วันนี้ (17 พฤษภาคม) ที่ สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม ถนนราชดำเนิน ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมงานรำลึก 33 ปี เหตุการณ์ พฤษภาคม 2535 ได้วางพวงมาลาและกล่าวสดุดีวีรชน พร้อมเสนอบทเรียน 3 ประการที่ยังเป็นวาระสำคัญในการสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็งในสังคมไทย และเรียกร้องให้นักการเมืองดำรงตนเป็นแบบอย่างเพื่อรักษาศรัทธาของประชาชนต่อระบบรัฐสภา
ณัฐพงษ์ระบุว่า ตนเองเกิดในปี 2530 และเป็นตัวแทนของคนอีกรุ่นที่ผ่านการรัฐประหารมา 3 ครั้ง (ปี 2534, 2549 และ 2557) การจัดงานรำลึกทุกปีเป็นส่วนหนึ่งของการย้ำเตือนและส่งมอบเมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยสู่คนรุ่นถัดไป
3 บทเรียนสำคัญจากเหตุการณ์พฤษภา 35 ที่ยังคงเป็นวาระที่ต้องร่วมกันแก้ไขให้สำเร็จในปัจจุบัน ได้แก่
- การยอมรับกติกาประชาธิปไตยร่วมกัน: ณัฐพงษ์ชี้ว่า หลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 สังคมไทยมีฉันทามติในการสร้างระบบการเมืองที่นำไปสู่รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งถือเป็นฉบับที่ดีที่สุดฉบับหนึ่ง เช่นเดียวกับปัจจุบันที่สังคมไทยมีฉันทามติผ่านการเลือกตั้ง 2566 ว่าต้องการออกจากวงจรสืบทอดอำนาจ ลบล้างผลพวงรัฐประหาร และมีประชาธิปไตยเต็มใบ แต่จนถึงวันนี้ การแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้
- นำคณะรัฐประหารเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม: ผู้นำฝ่ายค้านย้ำว่า นับตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภา 2535 ยังไม่เคยมีการไต่สวนหรือนำผู้กระทำผิดมารับผิดชอบ ทั้งยังมีการออกกฎหมายลบล้างความผิด มองว่าจำเป็นต้องสร้างวัฒนธรรมการนำคณะรัฐประหารทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และศึกษาข้อเท็จจริงในอดีตเพื่อเป็นบทเรียนป้องกันอนาคต
- ความกล้าหาญในการปฏิรูปกองทัพ: ณัฐพงษ์เรียกร้องให้รัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพอย่างแท้จริง ให้กองทัพตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และปิดประตูการรัฐประหาร เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการแทรกแซงการเมืองโดยกองทัพอีก
ณัฐพงษ์เน้นย้ำว่า สิ่งที่น่ากลัวกว่าการรัฐประหารคือการสูญเสียความเชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชนต่อนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งและระบบรัฐสภา
“เมื่อใดก็ตามที่ประชาชนเลิกเชื่อมั่นศรัทธาต่อประชาธิปไตย นั่นคือจุดจบที่จะไม่สามารถปลูกต้นไม้ประชาธิปไตยในประเทศนี้ได้อีก” ณัฐพงษ์กล่าว
ณัฐพงษ์กระตุ้นให้สังคมตั้งคำถามว่าโฉมหน้ารัฐบาลปัจจุบันสะท้อนเจตจำนงของประชาชนกว่า 80% ที่ลงคะแนนให้พรรคการเมืองที่ไม่ได้สืบทอดอำนาจจาก คสช. ในการเลือกตั้งปี 2566 แล้วหรือไม่ และจะทำอย่างไรเพื่อปกป้องศรัทธาของประชาชนต่อระบอบประชาธิปไตย
“ตนเชื่อว่าสิ่งที่จะทำให้ประชาชนยังคงเชื่อมั่นศรัทธาต่อประชาธิปไตย คือนักการเมืองจะประพฤติตัวอย่างไรให้เป็นแบบอย่าง ทำอย่างไรให้ประชาชนเชื่อมั่นว่านักการเมืองสัญญาอะไรไว้ก็ทำแบบนั้น การเข้าสู่อำนาจการเมืองเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม” ณัฐพงษ์ให้คำมั่นว่าจะยึดมั่นในหลักการดังกล่าว และทิ้งท้ายด้วยการเรียกร้องให้ทุกฝ่าย “ช่วยกันดำรงตนให้เป็นแบบอย่างและปกป้องเชิดชูศรัทธาของประชาชนต่อระบอบประชาธิปไตยให้ดำรงอยู่ต่อไป”