เนปาลเตรียมย้ายสถานที่ตั้งของเอเวอเรสต์เบสแคมป์ (Everest Base Camp) ซึ่งเป็นฐานตั้งแคมป์สำหรับนักปีนเขาที่จะเดินทางไปพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาธารน้ำแข็งละลาย อันเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนและกิจกรรมต่างๆ ของนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน
เอเวอเรสต์เบสแคมป์ตั้งอยู่ที่ระดับความสูง 5,364 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และต้อนรับนักท่องเที่ยวสูงสุด 1,500 คน ในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผู้คนนิยมมาปีนเขา อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่บนธารน้ำแข็งคุมบู (Khumbu Glacier) ซึ่งบางตัวลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
เจ้าหน้าที่ประจำเอเวอเรสต์เบสแคมป์เปิดเผยว่า พวกเขาได้ยินเสียงน้ำแข็งแตกตัวหรือก้อนหินหล่นบ่อยขึ้น ขณะที่เจ้าหน้าที่บางคนเผชิญกับเหตุการณ์ขวัญผวา เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าพื้นที่ที่ตัวเองนอนอยู่เกิดรอยแตกของน้ำแข็ง จนรู้สึกใจหายว่าตัวเองอาจตกลงไปในรอยแยกขณะที่หลับอยู่ก็เป็นได้
ทำเลที่ทางการเนปาลเล็งว่าจะเปิดเป็นพื้นที่ใหม่นั้นจะอยู่ต่ำกว่าจุดเดิมราว 200-400 เมตร และไม่ได้มีน้ำแข็งปกคลุมอยู่ตลอดปี โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะร่วมหารือกันเพื่อหาข้อสรุปและประกาศสถานที่ใหม่อย่างเป็นทางการต่อไป
ธารน้ำแข็งคุมบูไม่แตกต่างจากธารน้ำแข็งแห่งอื่นๆ ทั่วโลกที่กำลังละลายตัวอย่างรวดเร็วเนื่องจากภาวะโลกร้อน ข้อมูลจากนักวิจัยจาก Leeds University เมื่อปี 2018 ระบุว่า ธารน้ำแข็งใกล้กับจุดเบสแคมป์เกิดการละลายจนบางตัวลงราว 1 เมตรในทุกๆ ปี
นอกจากนี้ กิจกรรมที่เกิดจากนักท่องเที่ยวก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำแข็งละลายตัวเร็วขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นปัสสาวะจากนักท่องเที่ยวที่มากถึง 4,000 ลิตรต่อวัน ตลอดจนการใช้เชื้อเพลิงปริมาณมากเพื่อหุงต้มอาหารหรือให้ความอบอุ่นต่อร่างกาย
ทั้งนี้ การย้ายเบสแคมป์ไม่เพียงแต่ช่วยสร้างหลักประกันถึงความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังเป็นการปรับตัวครั้งสำคัญที่จะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจปีนเขา ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาลเนปาลอีกด้วย
แฟ้มภาพ: Slepitssskaya / Shutterstock
อ้างอิง: