×

Negative Bond Yield พันธบัตรผลตอบแทนติดลบที่ยังมีคนซื้อ

โดย SCB WEALTH
16.09.2019
  • LOADING...
พันธบัตร

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • พันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนติดลบ ไม่ใช่พันธบัตรที่เราซื้อแล้วต้องเอาดอกเบี้ยไปจ่ายให้กับผู้ออกพันธบัตร แต่มันคือพันธบัตรที่มีราคาแพงมาก และ ‘เงินที่เราจ่ายไปมากกว่ากระแสเงินที่จะได้มาทั้งหมดในอนาคต’ 
  • นักลงทุนที่ซื้อมักไม่ได้กะว่าจะถือจนครบกำหนดไถ่ถอน แต่ลงทุนเพื่อกะไปขายต่อทำกำไรในด้านส่วนต่างของราคา หรือเรียกง่ายๆ ว่ากลุ่มนักเก็งกำไรนั่นเอง
  • จากสถิติพบว่า มูลค่ารวมของพันธบัตรเยอรมนีลดลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2014 มีการออกพันธบัตรออกมาน้อย ส่วนปริมาณพันธบัตรที่ซื้อขายได้ในตลาดก็ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว

พันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีสุดแพง ผลตอบแทนติดลบกันครบทุกช่วงอายุพันธบัตร แล้วผลตอบแทนติดลบแบบนี้ทำไมยังมีคนซื้ออีกล่ะ

 

ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจกับคำว่า ‘พันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนติดลบ’ กันก่อน

 

พันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนติดลบไม่ใช่พันธบัตรที่เราซื้อแล้วต้องเอาดอกเบี้ยไปจ่ายให้กับผู้ออกพันธบัตร แต่มันคือพันธบัตรที่มีราคาแพงมาก มันเป็นราคาที่เราซื้อมา พอเอาไปเปรียบเทียบกับดอกเบี้ยที่ผู้ถือจะได้ในอายุที่เหลือของพันธบัตรรวมกับเงินต้นที่จะได้รับตอนครบกำหนด ปรากฏว่า ‘เงินที่เราจ่ายไปมันมากกว่ากระแสเงินที่จะได้มาทั้งหมดในอนาคต’

 

ยกตัวอย่างเช่น พันธบัตรมีราคาหน้าตั๋ว 10,000 บาท แต่ซื้อมาราคา 14,000 บาท มีอายุคงเหลือ 5 ปี ได้ดอกเบี้ยปีละ 500 บาท เท่ากับจะได้ดอกเบี้ยทั้งหมด 2,500 บาท รวมกับเงินต้นที่จะได้รับตอนครบกำหนดอีก 10,000 บาท เบ็ดเสร็จได้เงินทั้งหมด 12,500 บาท แต่เราลงทุนในพันธบัตรนี้ไป 14,000 บาท เท่ากับว่าขาดทุน 1,500 บาท นี่แหละคือที่มาของคำว่าพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนติดลบ

 

มาที่คำถามที่ว่า ซื้อแล้วได้ผลตอบแทนติดลบแล้วจะซื้อไปทำอะไร

 

กลุ่มแรกที่ซื้อพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนติดลบ อาจจะเป็นเพราะว่าเขาจำเป็นต้องซื้อ ไม่สามารถไปซื้อพันธบัตรอื่นได้ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และธนาคารกลางต่างๆ ในยุโรป

 

อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มนักลงทุนที่มองว่าการลงทุนในพันธบัตรแบบนี้ยังดีกว่าถือเงินสด 

 

ผู้อ่านก็คงจะงงว่า ถ้ามันให้ผลตอบแทนติดลบ ถือเงินสดยังดีกว่า แต่ว่านักลงทุนเหล่านี้ไม่ได้กะว่าจะถือจนครบกำหนดไถ่ถอนหรอก เขาลงทุนเพื่อกะไปขายต่อทำกำไรในด้านส่วนต่างของราคา หรือเรียกง่ายๆ ว่ากลุ่มนักเก็งกำไรนั่นเอง

 

กลับมาที่พันธบัตรเยอรมนี จากสถิติพบว่ามูลค่ารวมของพันธบัตรเยอรมนีลดลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2014 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่ารัฐบาลเยอรมนีค่อนข้างที่จะอนุรักษ์นิยม ไม่ค่อยยอมทำงบประมาณขาดดุล จึงทำให้มีการออกพันธบัตรออกมาน้อย ส่วนปริมาณพันธบัตรที่ซื้อขายได้ในตลาดก็ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว มีการคาดการณ์ว่าปริมาณพันธบัตรเยอรมนีจะลดลงต่ำว่า 70,000 ล้านยูโรในปี 2024 จากปริมาณที่มากกว่า 600,000 ล้านยูโรในปี 2014 ที่ผ่านมา

 

มีหลายปัจจัยที่ทำให้ปริมาณพันธบัตรเยอรมนีในตลาดปรับตัวลดลง อย่างเช่นสถาบันการเงินในยุโรป ที่ตั้งแต่วิกฤตทางการเงินในปี 2008 ต้องถือพันธบัตรในจำนวนที่มากเพื่อให้เข้าเกณฑ์ที่ถูกกำหนดมาให้ต้องถือ และทางธนาคารของเยอรมนีเองก็ต้องซื้อ ปัจจุบันธนาคารกลางเยอรมนีถือพันธบัตรมากกว่า 350,000 ล้านยูโร ซึ่งเป็นผลมาจากโครงการ QE ของ ECB หรือธนาคารกลางแห่งยุโรป

 

ล่าสุด ECB มีการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ในยุโรปจะต้องนำมาฝากกับทาง ECB ลง 0.1% มาอยู่ที่ -0.50% และได้คลอดโปรแกรม QE ออกมาอีกครั้งโดยจะเริ่มในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ในปริมาณเดือนละ 20,000 ล้านยูโร ซึ่งก็น่าจะทำให้พันธบัตรรัฐบาลเยอรมนียิ่งขาดแคลนเข้าไปใหญ่ 

 

ปัจจุบันรัฐบาลเยอรมนีอยู่ภายใต้แรงกดดันทางด้านเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งอาจจะส่งผลให้ทางรัฐบาลต้องออกพันธบัตรเพิ่มขึ้นในอนาคตเพื่อมาสนับสนุนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ก็อาจจะทำให้สภาพคล่องของพันธบัตรเยอรมนีปรับตัวสูงขึ้นได้

 

ปัจจุบันพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนติดลบหลักๆ อยู่ที่ยุโรป (ในประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนีเป็นหลัก) และประเทศญี่ปุ่นในประมาณที่ใกล้เคียงกัน ยุโรปอาจจะมากกว่าเล็กน้อย

 

ก็ถือว่าเป็นที่น่าประหลาดใจ พันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีที่ให้ผลตอบแทนติดลบกลับเป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งในแง่ของกฎระเบียบ รวมไปถึงความมั่นคงในระดับสูง จึงทำให้สภาพคล่องของพันธบัตรปรับตัวลดลงไปเรื่อยๆ เพราะคนที่ซื้อ ซื้อแล้วถือยาว สภาพคล่องจะหายจากตลาดไปเลย แต่ต่อให้ดีอย่างไรก็มีความเสี่ยงเช่นกัน ถ้าดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น (เป็นไปได้ยากมาก ณ ตอนนี้) จะทำให้ผู้ที่ถือพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนติดลบขาดทุนทันทีจากส่วนต่างของราคา

 

* 6 เดือนที่ผ่านมา ราคาของพันธบัตรเยอรมนีอายุ 10 ปีแบบไม่จ่ายดอกเบี้ย หรือ Zero Coupon Bond ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.34% อายุ 20 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 21.6% อายุ 30 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 24.36%

 

ณ วันที่ 12 กันยายน 2019 พันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนติดลบอยู่ที่ระดับ 14.6 ล้านล้านเหรียญ ลดลงจากจุดสูงสุดในเดือนที่ผ่านมาที่ 17 ล้านล้านเหรียญ แต่เพิ่มขึ้นจากเมื่อสิ้นปี 2018 ที่อยู่ในระดับ 8.3 ล้านล้านเหรียญ *

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X