รัฐบาลประเทศเนปาลออกประกาศห้ามใช้ขวดน้ำอัดลมพลาสติก และพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งที่มีความหนาน้อยกว่า 30 ไมครอน (0.03 มิลลิเมตร) ในเขตเทศบาลคุมบู ปาซัง ลามู (Khumbu Pasang Lhamu municipality) ซึ่งเป็นที่ตั้งของยอดเขาเอเวอเรสต์ และภูเขาที่ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งอีกหลายลูก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมปีหน้า
มาตรการแบนในครั้งนี้ จะไม่อนุญาตให้นักปีนเขานำพลาสติกเข้าไปในพื้นที่ และไม่อนุญาตให้ร้านค้าภายในพื้นที่ขายสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง เพื่อลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ จำนวนกว่า 150,000 คนต่อปี
เทศบาลท้องถิ่นได้ขอความร่วมมือจากบริษัท สายการบิน และสมาคมปีนเขาแห่งเนปาล (Nepal Mountaineering Association) แล้ว แต่ยังไม่มีการประกาศบทลงโทษอย่างชัดเจน
กาเมช กิไมล์ หัวหน้าเทศบาลคุมบู ปาซัง ลามู ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNN ว่า ก่อนหน้านี้เทศบาลเคยประกาศใช้มาตรการดังกล่าวในปี 1999 แต่กลับไม่สามารถใช้ข้อบังคับนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย 6 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเนปาลเก็บค่ามัดจำขึ้นเขาคนละ 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 122,800 บาท) ให้นักปีนเขาเก็บขยะอย่างน้อย 8 กิโลกรัม เพื่อแลกเงินมัดจำคืน แต่กลับมีนักปีนเขาเพียงครึ่งหนึ่งที่รับเงินมัดจำคืน โดยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีอาสาสมัครจำนวน 14 คนขึ้นเขาไปเก็บขยะรวมน้ำหนักกว่า 3 ตันลงมาจากเขา และในปีนี้ทางการยังสามารถเก็บขยะบนยอดเขาเอเวอเรสต์ได้หนักกว่า 11 ตัน
ทั้งนี้มีผู้เสียชีวิตจากการพิชิตยอดเขารวม 11 คน จากนักปีนเขาทั้งหมด 885 คน ดังนั้นภาครัฐจึงแนะนำว่านักปีนเขาควรมีประสบการณ์จากการพิชิตยอดเขาอื่นในเนปาลที่มีความสูงไม่น้อยกว่า 6,500 เมตร ก่อนจะได้รับอนุญาตให้ปีนขึ้นยอดเขาเอเวอเรสต์ได้ พร้อมกับเสนอให้ขึ้นค่าธรรมเนียมสำหรับการขึ้นยอดเขาเอเวอเรสต์จาก 11,000 ดอลลาร์สหรัฐ (338,657 บาท) เป็น 35,000 ดอลลาร์สหรัฐ (1,077,545 บาท) ด้วย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- edition.cnn.com/2019/08/22/asia/nepal-mount-everest-plastics-intl-hnk-trnds/index.html?utm_medium=social&utm_source=fbCNNi&utm_term=link&utm_content=2019-08-22T12%3A00%3A15
- economictimes.indiatimes.com/news/international/world-news/everest-region-bans-single-use-plastic/deadly-season/slideshow/70770537.cms
- www.bbc.com/news/world-asia-49419380