×

กสทช. กวาดล้างวิทยุสื่อสารเถื่อนกว่า 2 หมื่นเครื่อง มูลค่ากว่า 20 ล้านบาท พร้อมขยายผลสอบเส้นทางการนำเข้า

โดย THE STANDARD TEAM
07.07.2025
  • LOADING...
เจ้าหน้าที่ กสทช. ตรวจยึดวิทยุสื่อสารเถื่อนกว่า 2 หมื่นเครื่องย่านพระราม 2

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดย ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยถึงปฏิบัติการล่าสุดที่นำทีมพระพาย สนธิกำลังกับตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.), กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต 

 

บุกตรวจค้นบริษัทและบ้านพักย่านพระราม 2 พบวิทยุคมนาคมยี่ห้อ Motorola จำนวนกว่า 20,000 เครื่อง มูลค่ารวมประมาณ 20 ล้านบาท พร้อมอุปกรณ์กระจายสัญญาณ WiFi ที่ละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานจาก กสทช. รวมถึงสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์อื่นๆ

 

การจับกุมครั้งนี้พบการกระทำผิดตามกฎหมาย 4 ฉบับ ได้แก่

 

  1. พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498: ฐานนำเข้า มี และจำหน่ายวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต
  2. พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534: ฐานปลอมเครื่องหมายการค้า
  3. ประมวลกฎหมายอาญา (พ.ร.บ.ปลอมแปลงเอกสารราชการ พ.ศ. 2499): ฐานปลอมแปลงเอกสารของสำนักงาน กสทช.
  4. พ.ร.บ.เครื่องหมายราชการ พ.ศ. 2482: ฐานปลอมแปลงสติกเกอร์ กสทช.

 

ของกลางทั้งหมดถูกนำส่งสถานีตำรวจท่าข้ามเพื่อดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด เนื่องจากเป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่ถูกต้องและหลอกลวงประชาชนให้ซื้อสินค้าผิดกฎหมาย ซึ่งสร้างความเสียหายในวงกว้าง

 

จากการสอบสวนเบื้องต้น ผู้ต้องหาอ้างว่ารับซื้อวิทยุสื่อสารมาจากบริษัทอีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย โดยมีเอกสารรับส่งสินค้าประกอบ จากนี้ กรมศุลกากรจะเข้าตรวจสอบบริษัทต้นทางดังกล่าว หากพบว่าไม่มีหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากร บริษัทต้นทางและบริษัทที่ถูกจับกุมวันนี้อาจมีความผิดฐานรับซื้อของที่ลักลอบหรือหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็น 4 เท่าของราคาสินค้า

 

ด้านกรมสรรพสามิตระบุว่า การจับกุมครั้งนี้ยังเข้าข่ายความผิดฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งสินค้าที่มิได้เสียภาษี ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 โดยมีอัตราโทษปรับตั้งแต่ 5-15 เท่าของค่าภาษีที่คำนวณจากราคาสินค้าขายปลีกแนะนำ

 

ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นผลงานต่อเนื่องจากเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ทีมพระพายเคยเข้าตรวจสอบและจับกุมผู้จำหน่ายโทรศัพท์มือถือที่ไม่ได้มาตรฐานจาก กสทช. เกือบ 10,000 เครื่อง มูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท 

 

โดยพบการหลอกลวงประชาชนว่าสินค้าสามารถรับสัญญาณ 5G ได้ ทั้งที่จริงไม่สามารถทำได้ และยังมีการปลอมแปลงตราครุฑของสำนักงาน กสทช. ซึ่งสินค้าเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่มีหน้าร้านและขายผ่านช่องทางออนไลน์

 

ไตรรัตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การเข้าจับกุมผู้ขายวิทยุสื่อสารและอุปกรณ์สื่อสารที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่เพียงแค่ดูแลความปลอดภัยและช่วยให้ประชาชนไม่ถูกหลอกซื้อสินค้าปลอม แต่ยังเป็นการปกป้องผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าถูกกฎหมาย ให้สามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม และทำให้รายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างถูกต้อง

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising