ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยวันนี้ (10 มิถุนายน) ว่าที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500-2690 เมกะเฮิรตซ์ ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) โดยมีมติดังนี้
- การกำหนดระยะเวลาการถือครองคลื่นความถี่ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เพื่อใช้กำหนดค่าทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ ให้นับเอาระยะเวลาตั้งแต่วันที่ กสทช. มีมติให้คืนคลื่นความถี่จนถึงวันที่ 3 เมษายน 2565 เป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปี รวมกับระยะเวลาการพิจารณาสิทธิ์ในการใช้งานคลื่นความถี่ดังกล่าว ที่ทำให้บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ขาดความชัดเจนในสิทธิ์การใช้งานคลื่นความถี่ดังกล่าว
โดยเป็นห้วงเวลาตั้งแต่วันที่แผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่มีผลบังคับใช้ (20 เมษายน 2555) ถึงวันที่บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้รับทราบสิทธิ์การใช้งานคลื่นความถี่ดังกล่าว (23 กันยายน 2558) เป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปี 5 เดือน รวมทั้งสองช่วงเวลาเป็นระยะเวลาประมาณ 6 ปี 5 เดือน มูลค่าของการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนจำนวน 3,235,836,754.93 บาท
- รับทราบและให้ อสมท ปฏิบัติตามหนังสือของ อสมท ที่ นร 6100/1250 ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ต่อไป
- มอบหมายให้สำนักงานดำเนินการจ่ายเงินให้กับ อสมท ตามข้อ 2 และตามเงื่อนไขของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ได้ศึกษาเรื่องนี้
ฐากรกล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. ยังได้พิจารณาเรื่องการสนับสนุนสถานพยาบาลและโรงพยาบาลของรัฐสู้โควิด-19 เพื่อให้การช่วยเหลือภาครัฐได้ทันท่วงทีและมากที่สุด จึงเห็นควรมีมติอนุมัติให้หน่วยงานหรือส่วนราชการที่มีภารกิจสนับสนุนการด้านสาธารณสุขสามารถยื่นขอรับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานของสถานพยาบาลและโรงพยาบาลของรัฐเพื่อต่อสู้สถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ได้ จากเดิมที่ให้โรงพยาบาลและสถานพยาบาลของรัฐเป็นผู้ขอเท่านั้น โดยที่ประชุม กสทช. ได้อนุมัติงบประมาณสนับสนุนสถานพยาบาลและโรงพยาบาลภาคสนามของรัฐสู้สถานการณ์ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 อีกจำนวน 62 แห่ง (63 โครงการ) วงเงินรวม 149.811 ล้านบาท
ซึ่งหลังจากนี้โรงพยาบาลและสถานพยาบาลของรัฐยังสามารถขอรับการสนับสนุนเข้ามาได้ที่ กสทช. โดยตรง จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดย กสทช. จะรีบพิจารณาโครงการเพื่ออนุมัติเงินสนับสนุนให้ทันต่อสถานการณ์ เพื่อต่อสู้กับไวรัสโคโรนา 2019
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า