×

ไอดอล, ศิลปิน, การเมือง หลากหลายเส้นทางที่โคจรมาบรรจบกันของคนคูล แคน นายิกา

13.01.2021
  • LOADING...
ไอดอล, ศิลปิน, การเมือง หลากหลายเส้นทางที่โคจรมาบรรจบกันของคนคูล แคน นายิกา

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เหล่าแฟนคลับวงการไอดอลน่าจะได้เห็นภาพของ แคน-นายิกา ศรีเนียน อดีตสมาชิกวง BNK48 รุ่นที่ 1 ปรากฏตัวในสถานที่ชุมนุมของคณะราษฎรอยู่บ่อยครั้ง และภาพที่เธอได้รับเชิญไปร่วมพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองตามหน้าสื่อต่างๆ รวมถึงภาพถ่ายที่เธอได้ลงพื้นที่ตามชุนชนร่วมกับสมาชิกพรรคก้าวไกล 

 

จนกระทั่งวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา เธอได้โพสภาพของตัวเองที่กำลังใส่ชุดของพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ณ เวลานี้ เธอได้ก้าวเข้าสู่เส้นทางสายการเมืองอย่างเต็มตัว 

 

จากสถานะสมาชิกไอดอลกรุ๊ปชื่อดังสู่สถานะสมาชิกพรรคการเมือง ดูจะเป็น ‘เส้นทาง’ ที่ไม่น่าจะโคจรมาบรรจบกันได้เลยแม้แต่น้อย แต่สำหรับหญิงสาวผู้ไม่เคยหยุดเรียนรู้คนนี้ก็ได้พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่า การเมืองคือเรื่องของทุกคน

 

THE STANDARD POP จึงอยากเชิญชวนทุกคนไปร่วมย้อนชมการเดินทางของ ‘แคนแคนคนคูล’ จากก้าวแรกบนเส้นทางสาย ‘ไอดอล’ ที่ทำให้ทุกคนรู้จักชื่อของเธอ ก่อนที่จะถอนตัวออกมาสร้างสรรค์ผลงานที่ถ่ายทอดตัวตนในฐานะ ‘ศิลปินอิสระ’ และก้าวเข้าสู่เส้นทางสาย ‘การเมือง’ ด้วยปณิธานอันแรงกล้าที่อยากจะเปลี่ยนแปลงประเทศของตนเองให้ดียิ่งขึ้น

 

แคน ในรอบออดิชัน จากรายการ BNK48 Senpai

 

บนเส้นทางสาย ‘ไอดอล’

 

หากจะกล่าวถึงวันแรกที่ทำให้ใครหลายคนรู้จักชื่อของ แคน-นายิกา ศรีเนียน เราคงจะต้องเริ่มต้นจากวันแรกที่เธอได้ก้าวเข้าสู่ ‘เส้นทางสายไอดอล’ 

 

ย้อนกลับไปในปี 2560 แคนคือหนึ่งในหญิงสาวผู้พกความฝันที่อยากจะเป็นศิลปินไว้ในกระเป๋า และก้าวเข้าสู่ห้องออดิชันเพื่อคัดเลือกสมาชิก BNK48 รุ่นที่ 1 โดยเธอปรากฏตัวพร้อมกับกีต้าร์โปร่งตัวเก่งและหยิบเพลง Officially Missing You ของ Tamia มาโชว์ให้เหล่าคณะกรรมการได้ดื่มด่ำไปกับบทเพลง ก่อนที่เธอจะสร้างสีสันด้วยการลุกขึ้นมาเต้นเพลงเชียร์ของมหาวิทยาลัย และด้วยเสียงร้องพร้อมมนต์เสน่ห์อันมีเอกลักษณ์ ก็ส่งให้เธอผ่านเข้ารอบสุดท้ายและได้รับเลือกให้เป็นในสมาชิกรุ่นที่ 1 ในที่สุด

 

แคนถือเป็นหนึ่งในสมาชิก BNK48 ที่มีไลฟ์สไตล์และความสามารถทางด้านดนตรีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ จนได้รับฉายาจากแฟนคลับว่า ‘แคนแคนคนคูล’ เธอจึงค่อยๆ สร้างฐานแฟนคลับและเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ ควบคู่ไปกับการหมั่นฝึกฝนทักษะการร้องและการเต้น ทั้งหมดนี้จึงส่งให้เธอได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในเซ็มบัตสึ 16 คนแรกในซิงเกิลเดบิวต์ของ BNK48 อย่าง Aitakatta (อยากจะได้พบเธอ)

 

ตลอดระยะเวลาร่วม 1 ปีเศษ แคนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของ BNK48 อย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่การแสดงบนเธียเตอร์ในฐานะสมาชิกทีม BIII, ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในเซ็มบัตสึซิงเกิลรองอย่าง Namida Surprise! (ประกายน้ำตาและรอยยิ้ม) และ ซิงเกิลหลักอัลบั้มชุดที่ 1 ในชื่อ RIVER, ร่วมการแสดงคอนเสิร์ตเต็มรูปแบบครั้งแรกของวงในชื่อ BNK48 1st Concert STARTO และภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรกของวงอย่าง Girls Don’t Cry (2561)

 

ภาพประกอบโดย: https://www.facebook.com/bnk48official

 

จนกระทั่งวันที่ 5 สิงหาคม 2561 แคนได้ตัดสินใจประกาศจบการศึกษาจาก BNK48 ในช่วงการแสดงบนเธียเตอร์ โดยมีกิจกรรมส่งท้ายคือ พิธีปลดรูปและการแสดงสเตจจบการศึกษา หรือ Can’s Graduation Stage ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 26 สิงหาคม 2561

 

ภาพประกอบโดย: https://www.facebook.com/cannayika97

 

กลับมานะ ซิงเกิลแรกในฐานะศิลปินอิสระของแคน

 

บนเส้นทางสาย ‘ศิลปินอิสระ’

 

เมื่อเส้นทางสายไอดอลสิ้นสุด แคนก็ได้มุ่งหน้าสู่เส้นทาง ‘ศิลปินอิสระ’ อย่างเต็มตัว โดยในเดือนกันยายน 2561 แคนได้ออกซิงเกิลแรกในฐานะศิลปินเดี่ยวในชื่อ กลับมานะ ซึ่งเธอแต่งเนื้อร้องและทำนองด้วยตัวเอง (อ่านบทสัมภาษณ์: แคน นายิกา กับการเดินทางทำสิ่งที่รัก ด้วยความต้องการของตัวเองจริงๆ ต่อได้ที่ https://thestandard.co/can-nayika/)

 

ก่อนที่จะปล่อยซิงเกิลที่ 2 อย่าง สุดท้ายก็เธอ และซิงเกิลที่ 3 ในชื่อ Line โดยซิงเกิลนี้แคนได้มีโอกาสร่วมฟีเจอริงกับศิลปินต่างประเทศอย่าง ไค ทาคาฮาชิ นักร้องนำวง LUCKY TAPES จากญี่ปุ่น อีกทั้งยังได้ แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข ศิลปินหนุ่มอารมณ์ดีมารับหน้าที่แต่งเนื้อร้องอีกด้วย รวมถึงผลงานที่เธอได้มีโอกาสไปร่วมฟีเจอริงกับศิลปินไทยคนอื่นอย่าง Atee ในเพลง แค่ได้รัก และ QLER ในเพลง ขอดาว (IMPLORE)

 

แคน ร่วมแสดงดนตรีในงาน 101 LOVE เทศกาลรักเกินร้อย

 

 

แคนยังได้รับโอกาสร่วมแสดงในงานเทศกาลดนตรีอยู่บ่อยครั้ง เช่น Cat Expo 5, 101 LOVE เทศกาลรักเกินร้อย, Cat Foodival 5 ฯลฯ ก่อนที่เธอจะจัดงานแฟนมีตครั้งแรกของตัวเองในชื่อ Can We Meet? Can Nayika 1st Fan Meeting & Concert เพื่อให้แฟนๆ มาร่วมทำกิจกรรมและชมการแสดงอย่างใกล้ชิดในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2562 (อ่านบทความ: Can We Meet? แคน นายิกา กับงานมีตครั้งแรก เพลงใหม่ และ “ขอบคุณที่ยังคงรักกันตลอดมา” ต่อได้ที่ https://thestandard.co/can-we-meet-can-nayika-1st-fanmeeting-concert/)

 

ภาพประกอบโดย: https://www.facebook.com/cannayika97

 

ในระหว่างที่แคนกำลังมุ่งหน้าสู่เส้นทางสายศิลปินอิสระ เธอก็ยังคงเข้าร่วมเป็นจิตอาสาและลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้คนในชุมชนอยู่เป็นระยะๆ เช่น ร่วมทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มอาสาสมัคร เพื่อนำข้าวสาร อาหารแห้ง และยา มาแจกให้ครอบครัวตามชุมชนริมทางรถไฟที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 พร้อมเชิญชวนผู้ที่มีกำลังทรัพย์ร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือตามโรงพยาบาลและมูลนิธิ หรือบริจาคสิ่งของเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนที่ได้กำลังเดือดร้อน

 

ภาพประกอบโดย: https://www.facebook.com/cannayika97

 

บนเส้นทางสาย ‘การเมือง’

 

อีกหนึ่งบทบาทสำคัญที่ทำให้แคนเริ่มเป็นที่กล่าวถึงในปี 2563 คือการออกมาแสดงทัศนะทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมาผ่านโซเชียลมีเดียของตัวเอง พร้อมทั้งการออกมาร่วมการชุมนุม และเข้าร่วมการเสวนาและกิจกรรมเกี่ยวกับการเมืองอย่างไม่ขาดสาย

 

แคนร่วมงานเสวนา วัฒนธรรมไอดอลในบริบทสังคมไทย 

 

เริ่มต้นที่แคนได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานเสวนา วัฒนธรรมไอดอลในบริบทสังคมไทย ที่จัดขึ้นโดย สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) ซึ่งเธอได้นำประเด็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของศิลปินไอดอลมาร่วมพูดคุยในครั้งนี้ 

 

รายการ Can I ask? (ถามได้มั้ย) 

 

 

แคน และ Lukpeach ร่วมส่งคลิปการแสดงดนตรีไร้เสียงในโปรเจกต์ Unmute People

 

ภาพประกอบโดย: https://www.facebook.com/cannayika97

 

สร้างสรรค์รายการของตัวเองในชื่อ Can I ask? (ถามได้มั้ย) ที่ทำขึ้นมาเพื่อศึกษาความเป็นไปของสังคมไทยในยุคปัจจุบัน โดยเชิญชวน พลอย-เบญจมาภรณ์ นิวาส หนึ่งในสมาชิกกลุ่มนักเรียนเลว มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับแคมเปญ #เลิกบังคับหรือจับตัด ที่สะท้อนประเด็นกฏระเบียบการไว้ทรงผมภายในโรงเรียน เพื่อให้ผู้ชมมาร่วมรับฟังแนวคิดและวัตถุประสงค์ของแคมเปญ

 

แคนยังเป็นหนึ่งศิลปินไทยที่เข้าร่วมโปรเจกต์ Unmute People เทศกาลดนตรีออนไลน์ที่เหล่าศิลปินไทยกว่า 60 ชีวิตจะมาร่วมแสดงดนตรีของพวกเขาแบบไร้เสียง เพื่อเรียกร้องให้รัฐเข้าใจและให้สิทธิเสรีภาพกับเสียงของประชาชน โดยในโปรเจกต์นี้แคนได้ร่วมฟีเจอริงกับ Lukpeach หรือ ลูกพีช-รพีพร ตันตระกูล (อ่านบทความ: Unmute People โปรเจกต์ที่ศิลปินไทยกว่า 60 ชีวิตโพสต์คลิปดนตรี ‘ไร้เสียง’ เรียกร้องให้เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน ต่อได้ที่ https://thestandard.co/unmute-people-thai-artist-project/)

 

นอกจากนี้แคนยังเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนร่วมที่จัดหา เป็ดเหลือง หนึ่งในสัญลักษณ์ทางการเมืองจากกลุ่มราษฎรที่ถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่องในที่ชุมนุมอีกด้วย

 

ภาพประกอบโดย: https://www.facebook.com/mfpbkk14/

 

ภาพประกอบโดย: https://www.facebook.com/cannayika97

 

ในช่วงเดือนพฤศิจกายน 2563 แคนตัดสินใจลงเล่นการเมืองอย่างเต็มตัว ด้วยการสมัครเป็นหนึ่งในสมาชิกพรรคก้าวไกล และร่วมลงพื้นที่ในเขตบึงกุ่ม-คันนายาว เพื่อรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละชุมชน และประสานงานกับภาครัฐให้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ 

 

และหนึ่งในหัวข้อที่ทำให้ชื่อของแคนได้รับการกล่าวถึงอย่างมากในช่วงเดือนธันวาคม 2563 คือการนั่งตำแหน่งที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการศึกษาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมและอีสปอร์ต เพื่อร่วมศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นและผลักดันให้วงการเกมไทยก้าวหน้ายิ่งขึ้น พร้อมทั้งเป็นกระบอกเสียงให้ผู้คนได้ตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ที่ประเทศจากได้รับจากวงการเกมไทยอีกด้วย

 

สำหรับใครที่อยากทำความรู้จักและรับฟังมุมมองความคิดของแคนมากยิ่งขึ้น เราขอเชิญชวนให้ลองรับชมบทสัมภาษณ์ของเธอในรายการ THE STANDARD Daily ได้ที่

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising