แม้กำลังซื้อลดลง แต่สินค้าพรีเมียมยังไปต่อได้ ‘นีโอ คอร์ปอเรท’ เจ้าของแบรนด์ดัง D-nee และ BeNice ที่ทำตลาดมากว่า 34 ปี เดินหน้าขยายไลน์โปรดักต์พรีเมียม ก่อนเตรียมตัวจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นำเงินลงทุนเพิ่มฐานการผลิตรับโอกาสตลาดทั้งในและต่างประเทศ
“ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราเริ่มพัฒนาสินค้าแบรนด์ D-nee และ BeNice ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ที่โดดเด่น ให้มีความพรีเมียมมากขึ้น พร้อมจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งสินค้าในเซกเมนต์พรีเมียมสามารถสร้างยอดขายได้เป็นอย่างดี สะท้อนให้เห็นว่าหลังโควิดไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป แต่ยังเลือกซื้อสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ ที่พรีเมียมและมีราคาเข้าถึงง่าย” สุทธิเดช ถกลศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นีโอ คอร์ปอเรท จำกัด (มหาชน) หรือ NEO กล่าว
ถึงกระนั้น เป้าหมายบริษัทของเราต้องการเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่าย FMCG แห่งนวัตกรรมของเอเชีย และเพิ่มส่วนแบ่งตลาดให้กับสินค้า จากนี้จะเน้นพัฒนาสินค้าที่เป็นฮีโร่โปรดักต์อย่าง D-nee และ BeNice ออกมาสู่ตลาดพรีเมียมมากขึ้น รวมถึงสินค้าแบรนด์อื่นๆ อย่าง fineline, Eversense,TROS, Vivite, Smart และ TOMI
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เงินเฟ้อเป็นเหตุ! นักการตลาดต้องปรับตัว เมื่อคนไทยลดค่าใช้จ่าย ลดความถี่ในการจับจ่าย และลดประเภทสินค้าที่ซื้อในตลาด FMCG
- แบรนด์ไหนบ้างฝ่าวิกฤตโควิด-19 จนเข้าไป ‘ยืนหนึ่ง’ ในใจของผู้บริโภคคนไทยได้
- 10 ปีที่ผ่านมา รายได้ครัวเรือนไทยยังโตต่ำกว่ารายจ่าย ส่วนกลุ่มสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้นสูงสุดคือ ‘แอลกอฮอล์และยาสูบ’
โดยทีมวิจัยจะใช้กลยุทธ์สร้างนวัตกรรมให้สินค้ามีนวัตกรรมที่โดดเด่นและแตกต่างจากผู้เล่นรายอื่นๆ ในตลาด ซึ่งในปี 2565 บริษัทออกผลิตภัณฑ์ใหม่กว่า 412 รายการ
อีกทั้งบริษัทไม่หยุดนิ่งในการมองหาโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ซึ่งตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา บมจ.นีโอ คอร์ปอเรท หรือ NEO ได้ยื่นแบบไฟลิ่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอขายหุ้น IPO เตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อนำเงินมาลงทุนเพิ่มฐานการผลิตสินค้า ขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ
หากกระบวนการทุกอย่างแล้วเสร็จจะทำให้บริษัทสามารถผลิตสินค้าป้อนตลาดทั้งในไทย และตลาดที่บริษัทส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ 16 ประเทศ เช่น ประเทศเวียดนาม กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา
ปัจจุบันกำลังการผลิตสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือนและกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล รวมทั้งหมดอยู่ที่ 229,296 ตันต่อปี (ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566) เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.86% ต่อปี จากเดิมที่ 142,800 ตันต่อปีในปี 2563
ยิ่งไปกว่านั้นจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดสินค้าอุปโภคมากขึ้น เพราะนับวันอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตจากภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว ไม่เพียงแต่ในประเทศไทย ในตลาดต่างประเทศก็มีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะ CLMV ซึ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ที่เปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ เข้าไปขยายตัวในภาคอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปี 2566 มีรายได้ 4,572.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.87% ส่วนกำไรสุทธิใน 6 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 339.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 172.15 ล้านบาท