คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เห็นชอบเดินหน้าประมูล 5G ทั้ง 4 คลื่นความถี่ ได้แก่ 700 MHz, 1800 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz พร้อมผ่านมติ Single Rate เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้มือถือและประโยชน์สาธารณะ และให้ผู้ประกอบการลดอัตราค่าบริการมือถือ พัฒนาคุณภาพสัญญาณและบริการ รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในการรักษาเบอร์มือถือ
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า วันนี้ (24 ธันวาคม) ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบให้นำคลื่นความถี่ 4 ย่านเพื่อนำไปประมูลเปิดให้บริการ 5G โดยเป็นการประมูลครั้งละคลื่นความถี่ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ด้วยรูปแบบ Clock Auction โดยให้สำนักงาน กสทช. กำหนดระยะเวลาการ Mock Auction ให้เหมาะสมเพื่อให้ผู้เข้าร่วมการประมูลมีความเข้าใจ และคุ้นเคยกับระบบการประมูล
ทั้งนี้มติที่ประชุม กสทช. ข้างต้นได้นำเอาความคิดเห็นที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคม ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่ได้แสดงความคิดเห็นในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะมาพิจารณา ซึ่งมติดังกล่าวคำนึงการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรมในการประกอบกิจการโทรคมนาคม และประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก
โดยที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 5G จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่
1. ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการเคลื่อนที่สากล ย่าน 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz
2. ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications: IMT) ย่านความถี่ 2500-2680 เมกะเฮิรตซ์
3. ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications: IMT) ย่านความถี่ 24.25-27.0 กิกะเฮิรตซ์ รวมถึงผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และให้นำไปประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป พร้อมทั้งเห็นชอบร่างเอกสารสรุปข้อสนเทศ (Information Memorandum) การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 700 MHz, 1800 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz รวมถึงเห็นชอบกรอบระยะเวลาประมูลคลื่นความถี่ตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอ
โดยคาดว่าร่างประกาศทั้ง 3 ฉบับจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาได้ในวันที่ 27 ธันวาคม 2562 ตามกรอบระยะเวลาการประมูลที่วางไว้ ทำให้ กสทช. สามารถจัดการประมูล 5G ได้ ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ตามแผนการที่วาง ซึ่งคาดว่าจะออกใบอนุญาตได้ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และผู้รับใบอนุญาตสามารถเริ่มติดตั้งโครงข่ายได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ซึ่งถ้าเป็นไปตามแผนคาดว่า ในเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม 2563 จะสามารถเปิดให้บริการในพื้นที่ EEC ย่านใจกลางเมือง ซึ่งการเปิดให้บริการดังกล่าวจะใกล้เคียงกับการเปิดบริการ 5G ของประเทศญี่ปุ่นที่มีกำหนดเปิดให้บริการในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในเดือนกรกฎาคม 2563
ฐากรกล่าวว่า “คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz จำนวนคลื่นความถี่ที่นำมาประมูล 15 MHz แบ่งออกเป็น 3 ชุดคลื่นความถี่ ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถประมูลได้สูงสุดประมูล 3 ชุด ราคาเริ่มต้นการประมูล 8,792 ล้านบาทต่อชุด เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 440 ล้านบาท การชำระเงินค่าประมูลแบ่งเป็น 10 งวด งวดละ 10% โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูล 2,637.60 ล้านบาท ค่าปรับต่อชุด 1,319 ล้านบาท กรณีไม่มาชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่
“คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จำนวนคลื่นความถี่ที่นำมาประมูล 35 MHz แบ่งออกเป็น 7 ชุดคลื่นความถี่ ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถประมูลได้สูงสุดประมูล 4 ชุด ราคาเริ่มต้นการประมูล 12,486 ล้านบาทต่อชุด เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 25 ล้านบาท การชำระเงินค่าประมูลแบ่งเป็น 3 งวด งวดที่ 1 ชำระ 50% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2 ชำระ 25% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 3 ชำระ 25% ของราคาที่ชนะการประมูล โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูล 4,994.40 ล้านบาท ค่าปรับต่อชุด 1,873 ล้านบาท กรณีไม่มาชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ โดยผู้ชนะการประมูลต้องมีการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 40% ของประชากรภายใน 4ปี และ 50% ของประชากรภายใน 8 ปี
“สำหรับคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz จำนวนคลื่นความถี่ที่นำมาประมูล 190 MHz แบ่งออกเป็น 19 ชุดคลื่นความถี่ ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถประมูลได้สูงสุดประมูล 10 ชุด ราคาเริ่มต้นการประมูล 1,862 ล้านบาทต่อชุด เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 93 ล้านบาท การชำระเงินค่าประมูลแบ่งเป็น 7 งวด โดยงวดที่ 1 ชำระ 10% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2-7 (ปีที่ 5-10) ชำระ 15% ของราคาที่ชนะการประมูล โดยผู้ชนะการประมูลต้องมีการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 50% ของพื้นที่ EEC ภายใน 1 ปี และครอบคลุม 50% ของจำนวนประชากรของ Smart City ภายใน 4 ปี โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูล 1,862 ล้านบาท ค่าปรับต่อชุด 280 ล้านบาท กรณีไม่มาชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่
“คลื่นความถี่ย่าน 26 GHz จำนวนคลื่นความถี่ที่นำมาประมูล 2700 MHz แบ่งออกเป็น 27 ชุดคลื่นความถี่ ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถประมูลได้สูงสุดประมูล 12 ชุด ราคาเริ่มต้นการประมูล 423 ล้านบาทต่อชุด เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 22 ล้านบาท กำหนดการชำระเงินค่าประมูลงวดเดียว โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูล 507.60 ล้านบาท ค่าปรับต่อชุด 64 ล้านบาท กรณีไม่มาชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่”
เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า นอกจากนั้นที่ประชุม กสทช. ยังมีมติการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคมให้เป็นอัตราเดียว (Single Rate) ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการและประโยชน์สาธารณะ เนื่องจาก กสทช. กำหนดให้สำนักงาน กสทช. มีหนังสือถึงผู้ประกอบการให้ปรับลดอัตราค่าบริการหรือให้มีการพัฒนาการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการอันเกิดจากประโยชน์ที่ได้รับจากการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเลขหมายใหม่ต่อไป เช่น การปรับลดค่ารักษาเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ดังนี้
1. รับทราบสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนเลขหมายโทรคมนาคม และ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม
2. เห็นชอบให้มีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคมให้เป็นอัตราเดียว (Single Rate) โดยกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์ประจำที่ (โทรศัพท์บ้าน) ในอัตรา 1 บาท/เลขหมาย/เดือน และกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเลขหมายสำหรับบริการโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้กำหนดอัตรา 1.50 บาท/เลขหมาย/เดือน โดยให้มีผล ณ วันที่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้
ทั้งนี้ สำหรับผู้ได้รับการจัดสรรเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ถือครองเลขหมายไม่เกิน 5 ล้านเลขหมาย ณ วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับให้สามารถหักเงินที่ชำระค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่อันเกิดจากผลกระทบจากการปรับอัตราค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคมได้เป็นระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ประกาศในเรื่องนี้มีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ ตามแนวทางที่สำนักงาน กสทช. จะกำหนดต่อไป
และให้นำ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พร้อมทั้งเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนเลขหมายโทรคมนาคม และ (ร่าง) ประกาศ กสทช เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม นำไปประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า