เอเวอเรสต์ เป็นยอดเขาศักดิ์สิทธิ์ที่นักปีนเขาทุกคนมุ่งหมายอยากพิชิตให้ได้สักครั้งในชีวิต ในแต่ละปีมีนักปีนเขาจากทุกมุมโลกกว่าแสนคนเดินทางมาเยือนสถานที่แห่งนี้ ทว่าจำนวนผู้คนอันมหาศาลสร้างรายได้ให้แก่ชนท้องถิ่นพอๆ กับขยะที่พวกเขาสร้างขึ้นจากการพิชิตยอดเขาในหนึ่งครั้ง
รัฐบาลท้องถิ่นพยายามแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง หลังเจ้าหน้าที่ต้องทำงานหนักกำจัดขยะกว่า 11 ตันเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
ล่าสุดมีการประกาศแบนพลาสติกใช้แล้วทิ้งทุกชนิดในภูมิภาคคัมบู (Khumbu) สถานที่ตั้ง Base Camp ที่นักปีนเขาต้องแวะพักเตรียมตัวก่อนขึ้นสู่ยอดเขา
กฎดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2020 เป็นต้นไป โดยสั่งห้ามมิให้นักปีนเขา และร้านค้าใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งที่มีความหนาน้อยกว่า 0.03 มิลลิเมตร (ไม่นับรวมขวดพลาสติก) โดยเบื้องต้นทางเนปาลได้ขอความร่วมมือกับบริษัท ห้างร้าน ทัวร์เอเจนต์ และสายการบินแล้ว
แต่ถึงแม้จะมีข้อห้ามออกมาบังคับใช้ ทว่ายังไม่มีมาตรการลงโทษสำหรับนักปีนเขาผู้ฝ่าฝืน
อันที่จริง นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลเนปาลออกกฎบังคับใช้เพื่อแก้ปัญหาขยะ ทว่าที่ผ่านๆ มา มีนักท่องเที่ยวปฏิบัติตามจริงเพียงแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น
นอกจากปัญหาขยะ ปัญหาสูญหายและการจบชีวิตของนักปีนเขา ส่งผลให้คณะกรรมการที่ปรึกษาของรัฐบาลเสนอแนวทางออกข้อบังคับให้นักปีนเขาที่ต้องการพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ จะต้องมีประสบการณ์การปีนยอดเขาอื่นที่มีความสูงไม่ต่ำกว่า 21,000 ฟุต และแนะนำให้เพิ่มค่าธรรมเนียมจาก 11,000 USD เป็นขั้นต่ำ 35,000 USD หรือราวหนึ่งล้านบาท
ภาพ: Shutterstock
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: