×

‘สภาพัฒน์’ พร้อมเดินหน้าแผนฯ 13 ยกระดับเศรษฐกิจ-ลดความเหลื่อมล้ำ หนุนไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายใน 15 ปี

23.09.2022
  • LOADING...
สภาพัฒน์

สศช. พร้อมขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ หวังดันรายได้เฉลี่ยคนไทย 300,000 บาทต่อปี หนุนไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายใน 15 ปี

 

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวในงานเสวนาประจำปี ‘พลิกโฉมประเทศไทย ก้าวไปด้วยกัน’ ว่า ในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรอบในการกำหนดทิศทางและกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในระยะ 5 ปีมาอย่างต่อเนื่อง โดยแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 กำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2565 และจะมีการประกาศใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 – กันยายน 2570 

 

เลขา สศช. กล่าวอีกว่า แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับความท้าทายต่างๆ ที่ประเทศจะต้องเผชิญในระยะต่อไป เช่น การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล, ความร่วมมือในการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับนานาชาติ, การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเป็นสังคมสูงวัย, ความขัดแย้งระหว่างประเทศ, ความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน, โรคอุบัติใหม่ และภัยโรคระบาด

 

โดยแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ได้กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศบนพื้นฐานของหลักการแนวคิดที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง, แนวคิด Resilience, เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) และโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อมุ่งสู่วัตถุประสงค์หลักของแผนพัฒนาฯ คือการ ‘พลิกโฉม’ ประเทศไทยสู่ ‘สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน’ โดย สศช. ได้ถ่ายทอดวัตถุประสงค์หลักข้างต้นออกมาเป็นเป้าหมายหลัก 5 ประการ คือ    

 

  1. การปรับโครงสร้างสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม เพื่อยกระดับรายได้ประชาชาติต่อหัวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 300,000 บาท หรือ 9,300 ดอลลาร์ต่อปี โดยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการสำคัญให้สามารถตอบโจทย์พัฒนาการของเทคโนโลยีและสังคมยุคใหม่ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเชื่อมโยงเศรษฐกิจท้องถิ่นกับห่วงโซ่มูลค่าของภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย

 

  1. การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ ให้ดัชนีความก้าวหน้าของคน (HAI) อยู่ในระดับสูง โดยพัฒนาให้คนไทยมีทักษะและคุณลักษณะที่เหมาะสมกับโลกยุคใหม่ ทั้งทักษะในด้านความรู้ ทักษะทางพฤติกรรม และคุณลักษณะตามบรรทัดฐานที่ดีของสังคม เตรียมพร้อมกำลังคนที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมทั้งพัฒนาหลักประกันและความคุ้มครองทางสังคมเพื่อส่งเสริมความมั่นคงในชีวิต

 

  1. มุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม โดยลดความเหลื่อมล้ำทั้งในเชิงพื้นที่และโอกาสในการแข่งขันของภาคธุรกิจ รวมถึงสนับสนุนช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาส ให้มีโอกาสในการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคม

 

  1. เปลี่ยนผ่านการผลิตและการบริโภคไปสู่ความยั่งยืน โดยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อยกว่า 20% เมื่อเทียบกับปริมาณปกติที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยปรับปรุงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตและบริโภคให้มีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหามลพิษสำคัญด้วยวิธีการที่ยั่งยืน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในระยะยาว

 

  1. สร้างความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทั้งในเรื่องโรคระบาด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความก้าวหน้าทางดิจิทัล และประสิทธิภาพภาครัฐ โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกลไกทางสถาบันให้เอื้อต่อสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งปรับปรุงโครงสร้างและระบบการบริหารงานของภาครัฐให้สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้อย่างทันการณ์

 

“เป้าหมายในระยะยาวของเราคือยกระดับประเทศไทยขึ้นเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2580 หรืออีก 15 ปีนับจากนี้” ดนุชากล่าว

 

จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างขั้วอำนาจในโลกกำลังจะก่อให้เกิดการย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่ เพื่อกระจายความเสี่ยงทางการลงทุน ซึ่งการที่ไทยจะได้รับประโยชน์จากกระแสที่เกิดขึ้น จำเป็นจะต้องมียุทธศาสตร์ที่ถูกวางเอาไว้อย่างถูกต้อง

 

“เรากำลังจะได้เห็นการย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่ออกจากจีน โดยประเทศที่คนให้ความสนใจคือ ไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย เราจะฉวยโอกาสตรงนี้อย่างไร เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะแพ็กกันเป็นทีมออกไปหาเป้าหมายที่เราอยากให้เข้ามาตั้งฐานในประเทศไทยเลย ไม่ใช่ตั้งรับรออยู่ในบ้านอย่างเดียว โดยส่วนตัวมองว่าไทยมีศักยภาพที่จะเป็นฮับของอุตสาหกรรม EV ได้ สะท้อนได้จากการที่เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ผลิตรายใหญ่อย่าง BYD ของจีนเลือกที่จะเข้ามาลงทุนในไทย” จรีพรกล่าว

 

นที สิทธิประศาสน์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกรรมการและเลขานุการสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่า การยกระดับโครงสร้างพลังงานในประเทศให้มีสัดส่วนของพลังงานสะอาดมากขึ้น เป็นหนึ่งในเรื่องที่ไทยจะต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากขณะนี้บริษัทต่างชาติที่เป็นต้นทางของคลัสเตอร์ ต่างกำหนดเป้าหมายทางสิ่งแวดล้อมของตัวเอง หากบริษัทไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตไม่ปรับตัวตามก็จะได้รับผลกระทบตามมา

 

“ขณะนี้บริษัทเอกชนหลายแห่งเริ่มมีเป้าหมายว่าต้องใช้ไฟฟ้าที่มาจากพลังงานสะอาดในสัดส่วนเท่าไร ยิ่งเป็นบริษัทเล็กหรือ SME ยิ่งต้องปรับตัวให้เร็วกว่า ไม่เช่นนั้นคู่ค้าอาจจะสั่งซื้อจากเราน้อยลงหรือหันไปหาเจ้าอื่น ดังนั้น ภาครัฐควรต้องส่งเสริมในเรื่องนี้ หากเป็นไปได้อยากให้เปิดให้เอกชนสามารถซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันได้โดยตรง” นทีกล่าว

 

เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป กล่าวว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ไทยต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากนับจากปี 2566 ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งจะส่งผลต่อโครงสร้างแรงงานในประเทศ การลงทุนเพื่อ Upskill และ Reskill คนในประเทศจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกัน องค์กรในไทยควรต้องเพิ่มพันธมิตรกับต่างประเทศให้มากขึ้น เพื่อดึงองค์ความรู้ใหม่ๆ เข้ามาในประเทศ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising