×

ณัฐพงษ์ตั้งกระทู้จี้รัฐบาล ขอความชัดเจนกระจายอำนาจแก้ปัญหาฝุ่น เพื่อไทยชูกระจายอำนาจ แต่นโยบายกลับสวนทาง

โดย THE STANDARD TEAM
30.01.2025
  • LOADING...

วันนี้ (30 มกราคม) ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ตั้งกระทู้ถามต่อนายกรัฐมนตรี กรณีการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) และการกระจายอำนาจ โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้ตอบกระทู้แทน

 ณัฐพงษ์กล่าวว่า การถามกระทู้ชี้ให้เห็นว่าจากการปฏิบัติที่ผ่านมาของรัฐบาลเพื่อไทยที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่สมัยรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน มาจนถึงรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร มีการผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปทั้งหมด 24 ครั้ง มีข้อสั่งการ 43 ครั้ง และมีการให้ข่าวสารเกี่ยวกับการจัดการถึง 71 ครั้ง แต่จากตัวชี้วัดที่รัฐบาลเพื่อไทยตั้งขึ้นเองในปี 2567 ผลปรากฏว่าตกเป้าทุกตัวชี้วัด โดยเฉพาะที่ระบุว่าจะลดพื้นที่การเผาไหม้ให้ได้ 50%
 
รัฐบาลทราบดีอยู่แล้วว่าสถานการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5 หนักหน่วงมากขึ้นและมีที่มาจากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นข้ามพรมแดน ฝุ่นจากไร่นา ฝุ่นจากไฟป่า และฝุ่นในเมือง ซึ่งวันนี้ตนจะขออภิปรายถึงเฉพาะฝุ่นจากไฟป่าและในเมือง ซึ่งเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และการกระจายอำนาจโดยตรง
 
ณัฐพงษ์กล่าวต่อไปว่า กรณีของไฟป่า นายกรัฐมนตรีให้ข่าวไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่ามีการจัดสรรงบกลางไปแล้วกว่า 620 ล้านบาท มีการตั้งพื้นที่ 14 กลุ่มป่าเป้าหมาย แต่วันนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะจัดการไฟป่าอย่างไรในพื้นที่นอก 14 กลุ่มป่า เช่น นครราชสีมา ลพบุรี ชัยนาท และชลบุรี ที่มีปัญหาไฟป่าเช่นกัน
 
ส่วนกรณีฝุ่นในเมือง กรุงเทพมหานครเพิ่งให้ข่าวว่าวันนี้ยังไม่สามารถตรวจและปรับรถบรรทุกและขนส่งโดยสารสาธารณะ 6 ล้อขึ้นไปได้ เพราะ กทม. ยังไม่ใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก และทำได้เพียงขอความร่วมมือ ส่วนแหล่งกำเนิดฝุ่นที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม การศึกษาล่าสุดพบว่าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ฝุ่นจากโรงงานอุตสาหกรรมเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญเช่นกัน คำถามของตนคือ
 
1. แม้ปีนี้จะมีการจัดสรรงบกลาง 620 ล้านบาทไปแล้ว แต่ก็เป็นเพียงการจัดสรรงบประมาณแบบปีต่อปีที่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนายกรัฐมนตรี เช่น งบประมาณปี 2568 มี อปท. ของบประมาณจัดการไฟป่ามา 1,800 แห่ง แต่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไปเพียง 90 แห่งเท่านั้น จึงอยากถามล่วงหน้าถึงงบประมาณปี 2569 และปีต่อๆ ไป รัฐบาลมีแนวโน้มออกข้อสั่งการอย่างไรให้การจัดสรรงบประมาณปีต่อปีเป็นงบประมาณประจำให้ อปท. เพียงพอต่อการจัดการไฟป่า
 
2. ปัญหาฝุ่นในเมือง รัฐบาลมีแนวนโยบายที่จะให้รัฐมนตรีที่รักษาการ พ.ร.บ. แต่ละฉบับออกคำสั่งแต่งตั้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจกำกับดูแลตาม พ.ร.บ. แต่ละฉบับ เช่น พ.ร.บ.ขนส่งทางบก และ พ.ร.บ.โรงงาน หรือไม่อย่างไร
 
3. ในการแปลผลภาพจากดาวเทียมที่ดูรอยเผาไหม้ เพื่อติดตามการเผาไหม้ในพื้นที่การเกษตร ทราบมาว่าตอนนี้ยังมีปัญหาในการแปลผลทางเทคนิคที่ยังไม่สามารถเอาภาพถ่ายทางดาวเทียมที่เป็นรอยเผาไหม้มาใช้ในการวิเคราะห์ได้ เรื่องนี้มีความคืบหน้าอย่างไร
 
ประเสริฐตอบกระทู้คำถามแรกโดยระบุว่า ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องฝุ่น PM2.5 มาก หลายข้อสั่งการบรรลุเป้าหมาย ส่วนเรื่องงบประมาณ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (28 มกราคม) มีการอนุมัติงบกลาง 620 ล้านบาท ส่วนการจัดสรรในอนาคตนั้น การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่ามี 2 กรณี คือ ป่าสงวนแห่งชาติ จะเป็นการถ่ายโอนภารกิจจากกรมป่าไม้ โดยจะมีแนวทางจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนสำหรับภารกิจป้องกันและควบคุมไฟป่า และจัดชุดเฝ้าระวัง
 
กรณีป่าสงวนแห่งชาติ มีการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนทั่วไปสำหรับภารกิจป้องกันและควบคุมไฟป่าให้แก่ อปท. ในพื้นที่เสี่ยง 90 แห่ง งบประมาณ 122 ล้านบาท และยังจัดโครงการอบรมเสริมสร้างการแก้ไขปัญหาด้านไฟป่า หมอกควัน PM2.5 ถึง 4 รุ่น ให้ผู้นำ อปท. ในพื้นที่ 17 จังหวัดในเขตภาคเหนือ 1,700 กว่าคน ส่วนการดำเนินการในระยะต่อไป กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับกรมป่าไม้, กรมควบคุมมลพิษ, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแนวทางให้ อปท. จัดทำแผนป้องกันและควบคุมไฟป่าให้มีประสิทธิภาพ
 
ส่วนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ มีประกาศจากคณะกรรมการกระจายอำนาจให้ อปท. ในเรื่องการจัดทำแผนงาน แผนปฏิบัติการ ระบบแจ้งเตือน อาสาสมัคร และเครื่องมืออื่นๆ ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 19 อปท. ในเชียงใหม่ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็สำรวจพื้นที่เพิ่มเติม
 
ส่วนมาตรการเกี่ยวกับพื้นที่ อปท. อื่นๆ ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยมีข้อสั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งให้นโยบายในฐานะที่กำกับดูแล อปท. หลายเรื่อง ส่วนเรื่องฝุ่นลดลงหรือไม่ เรียนว่ารัฐบาลมีนโยบายการบูรณาการระหว่างหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม งดรับซื้ออ้อยไฟไหม้ และห้ามรับซื้ออ้อยที่เผาเกิน 25% ส่งผลให้อ้อยที่เกิดจากการเผาลดลงจากเดิม 27% เหลือ 11% โดยมีมาตรการอย่างเข้มงวดและมีการจัดการอย่างเด็ดขาด
 
ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ งดเว้นสิทธิเกษตรกรที่เผาไร่เผานา ขณะที่ กทม. เองก็มีมาตรการหลายอย่างในการขอความร่วมมือที่เกี่ยวกับฝุ่นจากท่อไอเสีย เช่น การห้ามรถ 6 ล้อเข้าไปในพื้นที่ที่มีฝุ่นมาก อย่างไรก็ตาม จังหวัดรอบปริมณฑลมีพื้นที่การเกษตรที่มีการเผาบางส่วน ทำให้มีฝุ่นละอองที่ปลิวเข้ามาในกรุงเทพฯ ซึ่งรัฐบาลก็จะติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป ส่วนเรื่องภาพถ่ายดาวเทียม วันนี้รัฐบาลใช้ข้อมูลประกอบกันทั้ง GISTDA, กรมควบคุมมลพิษ, กรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงมหาดไทยจัดการประชุมทุกวัน โดยให้ ปภ. เป็นหน่วยปฏิบัติ
 
จากนั้นณัฐพงษ์ถามกระทู้ต่อเป็นครั้งที่ 2 โดยระบุว่า คำตอบของรองนายกรัฐมนตรียังไม่ชัดเจนเพียงพอ อีกทั้งที่ตอบมาในส่วนของมาตรการรับซื้ออ้อยเผา จะเห็นว่ามีเกษตรกรจอดรถอ้อยที่ขายไม่ได้หลายพันคัน แสดงให้เห็นถึงมาตรการที่ดำเนินการอย่างล่าช้าหรือสายเกินไป วันนี้เราจึงอยากได้มาตรการที่ชัดเจนว่าปีหน้าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก
อย่างไรก็ตาม ส่วนสำคัญของการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในระยะยาว ก็คือการกระจายและเพิ่มอำนาจให้ อปท. ซึ่งคำตอบของรองนายกรัฐมนตรีในวันนี้จะเป็นคำตอบที่สำคัญ ในฐานะที่รองนายกรัฐมนตรีสังกัดพรรคเพื่อไทยที่เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จึงอยากถามถึงความชัดเจนในจุดยืนและความจริงใจต่อการกระจายอำนาจของพรรคเพื่อไทย
 
ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยตั้งแต่สมัยรัฐบาลเศรษฐาบรรจุนโยบายผู้ว่า CEO ซึ่งนักปกครองที่ไหนก็รู้ว่านโยบายนี้อยู่ตรงข้ามกับการกระจายอำนาจที่คนที่มีอำนาจสูงสุดในจังหวัดควรต้องมาจากการเลือกตั้ง และยังเคยปัดตก พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ที่พรรคประชาชนเป็นผู้เสนอ ซึ่งมีหลักใหญ่ใจความในการเพิ่มรายได้ให้กับท้องถิ่นปีละ 1% เพื่อให้ถึงเป้าหมาย 35% ในอนาคต และนี่ก็เป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยสื่อสารมาโดยตลอด แต่การกระทำกลับสวนทางกัน
 
และยังมี พ.ร.บ.ปลดล็อกการเวนคืนที่ดิน ให้ อปท. สามารถจัดการปัญหาที่ดินในจังหวัดได้เอง เรื่องนี้อดีตนายกรัฐมนตรีไม่ลงนามรับรอง มาถึงรัฐบาลนี้ในสมัยประชุมที่แล้ว พรรคประชาชนเสนอ พ.ร.บ.ขนส่งทางบก ก็ถูกสภาโหวตคว่ำ ทั้งที่หลักใหญ่ใจความคือการกระจายอำนาจให้ อปท. ระดับจังหวัดสามารถกำหนดมาตรฐานการขนส่งสาธารณะให้ใช้พลังงานสะอาดได้ และล่าสุดยังมี พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่ควรจะเพิ่มอำนาจให้กับท้องถิ่น ให้นายก อบจ. นั่งเป็นประธานคณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัด แต่ก็มีกรรมาธิการเสียงข้างน้อยจากพรรคเพื่อไทยที่ขอสงวนความเห็นในชั้นกรรมาธิการว่าอยากให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นแทน
 
นอกจากนี้ เมื่อไม่นานมานี้บุคคลหนึ่งที่มีความใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรียังปราศรัยบนเวทีหาเสียงหลายจังหวัดว่า แต่ก่อนไม่เคยเห็นความสำคัญของ อปท. เพราะแต่ก่อนพรรคเพื่อไทยเคยคุมได้ทุกกระทรวง แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป จึงเริ่มเห็นความสำคัญของ อปท. และยังปราศรัยอีกว่า ตัวเองมองท้องถิ่นเป็นมือไม้ แขนขา ทำงานให้พรรคเพื่อไทย ทัศนคติแบบนี้ การกระทำที่ผ่านมาแบบนี้ ทำให้ตนต้องตั้งคำถามถึงจุดยืนของพรรคเพื่อไทยชัดๆ อีกครั้งว่า
 
1. ที่พรรคเพื่อไทยเคยมีนโยบายหาเสียงว่าพร้อมให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดที่มีความพร้อม ตอนนี้จังหวัดที่มีความพร้อมมีกี่จังหวัดแล้ว และจะดำเนินนโยบายนี้เมื่อไร
 
2. งบประมาณและสัดส่วนรายได้ของ อปท. ต่อรัฐส่วนกลางในนานาอารยประเทศล้วนแต่เกินครึ่ง ส่วนของประเทศไทยวันนี้ยังอยู่ที่ 29-30% และแทบไม่เพิ่มขึ้นเลย อยากถามเจตนารมณ์ของรัฐบาลว่ามีแนวคิดเพิ่มสัดส่วนรายได้ท้องถิ่นให้ถึง 35% เมื่อไร และมีจุดยืนอย่างไรต่อร่าง พ.ร.บ.ภาษีบ้านเกิดเมืองนอน ของพรรคร่วมรัฐบาล และถ้าเห็นด้วย ทำไมถึงไม่เสนอเป็นร่างของคณะรัฐมนตรี
 
3. อปท. ยังขาดอำนาจหน้าที่หลายอย่าง ตกลงแล้วรัฐบาลมีเจตจำนงในการถ่ายโอนภารกิจเหล่านี้ให้กับ อปท. หรือไม่ อย่างไร
 
4. การจัดการบุคลากร สมัยประชุมสภาที่แล้ว พ.ร.บ.บริหารบุคลากรท้องถิ่น ต้องล่ม สมัยประชุมนี้ ข้าราชการส่วนท้องถิ่นกำลังรอฟังอยู่ว่าจะยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ผูกขาดการจัดสอบบุคลากรท้องถิ่นไว้ที่ส่วนกลางหรือไม่ พรรคประชาชนเสนอร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้สู่สภาทันทีที่เปิดสมัย อยากถามจุดยืนพรรคเพื่อไทยว่าจะผลักดันเรื่องนี้ต่อหรือไม่ อย่างไร
 
ประเสริฐตอบคำถามโดยระบุว่า พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญต่อการกระจายอำนาจ แม้กฎหมายหลายฉบับจะไม่ได้รับการตอบรับในสภา แต่ก็มีหลายเรื่องโดยหลายพรรคการเมืองที่ได้รับการตอบรับในสภา ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็เคยเสนอ เช่น พ.ร.บ.สุราเสรี ก็เป็นเรื่องท้องถิ่น แต่การผ่านกฎหมายเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่สภาต้องรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน
 
ส่วนนโยบายผู้ว่า CEO นั้น ตนไม่อยากให้มองเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับการกระจายอำนาจ แต่เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันเสียมากกว่า วันนี้กระทรวงมหาดไทยคลายมาตรการและขอความร่วมมือกับ อปท. หลายเรื่อง วันนี้ อปท. สามารถทำแผนในการแก้ไขปัญหาฝุ่นและเรื่องอื่นๆ และบรรจุแผนงานโครงการเข้ามาในแผนงานงบประมาณได้

ประเสริฐยังระบุว่า ตนเข้าใจดีว่าการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนรายได้เป็นเรื่องสำคัญ และพรรคเพื่อไทยก็ให้ความสำคัญ แต่ก็ต้องดูถึงภาระงบประมาณแผ่นดินควบคู่ไปด้วย ส่วนเรื่องนโยบายเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดก็เป็นเรื่องน่าสนใจที่พรรคเพื่อไทยเองก็อยู่ระหว่างการพิจารณาถึงเหตุและความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง ส่วนกรณี พ.ร.บ.ภาษีบ้านเกิดเมืองนอน ณ เวลานี้ยังไม่มีการเสนอเข้ามาในสภา ตนจึงยังไม่เห็นรายละเอียด ทราบแต่เพียงจากสื่อมวลชนว่าจะมีการนำเสนอ ตนจึงยังตอบเรื่องนี้ไม่ได้
 
หลายอย่างที่พรรคประชาชนเสนอไปแล้วไม่ได้รับการตอบรับก็เป็นเรื่องของสภา สภาประกอบด้วย สส. ทุกพรรคการเมือง สมาชิกแต่ละคนมีเหตุผลในการพิจารณาร่างกฎหมายแต่ละฉบับ จุดยืนของนักการเมืองต่างเห็นความสำคัญของประชาชน และทุกพรรคการเมืองให้ความสำคัญกับการทำให้ อปท. มีการบริหารที่มีประสิทธิภาพ สามารถแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้มากขึ้นทั้งนั้น
 
จากนั้นณัฐพงษ์ถามต่อเป็นครั้งสุดท้าย โดยระบุว่า ตนยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน จึงอยากถามไปยังรองนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในเรื่องการเสนอกฎหมาย ที่ท่านบอกว่าเป็นหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัตินั้นก็จริงอยู่ แต่ต้องอย่าลืมว่าหากเป็น พ.ร.บ. ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีจะถือว่าเป็นเรื่องด่วน ตอนนี้ร่าง พ.ร.บ.บริหารบุคลากรท้องถิ่น ที่พรรคประชาชนเสนอเข้าสู่สภา กำลังอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็น และต้องต่อคิวกว่าจะเข้าสู่ระเบียบวาระได้ ดังนั้นถ้าคณะรัฐมนตรีไม่ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง หมดสภาสมัยนี้หรือชุดนี้ การผลักดันการกระจายอำนาจก็จะยังคงไปไม่ถึงไหน
 
ส่วนที่ตนยกประเด็นเรื่อง พ.ร.บ.ภาษีบ้านเกิดเมืองนอน ขึ้นมานั้น เป็นเพราะตั้งแต่สมัยรัฐบาลเศรษฐามาจนถึงรัฐบาลแพทองธาร ออกข้อสั่งการผ่านมติคณะรัฐมนตรีและสั่งการข้าราชการไปแล้วหลายครั้ง แต่ผลก็แทบไม่เคยเกิดขึ้นเลย ขณะเดียวกัน สิ่งที่เราได้เห็นคือการที่พรรคร่วมรัฐบาลเตรียมเสนอร่างกฎหมายของตัวเองเข้ามา สิ่งที่วันนี้พวกเราต้องการเห็นคือการกระทำที่จริงใจต่อการกระจายอำนาจจากพรรคเพื่อไทย
 
ประเสริฐตอบคำถามสุดท้ายว่า ทุก พ.ร.บ. ต้องมีคณะกรรมการกลั่นกรองและศึกษาในหลายขั้นตอน อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นรัฐบาล ตนจะรับเรื่องนี้ไปศึกษาให้อีกทางหนึ่ง เข้าใจว่าร่างนี้เป็นร่างการเงินที่ยิ่งต้องศึกษาละเอียดมากขึ้น และถ้ามีความสำคัญเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยส่วนมาก รัฐบาลก็ยินดีจะรับไปดำเนินการ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising