การประชุมสุดยอดผู้นำองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO (North Atlantic Treaty Organisation) ที่กรุงวิลนีอัส ประเทศลิทัวเนีย ตลอดสองวันที่ผ่านมา ปิดฉากไปเมื่อวานนี้ (12 กรกฎาคม) ท่ามกลางการจับตามองจากทั่วโลก เนื่องจากประเด็นหลักของเวทีประชุมครั้งนี้ คือกรณีสงครามในยูเครน ซึ่งยังไม่มีทีท่าจะยุติหรือหาทางออกได้ง่ายๆ หลังผ่านมาแล้ว 17 เดือน
แถลงการณ์ร่วมจากผู้นำ ทั้งชาติสมาชิก G7 อย่างสหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, ญี่ปุ่น, แคนาดา, อิตาลี และสหภาพยุโรป มีการประกาศกรอบการทำงานระหว่างประเทศ เพื่อเปิดทางสู่การรับประกันความมั่นคงในระยะยาวแก่ยูเครน และเพื่อป้องปรามการรุกรานในอนาคตจากรัสเซีย ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย ตลอดจนการฝึกฝนทางทหาร การแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองและการป้องกันทางไซเบอร์
ขณะที่ความหวังในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO ของยูเครนยังดูยาวไกลและจำเป็นต้องมีการปฏิรูปที่จำเป็นอีกมากมาย โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวย้ำว่า ชาติ G7 จะช่วยยูเครนสร้างกองทัพที่แข็งแกร่ง ในขณะที่รอเข้าร่วม NATO และชี้ว่า “อนาคตของยูเครนนั้นอยู่ใน NATO” และให้คำมั่นว่าการสนับสนุนยูเครนของ G7 จะคงอยู่ไปถึงอนาคต
และนี่คือสรุปสาระสำคัญทั้งหมดที่น่าจับตามองจากการประชุมของพันธมิตรทางทหาร NATO ในรอบนี้
เซเลนสกีพอใจผลการประชุม ลั่น ‘ชัยชนะด้านความมั่นคงครั้งสำคัญ’
ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน เดินทางไปถึงลิทัวเนียเมื่อวันอังคาร (11 กรกฎาคม) และได้ออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจ ที่ไม่ได้รับรายละเอียดที่เจาะจงมากกว่าเดิม ว่ายูเครนจะได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO เมื่อใดและอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าผลการประชุมจะสร้างความยินดีแก่เขามากพอที่จะกลับบ้านได้อย่างมีความสุข โดยเขากล่าวว่า “ผลการประชุมสุดยอดเป็นไปด้วยดี” ในการแถลงข่าวร่วมกับเยนส์ สโตลเตนเบิร์ก (Jens Stoltenberg) เลขาธิการ NATO
หนึ่งในความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นระหว่างการประชุม NATO ครั้งนี้ คือการเห็นพ้องที่จะยกเลิกข้อกำหนดหนึ่งข้อสำหรับการเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO ของยูเครน คือแผนปฏิบัติการสมาชิกภาพ (Membership Action Plan: MAP) ซึ่งเป็นโครงการให้คำแนะนำและช่วยสร้างโรดแมปสำหรับการเข้าเป็นสมาชิก NATO ในอนาคต และเสริมสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศสมาชิก NATO
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมผู้นำ NATO ไม่มีการกำหนดช่วงเวลาที่ชัดเจน ว่ายูเครนจะได้ร่วมเป็นสมาชิก NATO อย่างเป็นทางการเมื่อใด
ทั้งนี้ ไบเดนได้พูดคุยกับเซเลนสกีในการประชุมนอกรอบ และให้สัญญาว่าสหรัฐฯ จะทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อตอบสนองความต้องการของยูเครน และรับทราบถึงความไม่พอใจของเซเลนสกี เกี่ยวกับขนาดและความรวดเร็วของการสนับสนุน
“ความคับข้องใจนั้น ผมคงได้แต่จินตนาการ ผมรู้ว่าหลายครั้งคุณหงุดหงิดกับอะไรที่จะทำให้สิ่งต่างๆ ไปถึงคุณเร็วพอ อะไรจะไปถึงคุณ และเราจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร แต่ผมสัญญากับคุณว่า สหรัฐฯ กำลังทำทุกอย่างที่เราทำได้ เพื่อให้คุณได้รับสิ่งที่ต้องการโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้”
ในแถลงการณ์ของ G7 ไบเดนกล่าวว่า “จะมีการเจรจาพันธกรณีด้านความมั่นคงทวิภาคีระยะยาวกับยูเครน” และให้คำมั่นว่า “จะช่วยยูเครนสร้างการป้องกันที่แข็งแกร่งทั้งทางบก ทางอากาศ และทางทะเล” โดยเขาเรียกมันว่า “พลังแห่งความมั่นคงในภูมิภาค เพื่อยับยั้งภัยคุกคามทั้งหมด”
สำหรับเนื้อหาแถลงการณ์ความยาว 3 หน้ากระดาษของ G7 นั้นระบุรายละเอียดในการดำเนินการเพื่อรับประกันความมั่นคงแก่ยูเครน โดยมีเป้าหมาย 3 ประการคือ
- ดำเนินการเพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะมีกองทัพที่สามารถปกป้องยูเครนได้อย่างยั่งยืนในตอนนี้ และยับยั้งการรุกรานของรัสเซียในอนาคตได้ ผ่านการช่วยเหลือด้านความมั่นคงอย่างต่อเนื่องและอุปกรณ์ทางทหารที่ทันสมัย ตลอดจนการสนับสนุนการพัฒนาฐานอุตสาหกรรมของยูเครน การฝึกอบรมกองทัพ การแบ่งปันข่าวกรอง การสนับสนุนการป้องกันทางไซเบอร์และความมั่นคง
- การเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของยูเครน ผ่านความพยายามในการฟื้นฟูประเทศ เพื่อสร้างสภาวะที่เอื้อต่อการส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและความมั่นคงด้านพลังงาน
- การสนับสนุนทางเทคนิคและการเงิน สำหรับความต้องการเร่งด่วนของยูเครนที่เกิดจากผลกระทบของสงคราม และช่วยให้ยูเครนดำเนินการตามวาระการปฏิรูปที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่เซเลนสกีกล่าวว่า ข้อตกลงพหุภาคีซึ่งปูทางไปสู่การเจรจาทวิภาคีกับประเทศต่างๆ ถือเป็น ‘ชัยชนะด้านความมั่นคงครั้งสำคัญ’ ของยูเครน แม้ว่าจะแสดงความผิดหวังต่อการขาดแนวทางที่ชัดเจนสำหรับประเทศของเขาในการเข้าร่วม NATO
“วันนี้มีการรับประกันความมั่นคงสำหรับยูเครนในเส้นทางสู่ NATO คณะผู้แทนของยูเครนกำลังนำชัยชนะด้านความมั่นคงกลับบ้าน”
เซเลนสกียังโพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ ระบุถึงการพูดคุยกับไบเดนว่า “ได้มีการหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์ในสมรภูมิแนวหน้า ตลอดจนขีดความสามารถของยูเครน และความร่วมมือทางทหารในระยะยาว รวมถึงกระบวนการภายในของรัสเซียจากเหตุการณ์ล่าสุด” พร้อมขอบคุณ “ไบเดน รัฐสภา และประชาชนอเมริกันสำหรับความช่วยเหลือที่สำคัญยิ่ง
“สหรัฐฯ ยืนเคียงข้างยูเครนตลอดการป้องกันการรุกราน เราขอขอบคุณอย่างยิ่ง”
ไบเดน ให้คำมั่นสนับสนุนยูเครนไม่เปลี่ยนแปลง
ภายหลังการประชุม ประธานาธิบดีไบเดนได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ต่อฝูงชนที่มหาวิทยาลัยวิลนีอัส โดยย้ำว่า “ชาติตะวันตกจะไม่ละทิ้งยูเครนในการต่อสู้กับการรุกรานของรัสเซีย
“เมื่อปูตินและความปรารถนาอันแรงกล้าในดินแดนและอำนาจของเขา ปลดปล่อยสงครามที่โหดร้ายกับยูเครน เขาพนันว่า NATO จะแตกสลาย เขาคิดว่า NATO จะแตก เขาคิดว่าความสามัคคีของเราจะแตกเป็นเสี่ยงในการทดสอบครั้งแรก เขาคิดว่าผู้นำประชาธิปไตยจะอ่อนแอ แต่เขาคิดผิด” ไบเดนกล่าว
โดยเขายังย้ำว่า “ขณะนี้ NATO แข็งแกร่งขึ้น มีพลังมากขึ้น และเป็นปึกแผ่นยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์”
การเปิดสำนักงาน NATO ในญี่ปุ่น ยังอยู่ระหว่างพิจารณา
ช่วงท้ายของการประชุม NATO สโตลเตนเบิร์กตอบคำถามเกี่ยวกับแผนเปิดสำนักงาน NATO ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะถือเป็นสำนักงานแห่งแรกของ NATO ในทวีปเอเชีย โดยเขาให้คำตอบว่า “ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา” ซึ่งจะมีการพิจารณาในอนาคต
แต่ผู้นำฝรั่งเศสมองว่าควรระงับแผนดังกล่าว โดยเน้นว่า NATO ควรคงความสนใจไปยังพื้นที่แถบแอตแลนติกเหนือมากกว่า โดยประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง กล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ NATO จะต้องคงไว้ซึ่งต้นกำเนิดของการเป็นองค์กรที่มีฐานในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ และพันธมิตรไม่ควรแสดงความรู้สึกว่าต้องการขยายขอบเขตทางภูมิศาสตร์
“ไม่ว่าคุณจะมองอย่างไร เรื่องภูมิศาสตร์อาจดูเป็นการดันทุรัง อินโด-แปซิฟิกไม่ใช่แอตแลนติกเหนือ ดังนั้นเราต้องไม่สร้างความรู้สึกว่า NATO กำลังหาทางสร้างความชอบธรรม หรือแสดงตัวตนตามภูมิศาสตร์ในภูมิภาคอื่น” มาครงกล่าวในการแถลงข่าว
รัสเซียเตือนตอบโต้แผนสงครามเย็นของ NATO
รัสเซียกล่าวว่าการประชุมสุดยอดผู้นำ NATO ครั้งล่าสุดนี้ แสดงให้เห็นว่าพันธมิตรทางทหารของชาติตะวันตกได้กลับไปสู่ ‘แผนสงครามเย็น’ และมอสโกก็พร้อมที่จะใช้ทุกวิถีทางที่จำเป็นเพื่อตอบโต้ภัยคุกคามดังกล่าว
ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ออกแถลงการณ์เมื่อค่ำวานนี้ (12 กรกฎาคม) ระบุว่าผลการประชุมของ NATO จะได้รับการวิเคราะห์อย่างรอบคอบสำหรับภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัสเซีย และชี้ว่า “มหาอำนาจตะวันตกมุ่งมั่นที่จะแบ่งโลกออกเป็นประชาธิปไตยและเผด็จการ” พร้อมเสริมว่า “กากบาทของนโยบายค้นหาศัตรูนั้นมุ่งเป้ามาที่รัสเซีย”
แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ยังระบุว่า NATO นั้นกำลังลดเกณฑ์ในการใช้กำลังลงอย่างต่อเนื่อง แต่ขณะเดียวกันก็เพิ่มความตึงเครียดทางการเมืองและการทหาร ด้วยการจัดหาอาวุธที่ทรงพลังและซับซ้อนให้กับยูเครน
“ในระหว่างการยกระดับความขัดแย้ง พวกเขาได้ประกาศคำสัญญาชุดใหม่ที่จะจัดหาอาวุธพิสัยไกลที่ทันสมัยและทันสมัยมากขึ้นให้กับรัฐบาลเคียฟ เพื่อยืดเวลาความขัดแย้งให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” แถลงการณ์ระบุ และชี้ว่า “รัสเซียจะตอบโต้ด้วยการเสริมสร้างองค์กรทางทหารและระบบป้องกันของประเทศ”
ภาพ: Aytac Unal / Anadolu Agency via Getty Images
อ้างอิง: