×

‘เนสกาแฟ’ ขาดตลาด! ศาลสั่งเนสท์เล่ระงับการผลิต-จำหน่าย ท่ามกลางข้อพิพาทกับผู้ถือหุ้นเดิม

09.04.2025
  • LOADING...
nescafe-production-halt

เนสท์เล่ ชี้แจงกรณีคำสั่งศาลคุ้มครองชั่วคราว ในการห้ามผลิต ว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์แบรนด์ NESCAFÉ ในประเทศไทย

 

เนสท์เล่ได้แจ้งยุติสัญญาที่ให้สิทธิ บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ในการผลิต เนสกาแฟ ในปี 2564 ซึ่งการยุติสัญญามีผลสมบูรณ์ทางกฎหมายตามคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการสากล โดยมีผลเป็นการเลิกสัญญาตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2567

 

ภายหลังการยุติสัญญา เฉลิมชัย มหากิจศิริ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นในบริษัท QCP ได้ฟ้องร้องต่อศาลแพ่งมีนบุรีเพื่อให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 ศาลแพ่งมีนบุรี ได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามมิให้เนสท์เล่ผลิต ว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปโดยใช้เครื่องหมายการค้า NESCAFÉ ในประเทศไทย

 

ทั้งนี้ เนสท์เล่ระบุว่ายังไม่มีโอกาสเสนอข้อเท็จจริงต่อศาลก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เนสท์เล่ ระบุถึงการให้ความเคารพต่อกฎหมายและได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลฉบับนี้ และกำลังดำเนินการยื่นคัดค้านต่อศาล พร้อมยื่นข้อมูลที่ครบถ้วนแก่ศาลแพ่งมีนบุรี

 

เนสท์เล่เป็นเจ้าของแบรนด์เนสกาแฟแต่เพียงผู้เดียว โดยตั้งแต่ปี 2533 จนถึง 2567 ผลิตภัณฑ์เนสกาแฟได้ผลิตในประเทศไทยผ่าน บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนแบบ 50/50 ระหว่างเนสท์เล่และตระกูลมหากิจศิริ

 

ภายใต้สัญญาการร่วมทุนนี้ เนสท์เล่มีอำนาจในการบริหารงาน การผลิต การจัดจำหน่าย รวมทั้งการทำการตลาดผลิตภัณฑ์ เนสกาแฟ โดยเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตเนสกาแฟนั้นเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของเนสท์เล่

 

ภายหลังการยุติสัญญา ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงเรื่องการดำเนินงานในอนาคตของบริษัท QCP ดังนั้น เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2568 เนสท์เล่ เอส เอ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเลิกบริษัท QCP ซึ่งกระบวนการพิจารณาคำร้องเพื่อขอเลิกบริษัทอยู่ในการพิจารณาของศาล

 

เนสท์เล่มองว่าคำสั่งศาลคุ้มครองชั่วคราวนี้จะส่งผลกระทบต่อ:

 

  1. ผู้ประกอบการรายย่อย รวมทั้งร้านกาแฟขนาดเล็ก รถเข็นขายกาแฟ ที่จะไม่มีผลิตภัณฑ์เนสกาแฟจำหน่าย และการปรับเปลี่ยนสูตรการชงและวัตถุดิบอาจส่งผลต่อรสชาติที่เปลี่ยนไป ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อรายได้ประจำวัน
  2. คู่ค้าและซัพพลายเออร์ที่เคยจัดส่งวัตถุดิบต่างๆ ให้กับเนสกาแฟแต่ต้องหยุดชะงักลง
  3. เกษตรกรไทย ทั้งผู้เพาะปลูกกาแฟและเกษตรกรโคนมที่จะไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตเพื่อเป็นวัตถุดิบให้เนสกาแฟ โดยในแต่ละปี เนสกาแฟรับซื้อเมล็ดกาแฟดิบพันธุ์โรบัสต้าในปริมาณมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั้งหมดที่ปลูกได้ในประเทศไทย
  4. ผู้บริโภคจำนวนหลายล้านคนในประเทศไทยและผู้บริโภคในตลาดส่งออกจะไม่มีผลิตภัณฑ์เนสกาแฟ

 

เนสท์เล่ ระบุถึงการที่กำลังดำเนินการยื่นคำร้องคัดค้านเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวต่อศาล พร้อมยื่นข้อมูลที่ครบถ้วนแก่ศาลแพ่งมีนบุรีเพื่อการพิจารณาคำร้อง

 

ทั้งนี้ เนสท์เล่ ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมานานกว่า 130 ปี และได้ลงทุนกว่า 22,800 ล้านบาทในประเทศไทยในระหว่างปี 2561-2567

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising