วันนี้ (21 กรกฎาคม) ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส. กรุงเทพฯ เขต 27 พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สื่อสารผ่านแอปพลิเคชัน X ว่า การเรียกปลาหมอคางดำเป็นปลาปีศาจคือวาทกรรม ฟังแล้วให้ภาพเกินจริง เพราะปลาชนิดนี้สามารถกินได้ ไม่มีพิษมีภัยอะไร และที่ว่าหลุดเข้าไปกินลูกกุ้งในบ่อเพาะเลี้ยงนั้น ปลาอะไรก็ชอบกินลูกกุ้ง ไม่เฉพาะแต่ปลาหมอคางดำเท่านั้น ถ้าไม่ป้องกันให้ดีตั้งแต่ต้น ปล่อยให้มีปลาหลุดเข้าไปในบ่อเพาะเลี้ยงก็เสียหายได้ทั้งนั้น
ณัฐชากล่าวว่า ทันทีที่ตนเห็นทัศนะแบบนี้ของโฆษกรัฐบาล ก็รู้สึกสงสารพี่น้องประชาชนผู้เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง และประมงน้ำจืดต่างๆ ที่ได้รับความเสียหายกันมาเป็นสิบปี โดยเฉพาะบริเวณตำบลยี่สารและแม่น้ำลำคลองต่างๆ ในจังหวัดสมุทรสงคราม หลายคนหมดเนื้อหมดตัวจนต้องเปลี่ยนอาชีพไป การหายไปของผู้ทำประมงรายย่อยยังน่ากังวลว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการผูกขาดอาหารในอนาคต ส่วนที่เหลือรอดก็คงไม่พ้นเอกชนเจ้าใหญ่ที่นำเข้าปลาหมอคางดำมาเมื่อสิบปีก่อน จนตอนนี้ปัญหาลุกลามบานปลายไปทั่วประเทศ ทั้งยังส่อเค้าว่าปัญหาจะขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย ทัศนะเช่นนี้ของโฆษกรัฐบาลคือการดูเบาปัญหา ไม่ตระหนักถึงระบบนิเวศที่พังทลายไป และยังกล่าวโทษเกษตรกรอย่างไม่เข้าอกเข้าใจความเดือดร้อนของพวกเขาเลย
“ปัญหาอาจไม่ได้เริ่มในยุคท่านก็จริง แต่วันนี้มันวิกฤตขนาดนี้ยังไม่รู้ตัว พูดออกมาได้ว่าไม่มีพิษมีภัย เคยไปคุย ไปสัมผัส ไปซับน้ำตา คนที่เขาประสบปัญหาจริงๆ บ้างไหมว่าเขาเจออะไรมาบ้าง ลูกกุ้งลูกปลาในบ่อมีปลาอื่นๆ คุกคามบ้างก็จริง แต่เขารับมือได้ เขารู้วิธีเลี้ยง วิธีกำจัด และจำกัดความเสียหายได้ แต่ไม่ใช่สำหรับปลาหมอคางดำที่หลุดลงบ่อ มันรู้จักมุด ซ่อนตัว หนี และแพร่พันธุ์ไวมาก เพียงแป๊บเดียวหมดบ่อ เข้าใจคำนี้ไหม หมดบ่อ อย่าลอยตัวอยู่ในห้องแอร์ ไปเจอปัญหาของจริงก่อน และที่พูดมานี้ผมสงสัยจริงๆ ว่าพูดในฐานะโฆษกรัฐบาลหรือโฆษกเอกชน ท่านจะปกป้องปลาหมอคางดำอะไรขนาดนั้น” ณัฐชากล่าว
ณัฐชากล่าวต่อไปว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือการเลิกดูเบาปัญหาและยอมรับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้เร่งหามาตรการแก้ปัญหาให้สมกับระดับที่เป็นวาระแห่งชาติ ไม่ใช่แค่มองว่ากินได้แล้วจบ เพราะการจัดการกับเอเลี่ยนสปีชีส์ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องบูรณาการทุกภาคส่วนอย่างรอบคอบและรัดกุม
นอกจากนี้ จากกรณีที่รัฐบาลออกมาตรการแก้ปัญหาด้วยการรับซื้อปลาหมอคางดำที่กิโลกรัมละ 15 บาท ณัฐชากล่าวว่า มาตรการนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2561 ซึ่งรับซื้อที่กิโลกรัมละ 20 บาทด้วยซ้ำ แต่กลับทำให้ปลาหมอคางดำเพิ่มจำนวนและระบาดหนักกว่าเดิม ไม่ได้ช่วยขจัดต้นตอของปัญหาแต่อย่างใด จึงขอให้รัฐบาลรับฟังเสียงท้วงติงบ้าง และกลับมาทบทวนหามาตรการเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพกว่านี้
“ฝ่ายค้านเราเตือนดีๆ ด้วยความห่วงใย ปี 2561 เคยมีมาตรการรับซื้อที่กิโลกรัมละ 20 บาทมาแล้ว แต่กลับระบาดหนักกว่าเดิม ฟังกันหน่อยครับ เราพูดจากบทเรียนที่เกิดขึ้นจริง อย่าประมาท ปี 2561 ทำไปแล้วผลเป็นอย่างไร กลับไปถอดบทเรียนก่อนดีไหม แทนที่จะดื้อดึงไม่ฟังใคร มาช่วยกันคิดดีกว่าว่าแผนการแก้ปัญหาขั้นต่อไปควรจะเป็นอย่างไร รับปากประชาชนได้ไหมว่าจัดการได้แน่นอน และสุดท้ายเรื่องที่ประชาชนอยากรู้มากๆ เวลานี้คือ สรุปแล้วใครเพาะพันธุ์ ใครทำหลุด รัฐบาลช่วยตอบคำถามประชาชนในเรื่องนี้ด้วยครับ” ณัฐชากล่าว