×

คำถาม 6 ประการจาก ณัฐพล ใจจริง ถึงจุฬาฯ ปม ‘บวรศักดิ์’ สอบวิทยานิพนธ์

17.10.2022
  • LOADING...
ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง คือชื่อนักวิชาการผู้มีผลงานการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ที่ถูกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งกรรมการสอบสวนวิทยานิพนธ์หลังจบปริญญาเอกแล้วสิบกว่าปี โดยวิทยานิพนธ์ของเขาได้รับการประเมินโดยกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ 5 ท่านลงมติเป็น ‘เอกฉันท์’ ให้เป็นวิทยานิพนธ์ดีมาก (Excellent) ของจุฬาฯ เมื่อปีการศึกษา 2552 เรื่อง การเมืองไทยสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500) 

 

นอกจากจะถูกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งกรรมการสอบสวน โดยให้ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2558 และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ เป็นประธานกรรมการแล้ว

 

ณัฐพลกลายเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีที่ ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต หลานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาทจาก 6 จำเลย โดยจำเลยที่ 2 คือ กุลลดา เกษบุญชู มี้ด อาจารย์ที่ปรึกษา ส่วนอีก 4 จำเลย คือ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันและผู้ที่เกี่ยวข้อง

 

ณัฐพล ใจจริง

ผู้ถูกสอบร้องสภามหาวิทยาลัยในฐานะที่สภาฯ เป็นผู้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง 

ล่าสุดณัฐพลยื่นจดหมายเปิดผนึกลงวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ถึงสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งคำถามถึงการทำงานของกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดที่ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน 

 

เนื่องจากผลการทำงานของกรรมการชุดนี้มี ‘รายงานข่าว’ ซึ่งยังไม่ได้รับการยืนยันจากสภามหาวิทยาลัย แต่กลับมีการเผยแพร่รายงานทาง Top News เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2565 โดยใช้ถ้อยคำหัวข้อเรื่อง ณัฐพลโดนคดีฟ้องแพ่ง 50 ล้าน ผลสอบจุฬาฯ ถอดวิทยานิพนธ์ล้มเจ้า 

 

และปรากฏข้อความทาง Facebook ของ อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ถึงผลการสอบสวนของกรรมการชุดบวรศักดิ์ ระบุว่า “ผมได้ยินมาว่าผลสอบ ณัฐพล ใจจริง เรื่องวิทยานิพนธ์ที่มี Data Falsification และ Data Fabrication ที่จุฬาฯ ตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสอบสวน ได้ผลออกมาเป็นที่เรียบร้อย และคณะกรรมการดังกล่าวได้นำผลการสอบสวนส่งให้ทางผู้บริหารของจุฬาฯ เรียบร้อยแล้วเช่นกัน…”

 

บวกกับจดหมายเปิดผนึกของ เขมรัฐ โอสถาพันธุ์ กรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทักท้วงถึงการทำงานของเลขานุการกรรมการชุดบวรศักดิ์ 

 

เขมรัฐเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ขอให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยพิจารณาเรื่องนี้ด้วยความรอบคอบ หลังจากได้ไปดูเอกสารสอบสวนข้อเท็จจริงด้วยตัวเองที่ศูนย์กฎหมาย จุฬาฯ ตึกจามจุรี 5 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565

 

โดยเขมรัฐระบุเนื้อหาในจดหมายตอนหนึ่งถึงการรายงานของ ปาริชาต สถาปิตานนท์ เลขานุการชุดบวรศักดิ์ ที่นำเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยว่าไม่ได้เปิดโอกาสให้ณัฐพลโต้แย้งหรือแก้ข้อกล่าวหา และมีการนำเอาข้อมูลปลอม (Fake News / Misinformation) มานำเสนอในการประชุมสภามหาวิทยาลัย กล่าวหาณัฐพล ทำให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยได้รับข้อมูลที่ไม่จริงมาประกอบการตัดสินใจ ควรจะมีการสอบสวนอย่างเร่งด่วนว่าทำไมถึงเกิดขึ้น เพราะอาจมีผลทำให้กระบวนการหาข้อเท็จจริงที่ผ่านมาทั้งหมดเป็นโมฆะ และต้องเริ่มกระบวนการสอบสวนใหม่ทั้งหมดหากต้องพิจารณาเรื่องนี้ในศาล

 

ทั้ง 3 ส่วนนี้ ประกอบด้วยรายงานจาก Top News, ข้อความทาง Facebook อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ และจดหมายเปิดผนึกของ เขมรัฐ โอสถาพันธุ์ เป็นข้อเท็จจริงที่ทำให้ณัฐพลและกุลลดายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงสภาจุฬาฯ แต่ยื่นคนละฉบับ คนละวัน และคนละวิธีการ 

 

ณัฐพล ใจจริง

กุลลดายื่นจดหมายด้วยตัวเอง และณัฐพลยื่นร้องเรียนแล้วทางอีเมล 

กุลลดาเดินทางไปยื่นด้วยตัวเองเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่หน้าห้องประชุมสภามหาวิทยาลัย โดยมี ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะเลขานุการสภาฯ เป็นตัวแทนรับหนังสือ ท่ามกลางศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของจุฬาฯ ที่ถือช่อดอกไม้มาให้กำลังใจกุลลดา รวมถึงณัฐพลก็มาร่วมให้กำลังใจด้วย

 

ส่วนณัฐพลยื่นทางอีเมลเป็นจดหมายลงวันที่ 23 สิงหาคม 2565 เรียน นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิการบดี และกรรมการสภามหาวิทยาลัยทุกท่าน เรื่อง ขอความเป็นธรรม

 

ใจความสำคัญคือการชี้แจง ขอความเป็นธรรม และตั้งคำถามต่อประเด็นที่ถูกร้องเรียน ถูกกล่าวหา และกำลังมีคดีถูกฟ้องร้องในศาล

 

ณัฐพล ใจจริง

คำถาม 6 ประการจาก ‘ณัฐพล ใจจริง’ ถึงจุฬาฯ 

เนื้อหาในจดหมายของณัฐพลประกอบด้วยเนื้อหา 5 ข้อ โดยข้อสุดท้ายคือข้อ 5 มีรายละเอียดเป็นคำถาม 6 ประการ (5.1-5.6) รายละเอียดดังนี้

 

ข้อ 5 ในจดหมายของณัฐพล ระบุว่า ข้าพเจ้าใคร่เรียนถามนายกสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี และกรรมการสภามหาวิทยาลัย ดังต่อไปนี้

 

5.1 คณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงชุดนี้กล่าวหาข้าพเจ้าว่า ข้าพเจ้าสร้างหลักฐานเท็จเพื่อเขียนวิทยานิพนธ์ต่อกรรมการสภามหาวิทยาลัยตามข่าวที่ปรากฏจริงหรือไม่

 

5.2 ตลอดช่วงเวลาที่ข้าพเจ้าถูกคณะกรรมการฯ เรียกเข้าไปให้ถ้อยคำ จวบจนถึงการทำหนังสือชี้แจงตอบกลับข้อกล่าวหาไปเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 นั้น ข้าพเจ้าตอบคำถามคณะกรรมการฯ ไปโดยที่ข้าพเจ้าไม่เคยได้รับเอกสารที่เกี่ยวกับคณะกรรมการฯ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชุดนี้ว่าประกอบด้วยผู้ใดบ้าง มีขอบเขตอำนาจหน้าที่เพียงใด เป็นไปตามบทบัญญัติข้อใดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นการตรวจสอบเฉพาะประเด็นในวิทยานิพนธ์หรือตรวจสอบทั้งฉบับ ตลอดจนไม่มีการแจ้งว่าข้าพเจ้ามีสิทธิและหน้าที่อย่างไรบ้างในกระบวนการดังกล่าวนี้ จนทำให้ข้าพเจ้าต้องทำหนังสือตั้งคำถามต่อกระบวนการที่ไม่เปิดเผยโปร่งใส ขาดความชัดเจนนี้ไป พร้อมกับคำตอบที่ส่งให้คณะกรรมการฯ ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 (โปรดดูเอกสารแนบ 3) มีความสรุปว่า

 

1. คณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงมีคำสั่งเรียกให้ข้าพเจ้ามาเข้ากระบวนการพิจารณาทางปกครอง โดยไม่แจ้งที่มาของการก่อตั้งตนเองว่ามาจากประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฉบับใด มีเขตอำนาจหน้าที่เพียงใด และอ้างอิงฐานอำนาจทางกฎหมายใดในการดำรงอยู่ของคณะกรรมการฯ นี้ต่อข้าพเจ้า อันมีผลกระทบต่อสิทธิของข้าพเจ้าในฐานะคู่กรณีในกระบวนการพิจารณาทางปกครองนี้

 

2. คณะกรรมการฯ มิได้จดแจ้งรายชื่อบุคคลที่ดำรงตำแหน่งประธานและกรรมการอันเป็นองค์ประกอบของคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริง และมิได้แจ้งสิทธิและหน้าที่ของข้าพเจ้า ซึ่งเป็นคู่กรณีในกระบวนพิจารณาทางปกครองนี้ ให้ได้ทราบตามสมควร ซึ่งข้าพเจ้ามีสิทธิที่จะได้รับทราบรายชื่อของบุคคลที่ประกอบกันขึ้นเป็นคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริง และมีสิทธิโต้แย้งคัดค้านบุคคลที่ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริง อันเป็นสิทธิที่ข้าพเจ้ามีตามมาตรา 13, มาตรา 14 และมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 การที่คณะกรรมการฯ มิได้แจ้งสิทธิหน้าที่ของข้าพเจ้าดังกล่าวนี้ เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาทางปกครองที่ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 อีกด้วย

 

3. การที่คณะกรรมการฯ มีหนังสือเชิญข้าพเจ้าไปเข้าร่วมกระบวนพิจารณาทางปกครอง ซึ่งเป็นการพิจารณาทางปกครองที่ข้าพเจ้าต้องปรากฏตัวต่อหน้าคณะกรรมการฯ โดยคณะกรรมการฯ มิได้แจ้งให้ข้าพเจ้าทราบถึงสิทธินำทนายความหรือที่ปรึกษาของตนเข้ามาในการพิจารณาทางปกครองครั้งดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้นการที่คณะกรรมการฯ มิได้แจ้งสิทธิของข้าพเจ้าดังกล่าวนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาทางปกครองที่ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ด้วยเช่นกัน

 

นอกจากนี้ข้าพเจ้าขอเรียนให้สภามหาวิทยาลัยทราบอีกว่า ในการสอบสวนข้าพเจ้าโดยเหล่าคณะกรรมการฯ ทางออนไลน์เมื่อวันที่ 28 กันยายนนั้น เลขานุการคณะกรรมการฯ ได้สอบสวนข้าพเจ้าด้วยคำถามที่ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับขอบเขตเนื้อหาในการทำวิทยานิพนธ์ แต่เป็นคำถามที่สะท้อนความมีอคติ เช่น ถามข้าพเจ้าว่า “ทำไมข้าพเจ้าจึงไม่ชอบพวกรอยัลลิสต์?” เป็นต้น

 

คำถามของเลขานุการคณะกรรมการฯ ผู้นี้ทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจได้ว่า กรรมการฯ ได้กลายเป็นคู่กรณีกับข้าพเจ้าไปเสียแล้ว แทนที่จะเป็นกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงอย่างปลอดอคติ ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าใคร่ขอให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยโปรดฟังการสอบสวนจากการบันทึกเทปครั้งนั้นด้วยตนเอง แทนการอ่านจากเอกสารที่ถูกเรียบเรียงขึ้นใหม่แล้ว เนื่องจากการถอดข้อความสอบสวนออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรนั้นอาจมีการตัดข้อความทำนองนี้และน้ำเสียงต่างๆ ออกไปจนหมดสิ้น ด้วยเหตุที่กระบวนการนี้ได้ละเมิดต่อสิทธิของข้าพเจ้า ดังนั้นข้าพเจ้าจึงไม่ลงนามรับรองเอกสารการสอบสวนฉบับนี้จากคณะกรรมการฯ ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงขอเรียนให้สภามหาวิทยาลัยทราบว่า การสอบสวนนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่คณะกรรมการฯ ชุดนี้ดำเนินการอย่างผิดปกติ อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิของข้าพเจ้า

 

ข้าพเจ้าจึงใคร่เรียนถามนายกสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี และกรรมการสภามหาวิทยาลัยว่า การกระทำทั้งหลายของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่กล่าวมาข้างต้น ถือเป็นการละเมิดสิทธิของข้าพเจ้าที่พึงได้รับตามกระบวนการที่เปิดเผย โปร่งใส และเป็นธรรมหรือไม่?

 

5.3 ข้าพเจ้าใคร่เรียนถามว่า คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้แจ้งให้พวกท่านทราบหรือไม่ว่า คณะกรรมการสอบสวนฯ ดำเนินการที่ละเมิดต่อข้าพเจ้า จนข้าพเจ้าต้องมีหนังสือโต้แย้งอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวนฯ หากคณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่ได้แจ้งการดำเนินการที่ผิดพลาดของคณะกรรมการสอบสวนฯ ต่อสภามหาวิทยาลัย นั่นอาจหมายความว่าคณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่ต้องรับผิดชอบแต่ประการใดหรือไม่ และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความผิดพลาดนี้

 

5.4 ข้าพเจ้าขอสอบถามว่า นอกจากคณะกรรมการฯ ไม่ดำเนินการตามกฎหมายอันเป็นการละเมิดสิทธิของข้าพเจ้าแล้ว แต่ยังดำเนินการทำสิ่งที่ผิดต่อไป ด้วยการสอดแทรกข้อกล่าวหาเรื่องหนังสือพิมพ์เอกราชเพิ่มเข้ามาโดยพลการ อีกทั้งไม่เคยสอบถามหรือขอเอกสารจากข้าพเจ้าเลย ซ้ำร้ายยังรายงานเท็จต่อสภามหาวิทยาลัย เพื่อโน้มน้าวให้สภามหาวิทยาลัยมีมติลงโทษข้าพเจ้านั้น สภามหาวิทยาลัยจะดำเนินการสอบสวนพฤติกรรมของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงนี้หรือไม่ อย่างไร? ในฐานะที่สภามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรสูงสุดของมหาวิทยาลัยมีกฎระเบียบในการลงโทษการรายงานเท็จต่อสภามหาวิทยาลัยอย่างไร?  

 

5.5 สภามหาวิทยาลัยสามารถดำเนินการโดยปราศจากกฎ ประกาศ และระเบียบอื่นใดในการตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และ/หรือลงโทษข้าพเจ้าได้หรือไม่?

 

5.6 หลังจากข้าพเจ้าได้ส่งคำตอบให้กับผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 ท่าน และปรากฏว่า 3 ใน 4 ท่านไม่มีความเห็นแย้งหรือคำถามเพิ่มเติม แสดงว่าเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นว่าข้าพเจ้ากระทำผิด แต่คณะกรรมการสอบสวนฯ กลับรายงานความเท็จต่อสภามหาวิทยาลัยและเสนอให้สภามหาวิทยาลัยลงโทษข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าขอเรียนถามว่าสภามหาวิทยาลัยจะยึดถือมติของผู้เชี่ยวชาญ 3 ใน 4 ท่านหรือไม่ โดยถือว่าการสอบสวนได้ข้อยุติแล้ว หรือจะดำเนินการหาวิธีใหม่เพื่อลงโทษข้าพเจ้าต่อไปให้จงได้  

 

นอกจากนี้ข้าพเจ้าขอเรียกร้องให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยโปรดเข้าศึกษาเอกสารตอบโต้ระหว่างข้าพเจ้ากับคณะกรรมการสอบสวนฯ และเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วยตนเอง แทนที่จะรับทราบผ่านการสรุปโดยคณะกรรมการฯ

 

ด้วยเหตุที่วิทยานิพนธ์ข้าพเจ้ามีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อศึกษานโยบายต่างประเทศและบทบาทของสหรัฐฯ ที่มีต่อการเมืองไทยในช่วงต้นของสงครามเย็น หนึ่งในประเด็นสำคัญของการศึกษาคือความสัมพันธ์และมุมมองของสหรัฐฯ ที่มีต่อกลุ่มการเมืองต่างๆ ในประเทศไทยขณะนั้น ดังนั้นวิทยานิพนธ์เล่มนี้จึงไม่ได้มุ่งศึกษาเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด

 

ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าขอเรียนให้ทราบว่า ข้าพเจ้าทำวิทยานิพนธ์เล่มนี้ขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยความสุจริต เพื่อนำเสนอความรู้ที่ได้ค้นคว้าต่อสังคม อันมีกระบวนการสอบโดยคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ที่เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับต่างๆ ของมหาวิทยาลัยอย่างถูกต้องและได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการสอบฯ อย่างเป็นเอกฉันท์ให้ข้าพเจ้าสอบผ่านในระดับดีมาก

 

กระนั้นก็ดี ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นว่าวิทยานิพนธ์ของข้าพเจ้าเป็นความจริงสูงสุดตลอดกาล เพราะข้าพเจ้าตระหนักดีว่าความรู้ต่างๆ เป็นสิ่งเปลี่ยนแปลงได้ และโลกของเรามีวิทยาการความรู้ที่ก้าวหน้าขึ้นมาได้เพราะมีการถกเถียง เปลี่ยนแปลง หรือหักล้างความรู้เก่าอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น วิทยานิพนธ์ของข้าพเจ้าจึงเป็นเพียงแบบจำลองของความรู้ที่ถูกผลิตขึ้นโดยมนุษย์ในยุคสมัยหนึ่งๆ เท่านั้น (ตามที่ข้าพเจ้าได้เขียนไว้ในบทนำของวิทยานิพนธ์) ดังนั้นหากในอนาคตมีนักวิจัยหรือนักวิชาการค้นพบข้อมูลใหม่ หรือหอจดหมายเหตุมีการเปิดเอกสารใหม่ หรือมีการตีความด้วยมุมมอง (Approach) ทฤษฎี (Theory) หรือกระบวนทัศน์ (Paradigm) ใหม่ ก็ย่อมจะเกิดความรู้ใหม่ หรือแม้แต่หากมีผู้ไม่เห็นด้วย ก็ย่อมสามารถโต้แย้งถกเถียงด้วยวิถีทางวิชาการตามธรรมเนียมปฏิบัติอันเป็นที่ยอมรับกันในวงวิชาการไทยและสากล

 

กล่าวโดยสรุป ข้าพเจ้าใคร่เรียนให้สภามหาวิทยาลัยทราบว่า นับตั้งแต่ที่ข้าพเจ้ายื่นคำชี้แจงต่อประธานกรรมการฯ ไปเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 จวบจนปัจจุบันนั้น คณะกรรมการฯ ก็มิได้แจ้งผลการสอบสวนหรือร้องขอเอกสารเพิ่มเติมจากข้าพเจ้าอีกเลย แต่กลับปรากฏข่าวข้างต้นว่าคณะกรรมการฯ ได้สรุปผลการสอบวิทยานิพนธ์ของข้าพเจ้าเสร็จสิ้นแล้วว่าข้าพเจ้ามีความผิดจริง ประกอบกับดูเหมือนจะมีการสอดแทรกข้อกล่าวหาใหม่เรื่องหนังสือพิมพ์เอกราชเข้ามาโดยไม่เคยแจ้งกับข้าพเจ้า ทั้งยังมีการรายงานเท็จต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเพื่อโน้มน้าวให้สภามหาวิทยาลัยมีมติลงโทษข้าพเจ้าอีกด้วย  

 

ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าการลงมติใดๆ ของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงควรวางอยู่บนคำวินิจฉัยของผู้เชี่ยวชาญเป็นหลัก ต้องไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมเข้ามาเองโดยพลการ หากมีคำถามใหม่ก็ต้องให้โอกาสข้าพเจ้าชี้แจงตอบคำถามตามกระบวนการที่เปิดเผยและยุติธรรม และหากผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่มีความเห็นว่าข้าพเจ้าไม่มีความผิด คณะกรรมการฯ ก็ต้องกล้ายืนยันตามหลักวิชา ข้อเท็จจริง โดยไม่เกรงกลัวต่อกระแสการเมืองใดๆ

 

ข้าพเจ้ายังหวังว่านายกสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ที่มีใจเที่ยงธรรมทั้งหลายย่อมเห็นว่าการกระทำดังกล่าวข้างต้นไม่เพียงไม่ยุติธรรมต่อข้าพเจ้าในฐานะอดีตนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่กลับจะสร้างความเสื่อมเสียเกียรติยศให้แก่มหาวิทยาลัยอย่างยากที่จะฟื้นฟูได้ การดำเนินการที่ละเมิดกฎหมายของคณะกรรมการฯ นี้ย่อมสร้างผลกระทบต่อวงวิชาการไทยที่ต้องเผชิญกับความหวาดกลัวต่อภัยคุกคามต่อเสรีภาพทางวิชาการที่นับวันมีแต่จะหดแคบลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้าจึงหวังว่ากรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาต่างๆ เป็นผู้มีลูกศิษย์ลูกหา ประกอบคุณูปการต่อประเทศชาติ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักนับถืออย่างมากจะไม่ทนนิ่งเฉยต่อความผิดปกติที่เกิดขึ้นนี้  

 

ขอแสดงความนับถือ (ณัฐพล ใจจริง)

 

ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพลชี้แจงความมีอยู่จริงของหนังสือพิมพ์เอกราช เป็นคนละฉบับกับที่ ไชยันต์ ไชยพร กล่าวหา

นอกจากคำถาม 6 ข้อแล้ว เนื้อหาในจดหมายของณัฐพลยังชี้แจงกรณีถูกกล่าวหาว่า อ้างอิงหนังสือพิมพ์ที่ ‘ไม่มีอยู่จริง’ โดยการชี้แจงนี้อยู่ในข้อ 1 จากเนื้อหาทั้งหมด 5 ข้อของจดหมาย

 

“ข้าพเจ้าขอเรียนให้สภามหาวิทยาลัยทราบว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงไม่เคยสอบถามข้าพเจ้าทั้งทางเอกสาร วาจา หรือในทางใดๆ เลยถึงประเด็นความกังขาในเรื่องหนังสือพิมพ์เอกราช ฉบับวันที่ 10 พฤศจิกายน 2490 ทั้งที่หากคณะกรรมการฯ เรียกเอกสารดังกล่าว ข้าพเจ้าย่อมเต็มใจที่จะแสดงสำเนาหนังสือพิมพ์เอกราชที่ข้าพเจ้ามีอยู่เพื่อคลายความสงสัยของคณะกรรมการฯ ในทันที แต่ที่ผ่านมานั้นไม่ปรากฏการแสดงความจำนงใดๆ จากคณะกรรมการฯ เลย แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการฯ กลับกล่าวหาข้าพเจ้า

 

“จากรายงานข่าวของ Top News สรุปได้ว่า มีการกล่าวหาว่าข้าพเจ้าสร้างเอกสารอ้างอิงเท็จในทำนองว่า หนังสือพิมพ์เอกราช ฉบับวันที่ 10 พฤศจิกายน 2490 ที่ข้าพเจ้าอ้างอิงในวิทยานิพนธ์นั้นไม่มีอยู่จริง ข้อกล่าวหานี้มีเนื้อหาทำนองเดียวกันกับข้อกล่าวหาของ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ที่กล่าวหาข้าพเจ้าในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ว่า หนังสือพิมพ์เอกราชปี 2490 ที่ข้าพเจ้าอ้างอิงในวิทยานิพนธ์นั้นไม่มีอยู่จริง เนื่องจากหนังสือพิมพ์เอกราชมีขึ้นครั้งแรกในปี 2500 ต่อข้อกล่าวหาข้างต้นนี้” เนื้อหาจดหมายของณัฐพล

 

ข้อ 1 ในจดหมายของณัฐพล ระบุว่า ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า หนังสือพิมพ์เอกราช ฉบับวันที่ 10 พฤศจิกายน 2490 ที่ข้าพเจ้าใช้อ้างอิงในวิทยานิพนธ์นั้นมีอยู่จริงในประวัติศาสตร์การหนังสือพิมพ์ของไทยเป็นหนังสือพิมพ์ที่ออกที่กรุงเทพฯ โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งคือ อิศรา อมันตกุล นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คนสำคัญที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น และนายกสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยท่านแรก ซึ่งเป็นคนละฉบับกับหนังสือพิมพ์เอกราชที่ ศ.ดร.ไชยันต์ ใช้กล่าวหาข้าพเจ้า โดยหนังสือพิมพ์เอกราชที่มีชื่อเหมือนกันนี้ ตามประวัติเป็นหนังสือพิมพ์ในระดับท้องถิ่นของจังหวัดลำปางที่ก่อตั้งขึ้นทีหลังเมื่อปี 2500 

 

กรณีนี้ทำให้ข้าพเจ้าได้ตัดสินใจยื่นฟ้อง ศ.ดร.ไชยันต์ ฐานหมิ่นประมาทข้าพเจ้าต่อศาลอาญา เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.1701/2565 ดังที่ได้ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว

 

ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์เอกราช 2 ฉบับนี้ ต่อมาได้มีผู้ใช้นามปากกา ‘ผีดำผีแดง’ อธิบายรายละเอียดโดยสังเขปไว้ในบทความชื่อ ณัฐพลกับไชยันต์ ใครบิดเบือนหลักฐานเพื่อสาดโคลนผู้อื่นกันแน่ ในสื่อออนไลน์ประชาไท เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 บทความนั้นได้แสดงภาพถ่ายหัวหนังสือพิมพ์เอกราช ฉบับวันที่ 10 พฤศจิกายน 2490 ประกอบ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกับที่ข้าพเจ้าเคยทำสำเนาคัดออกมาจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติเมื่อครั้งค้นคว้าทำวิทยานิพนธ์เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี ในการนี้ข้าพเจ้าได้แนบหัวหนังสือพิมพ์เอกราชที่ข้าพเจ้ามีมาพร้อมกันนี้ด้วย โดยเป็นการเปิดเผยเพียงบางส่วนก่อน และจะเปิดเผยต่อไปในชั้นศาล (โปรดดูเอกสารแนบฉบับที่ 1)

 

แสดงหลักฐานหนังสือพิมพ์เอกราชที่อ้างอิงในวิทยานิพนธ์ โต้ข้อกล่าวหาเท็จ 

ณัฐพลแนบภาพหนังสือพิมพ์เอกราช ฉบับวันที่ 10 พฤศจิกายน 2490 เพื่อเป็นหลักฐานถึงการมีอยู่จริงของหนังสือพิมพ์ฉบับที่อ้างอิงในวิทยานิพนธ์ เพื่อโต้ข้อกล่าวหาที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงนำไปแจ้งต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย โดยยืนยันว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นความเท็จ ซึ่งการชี้แจงนี้อยู่ในข้อ 2 จากเนื้อหา 5 ข้อในจดหมาย

 

ข้อ 2 ในจดหมายของณัฐพล ระบุว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในขณะที่ข้าพเจ้ายังคงไม่ได้รับทราบผลการสอบสวนใดๆ อย่างเป็นทางการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากได้รับฟังการนำเสนอข่าวจากสื่อฝ่ายขวาที่ดูราวกับทราบผลล่วงหน้าอันเป็นผลสอบไม่เป็นคุณกับข้าพเจ้าแล้ว ยังปรากฏรายงานข่าวเปิดเผยความไม่โปร่งใสในการสอบหาข้อเท็จจริงและการรายงานเท็จต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยในกรณีตรวจสอบวิทยานิพนธ์ของข้าพเจ้า อันปรากฏอยู่ในเว็บไซต์มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 10 สิงหาคม 2565 อันมีเรื่องราวโดยสังเขปว่า กรรมการสภามหาวิทยาลัยท่านหนึ่งคือ รศ.ดร.เขมรัฐ โอสถาพันธุ์ เห็นความผิดปกติในกระบวนการสอบข้อเท็จจริงวิทยานิพนธ์ของข้าพเจ้า จึงได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงนายกสภามหาวิทยาลัย เพื่อแย้งผลการสอบสวนและกระบวนการไม่ชอบด้วยกฎหมายในกระบวนการสอบวิทยานิพนธ์ ดังข้อความที่ว่า:

 

“คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ไม่เคยแจ้งข้อกล่าวหานี้ต่อณัฐพล และไม่มีการเรียกหลักฐานเอกสารหนังสือพิมพ์เอกราชดังกล่าวจากณัฐพล” การกระทำดังกล่าวของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเป็นการละเมิด (Violate) สิทธิของผู้ถูกกล่าวหาในการอธิบาย โต้แย้ง หรือแก้ข้อกล่าวหา และทราบว่ากรรมการทุกท่านทราบว่าไม่ได้ทำตามขั้นตอนการสอบสวนที่ถูกต้อง แต่ก็ยังดำเนินการต่อ… โดยข้อนี้ผมถือว่าร้ายแรงมาก เป็นการละเมิดกระบวนการพิจารณาอย่างเป็นธรรม (Violate Due Process) ของณัฐพลอย่างชัดเจน ควรจะมีการสอบสวนอย่างเร่งด่วนว่าทำไมถึงเกิดขึ้น เพราะอาจมีผลทำให้กระบวนการหาข้อเท็จจริงที่ผ่านมาทั้งหมดเป็นโมฆะ และต้องเริ่มกระบวนการสอบสวนใหม่ทั้งหมด หากต้องพิจารณาเรื่องนี้ในศาล”

 

ด้วยเหตุที่ข้าพเจ้ายังคงรอผลสอบสวนอย่างเป็นทางการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่นั้น เมื่อข้าพเจ้าได้ทราบข่าวความผิดปกติในกระบวนการสอบสวนวิทยานิพนธ์ของข้าพเจ้าดังกล่าวในความรู้สึกแรกนั้น ข้าพเจ้ารู้สึกประหลาดใจและรู้สึกขอบคุณที่มีผู้ชี้แจงเหตุผิดปกติในกระบวนการสอบสวนวิทยานิพนธ์ของข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง ในทางกลับกันยิ่งเมื่อข้าพเจ้าอ่านเนื้อความในหนังสือร้องเรียนโดยละเอียดแล้ว ซึ่งหากเอกสารนี้เป็นความจริงแล้วการลำดับสิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการนี้ยิ่งทำให้ข้าพเจ้าผิดหวังและเศร้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก ข้าพเจ้าไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่ประกอบด้วยเหล่าผู้ทรงคุณวุฒิในระดับเอกอุของประเทศ และหลายท่านเกี่ยวข้องกับการร่างและบังคับใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้นจะสามารถกระทำการดังกล่าวได้  

 

ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงนำแสดงหลักฐานหนังสือพิมพ์เอกราช ฉบับวันที่ 10 พฤศจิกายน 2490 ตามภาพข้างต้นนี้แสดงต่อท่าน เพื่อเป็นหลักฐานถึงการมีอยู่จริงของหนังสือพิมพ์ฉบับที่ข้าพเจ้าอ้างอิงในวิทยานิพนธ์ ข้าพเจ้าใคร่เรียนให้ท่านทราบว่าข้อกล่าวหาที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงมีต่อข้าพเจ้า และนำไปแจ้งต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยนั้นเป็นความเท็จ

 

 

นี่ไม่ใช่การชี้แจงครั้งแรก

การชี้แจงในจดหมายของณัฐพลในปี 2565 ฉบับนี้ไม่ใช่การชี้แจงครั้งแรก เพราะณัฐพลเคยชี้แจง ยอมรับ และขอแก้ไข 1 ใน 31 จุดที่ไชยันต์ร้องเรียนมาแล้วเมื่อปี 2561 แต่จุฬาฯ ไม่ให้แก้ไขเนื่องจากไม่มีระเบียบให้แก้ไข และผลคือมหาวิทยาลัยระงับการเผยแพร่วิทยานิพนธ์ทั้งบนชั้นหนังสือและทางเว็บไซต์ 

 

โดยการชี้แจงครั้งล่าสุดนี้อยู่ใน ข้อ 3.1 จากเนื้อหา 5 ข้อของจดหมาย ขณะที่ข้อ 3 มีรายละเอียดทั้งหมด 7 ข้อ (3.1-3.7)

 

ข้อ 3 ในจดหมายของณัฐพล ระบุว่า ข้าพเจ้าขอใช้โอกาสนี้ชี้แจงประเด็นสำคัญบางประเด็นที่นักวิชาการและสื่อฝ่ายขวาร่วมกันโจมตีและกล่าวหาว่า ข้าพเจ้าพยายามสร้างความเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อีกทั้งยังเป็นประเด็นที่อยู่ในคำถาม 31 ข้อของ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงใช้เป็นเกณฑ์ในการสอบสวนข้าพเจ้าดังต่อไปนี้

 

3.1 กรณีกรมขุนชัยนาทนเรนทรเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ข้าพเจ้าขอเรียนว่า เมื่อปี 2561 ข้าพเจ้าได้เคยชี้แจงเรื่องนี้แก่คณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ไปตั้งแต่ในครั้งนั้นแล้วว่าข้าพเจ้ายอมรับความผิดพลาดจากการอ่านเอกสาร อันมิใช่การสร้างข้อมูลเท็จแต่อย่างใด ซึ่งคณะกรรมการฯ ครั้งนั้นไม่ติดใจแต่ประการใด และสั่งการให้ข้าพเจ้าทำเรื่องขอแก้ไขข้อความดังกล่าวต่อบัณฑิตวิทยาลัย แต่สุดท้ายทางบัณฑิตวิทยาลัยไม่อนุญาตให้มีแก้ไข ปรับปรุง ข้อความใดๆ ในวิทยานิพนธ์ เนื่องจากกระบวนการสอบได้เสร็จสิ้นไปแล้ว ดังนั้นข้าพเจ้ายอมรับความผิดพลาดในประเด็นดังกล่าวและแสดงเจตนาขอแก้ไขไปแล้ว แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่มีระเบียบให้แก้ไข

 

ขณะที่ข้อ 3.2-3.7 มีการชี้แจงรายละเอียดแต่ละประเด็นที่ถูกโจมตีกล่าวหาในประเด็นต่างๆ 

 

โดยณัฐพลอ้างอิงข้อมูลจากหลักฐาน เช่น หนังสือ, งานวิจัย, เอกสารจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐฯ NARA, บทความวิชาการ, บันทึกของทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยที่บันทึกไว้ในหนังสือ, รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร, ข้อความและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ปรากฏสอดแทรกตามหนังสือหรือเอกสารต่างๆ ที่ถูกผลิตขึ้นร่วมสมัยหรือในภายหลัง

 

หัวข้อที่ชี้แจงในข้อ 3.2-3.7 ประกอบด้วย 

 

3.2 กรณีความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

 

3.3 บทบาทของพระบรมราชชนนีในเหตุการณ์รัฐประหาร 2490  

 

3.4 กรณีบทบาทของกรมขุนชัยนาทฯ ในเหตุการณ์รัฐประหาร 2490

 

3.5 กรณีข้อความในเชิงอรรถที่ 27 หน้า 231 ของวิทยานิพนธ์ของข้าพเจ้า

 

3.6 กรณีพระองค์เจ้าธานีนิวัตทรงไม่โปรด ปรีดี พนมยงค์ และจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาจากแหล่งอ้างอิงใด

 

สำหรับข้อ 3.7 กรณีการเขียนพระนามของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ผิดเป็น ‘พระพันวษาอัยยิกาเจ้า’ ณัฐพลระบุว่า ข้าพเจ้ายอมรับความผิดพลาดจึงขอแก้ไขเป็น ‘พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า’ แทน

 

ความเห็น ‘4 ผู้ทรงคุณวุฒิ’ ผ่าน 3 มุมมองกรรมการชุด ‘บวรศักดิ์-เขมรัฐ-ณัฐพล’

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในปี 2564 ประกอบด้วยกรรมการ 5 ท่าน คือ  

 

  1. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2558 และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ เป็นประธานกรรมการ

 

  1. สุจิต บุญบงการ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นกรรมการ

 

  1. นรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นกรรมการ

 

  1. ธีรยุทธ วิไลวัลย์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นกรรมการ

 

  1. ปาริชาต สถาปิตานนท์ รองอธิการบดีด้านวิชาการและการเชื่อมโยงกับสังคม เป็นเลขานุการ

 

ทั้งนี้ กรรมการ 5 ท่านได้ส่งข้อมูลอันประกอบด้วย วิทยานิพนธ์ของ ณัฐพล ใจจริง และข้อร้องเรียน 31 ข้อของ ไชยันต์ ไชยพร ให้กับผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ท่าน ซึ่งเป็นคนนอก ไม่ใช่กรรมการ 4 ใน 5 ท่านของกรรมการชุดที่บวรศักดิ์เป็นประธาน 

 

ผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ท่านเป็นผู้อ่านวิทยานิพนธ์ของ ณัฐพล ใจจริง และอ่านข้อร้องเรียน 31 ข้อของ ไชยันต์ ไชยพร เพื่อพิจารณาให้ความเห็นแก่คณะกรรมการชุดที่บวรศักดิ์เป็นประธาน

 

ต่อมาเลขานุการของคณะกรรมการชุดที่บวรศักดิ์เป็นประธานคือ ปาริชาต สถาปิตานนท์ ได้นำเสนอรายงานการสอบข้อเท็จจริงต่อที่ประชุมสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

 

ขณะที่ เขมรัฐ โอสถาพันธุ์ กรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประเภทคณาจารย์ประจำ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ขอให้มีการสอบสวนอย่างรอบคอบ หลังจากได้ไปดูเอกสารสอบสวนข้อเท็จจริงด้วยตัวเองที่ศูนย์กฎหมาย จุฬาฯ ตึกจามจุรี 5 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565

 

โดยเขมรัฐระบุเนื้อหาในจดหมาย 4 ข้อ ซึ่งประเด็นสำคัญอย่างยิ่งคือข้อ 3 และ 4 

 

เขมรัฐระบุในข้อ 3 และ 4 ถึงการรายงานของ ปาริชาต สถาปิตานนท์ ที่นำเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยว่าไม่ได้เปิดโอกาสให้ณัฐพลโต้แย้งหรือแก้ข้อกล่าวหา และมีการนำเอาข้อมูลปลอม (Fake News / Misinformation) มานำเสนอในการประชุมสภามหาวิทยาลัย กล่าวหาณัฐพล ทำให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยได้รับข้อมูลที่ไม่จริงมาประกอบการตัดสินใจ 

 

“ข้อ 3. ในกรณีการอ้างอิงหนังสือพิมพ์เอกราช ฉบับวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่มีการกล่าวหาว่าณัฐพลอ้างเอกสารอ้างอิงเท็จในรายงานสอบสวนข้อเท็จจริงที่ส่งให้สภามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงมาก ผมได้ทราบข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่ว่า “คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงไม่เคยแจ้งข้อกล่าวหานี้ต่อณัฐพล และไม่มีการเรียกหลักฐานเอกสารหนังสือพิมพ์เอกราชดังกล่าวจากณัฐพล” การกระทำดังกล่าวของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเป็นการละเมิด (Violate) สิทธิของผู้ถูกกล่าวหาในการอธิบาย โต้แย้ง หรือแก้ข้อกล่าวหา และทราบว่ากรรมการทุกท่านทราบว่าไม่ได้ทำตามขั้นตอนการสอบสวนที่ถูกต้อง แต่ก็ยังดำเนินการต่อ (ดูจากรายงานการประชุมคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ที่มีมติให้ดำเนินการหาข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์เอกราช) โดยข้อนี้ผมถือว่าร้ายแรงมาก เป็นการละเมิดกระบวนการพิจารณาอย่างเป็นธรรม (Violate Due Process) ของณัฐพลอย่างชัดเจน ควรจะมีการสอบสวนอย่างเร่งด่วนว่าทำไมถึงเกิดขึ้น เพราะอาจมีผลทำให้กระบวนการหาข้อเท็จจริงที่ผ่านมาทั้งหมดเป็นโมฆะ และต้องเริ่มกระบวนการสอบสวนใหม่ทั้งหมดหากต้องพิจารณาเรื่องนี้ในศาล

 

“ข้อ 4 และเป็นที่แน่นอนว่า หนังสือพิมพ์เอกราช ฉบับวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 มีอยู่จริงนั้นหมายความว่าการนำเสนอของเลขานุการสอบข้อเท็จจริงในการประชุมสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ผ่านมา มีการนำเอาข้อมูลปลอม (Fake News / Misinformation) มานำเสนอในการประชุมในการกล่าวหาณัฐพลอย่างผิดๆ ทำให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยได้รับข้อมูลที่ไม่จริงมาประกอบการตัดสินใจ การนำ Fake News / Misinformation ในประกอบการนำเสนอในการประชุมสภามหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเรื่องใดๆ เป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นและไม่ควรบันทึกในรายงานการประชุม หรือถ้าจะบันทึกก็ควรมีหมายเหตุว่าเป็น Fake News / Misinformation” เขมรัฐ ระบุในจดหมายเปิดผนึก

 

ข้อ 4 ในจดหมายของณัฐพล ระบุว่า หลังจากคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงมีคำสั่งเรียกข้าพเจ้าไปให้ข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการสอบฯ แล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 คณะกรรมการสอบฯ ส่งเอกสารความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ 4 ท่านที่ตรวจสอบวิทยานิพนธ์ให้ข้าพเจ้า และสั่งให้ข้าพเจ้าตอบคำถามและคำวิจารณ์ต่างๆ กลับไป ข้าพเจ้าจึงทำหนังสือชี้แจงกลับไปยังประธานคณะกรรมการสอบฯ ในหนังสือลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 (โปรดดูเอกสารแนบที่ 2)

 

จากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 ท่านที่คณะกรรมการฯ ส่งมาให้ข้าพเจ้าพิจารณานั้น ข้าพเจ้าพบว่าผู้เชี่ยวชาญมิได้มีความเห็นไปในทางเดียวกัน หรือมิได้มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าข้าพเจ้ามีความผิด โดยข้าพเจ้าขอสรุปสาระสำคัญดังต่อไปนี้

 

4.1 ผู้เชี่ยวชาญท่านที่ 1 ประเด็นสำคัญและร้ายแรงของผู้เชี่ยวชาญท่านนี้คือ การกล่าวหาว่าข้อความที่ปรากฏในวิทยานิพนธ์ของข้าพเจ้าที่ว่า “…จากการเปิดเผยในการประชุมสภาผู้แทนฯ ในปลายเดือนสิงหาคม 2500 ถึงการประชุม 4 จอมพล เพื่อจับกุมพระมหากษัตริย์นี้ การประชุม 4 จอมพล ดังกล่าว จอมพล ป. มิได้เข้าร่วมประชุมด้วย” เข้าลักษณะสร้างข้อมูลเท็จ ทั้งปลอมแปลงและดัดแปลงข้อมูลออกมาเป็นข้อความที่ร้ายแรงขั้นอุกฤษฏ์…”

 

ข้าพเจ้าได้ส่งคำชี้แจงและตอบโต้ข้อกล่าวหาดังกล่าว กลับไปยังประธานคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ว่าผู้เชี่ยวชาญท่านนี้บกพร่องในการอ่านเอกสารเองอย่างเห็นได้ชัดความว่า 

 

ในกรณีนี้ข้าพเจ้าขอชี้แจงว่า ในหน้า 1,033 ของรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 10/ 2500 (สามัญ) อันเป็นเอกสารที่ทางคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแต่งตั้งส่งมาให้ข้าพเจ้า มีข้อความระบุว่า “เขาบอกว่าอย่างนี้ครับ บอกว่า ฯพณฯ รัฐมนตรีมหาดไทย นายพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ โปรดเสนอให้มีการจับกุมองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและรัฐมนตรีบางคนและนักการเมืองบางคนว่าอย่างนี้ครับ” ฉะนั้นจากคำอธิบายในข้อ 1.4 และ 1.5 

 

ข้าพเจ้าจึงขอปฏิเสธข้อกล่าวหาร้ายแรงดังกล่าวของผู้เชี่ยวชาญท่านที่ 1

 

สำหรับสาเหตุที่บุคคลสำคัญในรัฐบาลจอมพล ป. จะกระทำเช่นนั้น ปรากฏในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 10/2500 (สามัญ) ชุดที่ 2 วันที่ 29 สิงหาคม 2500 ปรากฏข้อความในหน้า 1,031-1,032 ได้เท้าความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต้นเดือนกุมภาพันธ์ว่า “ในการประชุมพรรคเสรีมนังคศิลา ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 นี่ผมก็ได้มาจากในพรรคของท่านนั้นเอง ซึ่งประชุมเฉพาะก่อนที่ประชุมเฉพาะ ส.ส. มนังคศิลา ประเภท 1 เขาบอกว่า ฯพณฯ นายพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ชี้แจงให้ที่ประชุมทราบต่อหน้า ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ว่าได้มีหลักฐานแน่นอนว่า ประทานโทษครับ ในหลวงทรงมอบเงิน 7 แสนบาทให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กับ ควง อภัยวงศ์ มาเล่นการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์ นี่ข่าวมันออกมาว่าอย่างนี้”

 

ส่วนความจริงจะเป็นเช่นไรนั้นข้าพเจ้ามิอาจทราบได้ แต่เรื่องดังกล่าวมีการอภิปรายไว้ในสภาผู้แทนฯ และมีการบันทึกเป็นหลักฐานของทางราชการไว้ ดังนั้นข้อความที่ข้าพเจ้าเขียนในดุษฎีนิพนธ์จึงเป็นการสรุปสาระสำคัญจากหลักฐานต่างๆ เช่น รายงานการประชุมสภาผู้แทนฯ ที่ข้าพเจ้าสามารถสรุปรวบรวมมาได้ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนั้นเท่านั้น

 

4.2 ผู้เชี่ยวชาญท่านที่ 2 นอกจากจะวิจารณ์แล้วยังเห็นว่า “ข้อเด่นของงานวิทยานิพนธ์นี้อยู่ที่การวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองและการต่างประเทศนับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงปี 2500 ได้อย่างละเอียดรอบด้านและชวนติดตาม งานยังวิเคราะห์บทบาทของสหรัฐฯ โดยเฉพาะนโยบายต่างประเทศได้อย่างลุ่มลึก แนวการวิเคราะห์ที่โดดเด่นคือ แนวทางที่ผู้วิพากษ์อยากใช้คำว่า ‘ย้ายขุนเขา’ ในนัยของการไม่ใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเสมอไป เพราะนับแต่ยุคอาณานิคมในศตวรรษที่ 19 เป็นอย่างช้า กงล้อประวัติศาสตร์ก็ได้ถูกขับเคลื่อนโดย ‘ผู้มีส่วนได้เสีย’ ที่หลากหลาย ในที่นี้ผู้เขียนได้ให้น้ำหนักและความสำคัญต่อสหรัฐอเมริกาในฐานะผู้ขับเคลื่อนกงล้อประวัติศาสตร์ การตีแผ่การแทรกแซงการเมืองไทยของสหรัฐฯ ที่ย้อนไปจน ‘ถึงต้นน้ำ’ คือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วยทำให้เกิดความกระจ่างชัดว่าการแทรกแซงทางการเมืองของสหรัฐฯ มิใช่พึ่งจะเริ่มในยุคนี้ ทุกอย่างเป็นมาเป็นไปบนวิถีที่มหาอำนาจนั้น คำนึงถึงผลประโยชน์แห่งตนเป็นที่ตั้ง คุณูปการของงานวิทยานิพนธ์ในส่วนนี้ไม่อาจมองข้ามได้” และท่านมิได้กล่าวหาว่าข้าพเจ้ามีพฤติกรรมดังที่ท่านที่ 1 กล่าวหาแต่อย่างใด

 

นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญท่านที่ 2 ยังเสริมถึงลักษณะธรรมชาติของการสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการอีกว่า “ประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนใคร่ย้ำในส่วนท้ายของการวิพากษ์งานวิทยานิพนธ์ เรื่อง การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500) เมื่อได้ถูกเขียนออกมาแล้ว ต้องนับเป็นสมบัติทางวิชาการของแผ่นดิน และย่อมเป็นปกติวิสัยที่งานจะมีทั้งข้อเด่นและข้อด้อย แทนที่จะมุ่งทำลายหักล้างและด้อยค่างาน ควรที่ผู้ศึกษาจะพึงใช้วิจารณญาณแยกแยะด้วยใจเป็นธรรม ระมัดระวังในด้านที่เป็นข้อด้อย และยังประโยชน์ในด้านที่เป็นข้อเด่น ในด้านของผู้วิพากษ์ต้องขอสารภาพว่า ผู้วิพากษ์ไม่ได้มีความชำนาญประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาที่ผู้เขียน (ณัฐพล) ศึกษา การวิพากษ์เป็นการตรวจสอบการใช้ข้อมูลหลักฐานจากงานวิทยานิพนธ์ของผู้เขียนเป็นสำคัญ จึงเป็นไปได้ที่งานวิพากษ์นี้อาจมีข้อบกพร่อง และผู้วิพากษ์เองก็มิได้เห็นว่างานวิพากษ์นี้จะเป็นข้อยุติ และถ้าจะเป็นก็เป็นเพียงอีกมุมมองหนึ่งทางวิชาการของนักวิชาการคนหนึ่งต่องานวิทยานิพนธ์ของ ณัฐพล ใจจริง”

 

4.3 ผู้เชี่ยวชาญท่านที่ 3 ให้คำแนะนำและตระหนักถึงการปรากฏของข้อความที่ข้าพเจ้าตระหนักรู้ถึงข้อจำกัดไว้ในวิทยานิพนธ์ครั้งนั้น โดยท่านที่ 3 ได้เขียนไว้ในรายงานว่า “อย่างไรก็ดี ผู้เขียน (ณัฐพล) ได้ระบุไว้ในข้อ 1.8 หน้า 25 ว่า ภาพการเมืองไทยที่ปรากฏจากงานวิจัยชิ้นนี้ยังคงรอการยืนยันและโต้แย้งหรือถกเถียงจากการค้นคว้าวิจัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป” ซึ่งท่านหมายความว่า ท่านเห็นว่าข้าพเจ้าตระหนักดีว่าการสร้างองค์ความรู้ในวิทยานิพนธ์เปรียบเหมือนแบบจำลองทางความรู้ที่รอการยืนยันหรือหักล้างต่อไปในอนาคต ซึ่งเป็นวิถีปกติแห่งโลกทางวิชาการ และท่านให้คำแนะนำหลายประการต่อข้าพเจ้า เช่น การค้นคว้าเอกสารไทยให้มากขึ้น ซึ่งข้าพเจ้าขอน้อมรับคำแนะนำที่มีคุณค่าเหล่านี้เพื่อใช้ในการค้นคว้าต่อไปในอนาคต และที่สำคัญท่านมิได้กล่าวหาว่า ข้าพเจ้ามีพฤติกรรมดังที่ท่านที่ 1 กล่าวหาแต่อย่างใด

 

4.4 ส่วนผู้เชี่ยวชาญท่านที่ 4 นั้น ท่านตรวจสอบแล้วเห็นว่าข้อความส่วนใหญ่และการอ้างอิงเหมาะสม ยอมรับได้ ให้ข้าพเจ้าปรับปรุงเล็กน้อย และที่สำคัญท่านมิได้กล่าวหาว่าข้าพเจ้ามีพฤติกรรมดังที่ท่านที่ 1 กล่าวหาแต่อย่างใด

 

อาจสรุปได้ว่า จากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 ท่านที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแต่งตั้งข้างต้นนั้น สามารถจำแนกความเห็นได้ดังนี้ คือ 1 ท่านวิพากษ์วิจารณ์และตั้งข้อกล่าวหาข้าพเจ้าอย่างรุนแรง ส่วน 2 ท่านนั้นวิจารณ์ แนะนำ ชี้ให้เห็นถึงคุณูปการของวิทยานิพนธ์ และตระหนักว่าวิทยานิพนธ์คือแบบจำลองของความรู้ที่รอการหักล้างหรือยืนยันทางวิชาการต่อไปในอนาคต และที่สำคัญไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหารุนแรงอย่างคนแรก และอีก 1 ท่านมีความเห็นในทางเป็นคุณแก่ข้าพเจ้า และที่สำคัญไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหารุนแรงอย่างคนแรกเช่นกัน

 

ความเห็นของข้าพเจ้าข้างต้นจึงมีความสอดคล้องกับข้อความในหนังสือร้องเรียนของ รศ.ดร.เขมรัฐ ที่ปรากฏตามข่าวในส่วนที่ว่า  “…หลังจากที่ณัฐพลทำจดหมายตอบคำวิพากษ์ของผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 4 คนส่งมายังคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงก็ได้ส่งคำตอบของณัฐพลดังกล่าวไปยังผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 4 ทางไปรษณีย์ เพื่อพิจารณาคำตอบของณัฐพล โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิเพียงคนเดียวที่มีการโต้แย้งการตอบกลับมารอบที่ 2 ซึ่งอาจแปลว่าผู้ทรงคุณวุฒิอีก 3 คนพอใจหรือเห็นด้วยกับคำตอบส่วนใหญ่ของณัฐพล” ณัฐพลระบุในข้อ 4 ของจดหมายที่มีทั้งหมด 5 ข้อ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising