรงในประเทศไทยและแทรกซึมอยู่ในแทบทุกระดับ ซึ่งประเทศไทยต้องไม่ทำให้การคอร์รัปชันเป็นเรื่องปกติในสังคม เพราะจะทำให้คนเก่งไม่มีที่ยืน และไม่สามารถแข่งขันภายใต้กติกาที่เป็นธรรมได้ 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising