×

10 ปีที่ผ่านมา รายได้ครัวเรือนไทยยังโตต่ำกว่ารายจ่าย ส่วนกลุ่มสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้นสูงสุดคือ ‘แอลกอฮอล์และยาสูบ’

21.07.2023
  • LOADING...

เรื่องค่าครองชีพแพงคงเป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่ทุกคนสัมผัสได้ โดยเฉพาะหลังช่วงโควิด จากอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก THE STANDARD WEALTH จึงอยากชวนมาดูความเคลื่อนไหวของรายได้และรายจ่ายโดยเฉลี่ยต่อครัวเรือน รวมถึงราคาสินค้าและบริการต่างๆ ย้อนหลังไป 10 ปี ตั้งแต่ปี 2555-2565 ที่จัดเก็บโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ว่าสินค้าและบริการที่เราบริโภคกันอยู่เป็นประจำมีราคาเป็นอย่างไร และรายได้ของเราเพิ่มขึ้นสอดคล้องไปกับราคาเหล่านั้นมากน้อยแค่ไหน

 

รายได้โตไม่ทันรายจ่าย 10 ปีที่ผ่านมาครัวเรือนไทยเก็บเงินได้น้อยลง

 

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนไทยตามข้อมูลของ สสช. แสดงให้เห็นการเพิ่มขึ้นแบบทบต้นเฉลี่ยปีละ 1.77% โดยปี 2565 ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนไทยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 22,372 บาทต่อเดือน จากเดิมที่ 18,766 บาทต่อเดือนในปี 2555

 

แต่ถ้าเรามาดูในฝั่งของรายได้ครัวเรือน 10 ปีที่ผ่านมานั้น จะพบว่ารายได้ของครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นแบบทบต้นอยู่ที่ 1.27% ต่อปี โดยในปี 2565 รายได้ครัวเรือนไทยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 28,063 บาทต่อเดือน ขยับขึ้นจาก 24,746 บาทต่อเดือนในปี 2555

 

ซึ่งหากเราเทียบอัตราการเติบโตต่อปีแล้วจะเห็นได้ว่ารายได้ (โตปีละ 1.27%) เพิ่มขึ้นต่ำกว่ารายจ่าย (โตปีละ 1.77%) ต่อครัวเรือนอยู่ถึง -0.5% ในแต่ละปี 

 

ทีนี้เราอยากลองเปรียบเทียบให้เห็นภาพจากตัวเลขในปี 2555 ที่รายได้ต่อครัวเรือนเท่ากับ 24,746 บาทต่อเดือน และค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนไทยอยู่ที่ 18,766 บาทต่อเดือน ความต่างของตัวเลขทั้งสองนี้กำลังบอกเราว่าครัวเรือนไทยมีรายได้มากกว่ารายจ่ายเป็นสัดส่วนที่ 31.9% หรือรายได้ทุกๆ 100 บาท ครัวเรือนก็จะมีเงินเหลือเก็บโดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 32 บาท ณ เวลานั้น

 

ตัดภาพมาจากปี 2555 ไปอีก 10 ปีที่ปี 2565 รายได้ต่อครัวเรือนในประเทศไทยขยับขึ้นมาอยู่ที่ 28,063 บาทต่อเดือน ในขณะที่ฝั่งค่าใช้จ่ายก็ขึ้นมาเป็น 22,372 บาทต่อเดือน ผลปรากฏว่าในปี 2565 ครัวเรือนไทยมีรายได้มากกว่ารายจ่ายอยู่ในสัดส่วนที่ 25.4%

 

เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี จากเดิมที่ครัวเรือนไทยเคยมีเงินเหลือเก็บจากรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายในปี 2555 ที่ 31.9% แต่เพราะค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงทำให้เงินเหลือเก็บของครัวเรือนไทยหดตัวลงมาเหลือเพียง 25.4% หรือโดยมูลค่าแท้จริงแล้ว เงินที่ได้เพิ่มขึ้นไม่สามารถตามราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงกว่ารายได้ไปกว่า 6.4% ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้คนเพราะต้องเลือกใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น

 

 

สินค้าจำเป็นอย่างอาหารและเครื่องดื่มยังคงเป็นกลุ่มที่ราคาเพิ่มขึ้นสูง

 

สำหรับความเคลื่อนไหวของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ตั้งแต่ปี 2555-2565 ค่าของดัชนีโดยรวมแล้วอยู่ที่ 12.8% แต่ถ้าเป็นด้านของเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักลบสินค้าประเภทพลังงานและอาหารสดออกไปจะอยู่ที่ 9.5%

 

แต่สำหรับกลุ่มสินค้าที่แบ่งเป็นหมวดหมู่ เราพบว่าข้อมูลที่เปิดเผยโดย สสช. ในช่วง 10 ปีนี้ มีกลุ่มสินค้าที่มีสัดส่วนราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุด 3 อันดับแรกจากทั้งหมด 10 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มของยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (เพิ่มขึ้น 39.2%) อาหารสด (เพิ่มขึ้น 23.8%) อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (เพิ่มขึ้น 22.7%)

 

ส่วนกลุ่มสินค้าที่เพิ่มขึ้นต่ำสุดเป็น 3 อันดับสุดท้ายในช่วงเวลานั้นคือ หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล (เพิ่มขึ้น 6.4%) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา และการศาสนา (เพิ่มขึ้น 4.3%) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า (เพิ่มขึ้น 2.8%)

 

 

จากข้อมูลดัชนีผู้บริโภคย้อนหลัง 10 ปี ข้อมูลชี้ว่าสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพที่เราต้องกินต้องใช้ในทุกวันนั้น มีอัตราการปรับขึ้นของราคาสูงกว่าสินค้าบางประเภทที่เราสามารถลดความต้องการใช้ได้ง่ายกว่า เช่น สินค้าและบริการที่ให้ความบันเทิง หรือแม้แต่เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มต่างๆ ดังนั้นนี่จึงอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่เงินเก็บของครัวเรือนลดลง หรือต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ทุกวันนี้อาหารการกินแพงขึ้น’ แต่สำหรับทางออกของปัญหานั้นก็เป็นอะไรที่คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า สถานการณ์ความขัดแย้งในโลกจะเป็นอย่างไร หรือภาครัฐจะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาระดับชาตินี้ตรงไหนอย่างไรได้บ้าง

 

หมายเหตุ:

  • เนื่องจากข้อมูล ‘รายได้โดยเฉลี่ยต่อเดือนต่อครัวเรือน’ จากสำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นการเก็บทุกๆ 2 ปี โดยตั้งแต่ปี 2550 จะมีชุดข้อมูลแค่ของปีที่ลงท้ายด้วยเลขคู่จนถึงปี 2564 ทำให้ตัวเลขค่าใช้จ่ายครัวเรือนของปี 2555 และ 2565 เป็นการประมาณค่าโดยใช้วิธีอ้างอิงกับการเติบโตของ GDP ในปีนั้นๆ
  • การเปลี่ยนแปลงของค่า CPI ในช่วงปี 2555-2565 สำนักงานสถิติแห่งชาติได้กำหนดให้ปี 2562 เป็นปีฐาน หมายความว่าการเปลี่ยนแปลงของดัชนีในแต่ละปีจะอยู่บนการเปรียบเทียบกับปีฐานนั่นก็คือปี 2562
  • หมวดเคหสถาน หมายถึงค่าใช้จ่ายด้านค่าเช่าบ้าน หรือวัสดุในการซ่อมแซมหรือตกแต่งที่อยู่อาศัย 

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising