×

‘สภาพัฒน์’ หั่น ‘GDP’ ปีนี้เหลือโต 0.7-1.2% แนะ 7 ประเด็นสำคัญที่รัฐบาลควรโฟกัสเพื่อดูแลเศรษฐกิจ

16.08.2021
  • LOADING...
Office of the National Economic and Social Development Council

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สภาพัฒน์ได้ปรับคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2564 เหลือ 0.7-1.2% จากคาดการณ์เดิม (17 พฤษภาคม 2564) ที่ประเมินไว้ที่ 1.5-2.5% เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปียังมีข้อจํากัดและปัจจัยเสี่ยงสําคัญหลายประการ ประกอบด้วย 

 

  1. การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิดที่มีความรุนแรงและยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง 

 

  1. ข้อจํากัดด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ ท่ามกลางการว่างงานที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูงและได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่ 

 

  1. ภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการระบาดในพื้นที่การผลิต รวมทั้งปัญหาข้อจํากัดในห่วงโซ่การผลิตและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ  

 

  1. ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก 

 

อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์มองว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2564 ยังมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ ได้เช่นกัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 

 

  1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก 

 

  1. แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่าย ลงทุน และมาตรการเศรษฐกิจของภาครัฐ 

 

  1. การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของรายได้ภาคเกษตร 

 

  1. ฐานการขยายตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ 

 

“ตัวเลข 0.7-1.2% เป็นประมาณการภายใต้สมมติฐานว่าการแพร่ระบาดของโควิดจะเริ่มทรงตัวในปลายเดือนสิงหาคม และปรับตัวลดลงในเดือนกันยายน และดีขึ้นชัดเจนในไตรมาสสุดท้ายของปี ขณะเดียวกันฐานการผลิตเพื่อส่งออกและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญต้องไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาด และการกระจายวัคซีนต้องทำได้ 85 ล้านโดสภายในสิ้นปี อย่างไรก็ดีหากสถานการณ์เลวร้ายกว่าสมมติฐานก็มีความเป็นไปได้ที่ GDP จะโตได้ต่ำกว่า 0.7%” ดนุชาระบุ

 

สภาพัฒน์ยังคาดการณ์ภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในปีนี้ด้วยว่า จะขยายตัวได้ 16.3% ขณะที่การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 1.1% และ 4.7% ตามลําดับ และการลงทุนภาครัฐจะขยายตัว 8.7% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ในช่วง 1.0-1.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 2.0% ของ GDP 

 

นอกจากนี้แถลงการณ์ของสภาพัฒน์ยังระบุถึง 7 ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ไทยควรให้ความสําคัญในช่วงที่เหลือของปี 2564 ประกอบด้วย 

 

  1. การควบคุมสถานการณ์การระบาดให้อยู่ในวงจํากัด โดย (1) การเพิ่มประสิทธิผลในการลดการแพร่เชื้อในครัวเรือน ชุมชน และกลุ่มแรงงาน (2) การจัดลําดับความสําคัญในการดูแลผู้ป่วยตามอาการเพื่อจัดสรรทรัพยากรให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ (3) การบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรงอย่างเข้มข้นมากขึ้น และ (4) การเร่งรัดจัดหาและการกระจายวัคซีนอย่างเพียงพอและทั่วถึง 

 

  1. การช่วยเหลือเยียวยาประชาชน แรงงาน และภาคธุรกิจในช่วงที่การระบาดของโรคมีความรุนแรง และมีการดําเนินมาตรการควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวด โดย (1) การเร่งรัดติดตามมาตรการการเงินและการคลังที่ได้ดําเนินการไปแล้ว ควบคู่ไปกับการปรับมาตรการและดําเนินมาตรการเพิ่มเติมอย่างเหมาะสม เข้าถึงเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับการระบาดที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น (2) การพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคแรงงานผ่านมาตรการรักษาระดับการจ้างงาน ควบคู่ไปกับการพิจารณามาตรการสร้างงานใหม่ และมาตรการพัฒนาทักษะแรงงาน และ (3) มาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมในลักษณะเฉพาะเจาะจงให้กับผู้ประกอบการธุรกิจในสาขาที่ได้รับผลกระทบรุนแรง 

 

  1. การดําเนินมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเมื่อสถานการณ์การระบาดผ่อนคลายลง โดยให้ความสําคัญกับมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวของการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวภายในประเทศ การจัดพื้นที่สําหรับการดําเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการดําเนินมาตรการป้องกันการกลับมาระบาดของโรค การแก้ปัญหาและช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถกลับมาประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติ

  2. การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า โดย (1) การควบคุมการแพร่ระบาดในฐานการผลิตที่สําคัญ (2) การเร่งรัดแก้ไขปัญหาที่เป็นข้อจํากัดและอุปสรรคในการขนส่งสินค้า (3) การแก้ไขปัญหาการขาดแรงงานต่างชาติในภาคการผลิต (4) การขับเคลื่อนการส่งออกไปยังตลาดหลักที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน และการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ (5) การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า และ (6) การเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่อยู่ในขั้นตอนของการเจรจาและเตรียมศึกษาเพื่อเจรจากับประเทศคู่ค้าสําคัญใหม่ๆ

 

  1. การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ

 

6 การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดย (1) การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนต่อแนวทางการควบคุมการระบาดภายในประเทศ (2) การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้เกิดการลงทุนจริง (3) การแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ (4) การดําเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอํานวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุน (5) การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ที่ได้ดําเนินการไปแล้ว และ (6) การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งที่สําคัญๆ ให้เป็นไปตามแผนที่กําหนดไว้ 

 

  1. การรักษาบรรยากาศทางการเมืองและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ 

 

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 พบว่ายังขยายตัวได้ที่ 7.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการส่งออกสินค้าและบริการที่ขยายตัวได้ 27.5% ประกอบกับฐานที่ต่ำในปีก่อน โดยการขยายตัวดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ขยายตัวในระดับ 2%

 

ส่วนเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2564 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า พบว่ายังขยายตัวได้ในระดับ 0.4% แม้เป็นการขยายตัวเพียงเล็กน้อย แต่ก็ถือว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย แต่เริ่มมีโมเมนตัมของการขยายตัวที่ลดลง หลังมีการระบาดของโรคโควิดรุนแรงในวงกว้าง และมีบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่หดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เช่น การใช้จ่ายภาคเอกชนที่หดตัว 2.5%

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising