×

F-16 จากพันธมิตร NATO จะช่วยยูเครนเพิ่มความสามารถรบกับรัสเซียได้แค่ไหน

09.08.2024
  • LOADING...
F-16

ในที่สุด F-16 ชุดแรกจากจำนวน 65 ลำที่กลุ่ม NATO อย่างเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก และนอร์เวย์ ประกาศว่าจะส่งมอบให้ ได้เดินทางมาถึงยูเครนและเข้าประจำการแล้ว โดยประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน ได้ทำพิธีรับมอบโดยมีฉากหลังเป็น F-16 ที่ติดตั้งจรวดอากาศสู่อากาศพิสัยใกล้อย่าง AIM-9M และ AIM-120B ซึ่งแม้จะไม่ใช่รุ่นใหม่ล่าสุด แต่ก็ถือว่าทันสมัยกว่าสิ่งที่ยูเครนเคยมีติดตั้งกับ MiG-29 ค่อนข้างมาก

 

ประเทศที่ประกาศมอบ F-16 ให้กับยูเครนนั้นต่างเป็นประเทศที่เคยใช้งาน F-16 เป็นเครื่องบินรบหลัก และต่อมามีการจัดหาเครื่องบินรบใหม่ที่ทันสมัยกว่าอย่าง F-35 เข้าประจำการ ซึ่งจริงๆ แล้วบางประเทศยังต้องการใช้งาน F-16 ต่อ แต่เมื่อเกิดสงครามที่รัสเซียบุกยูเครน ทำให้หลายประเทศพิจารณาปลดประจำการ F-16 เร็วขึ้นเพื่อส่งมอบให้กับยูเครนใช้งานทดแทนกำลังทางอากาศของยูเครนที่นอกจากจะล้าสมัยเพราะใช้งานเครื่องบินรบในยุคโซเวียตอย่าง MiG-29 หรือ Su-27 แล้ว ยังถูกทำลายไปเป็นจำนวนมากในช่วงสองปีของสงครามที่ผ่านมา

 

F-16 เหล่านี้แม้เป็นเครื่องบินที่ใช้งานมานานแล้ว แต่เป็นที่ทราบกันว่าเป็น F-16 ที่ได้รับการปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มประเทศที่บริจาค F-16 ให้ยูเครนต่างเป็นกลุ่มประเทศที่ริเริ่มโครงการปรับปรุงช่วงครึ่งชีวิตหรือ Mid-Life Upgrade หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ MLU ให้กับ F-16 ในช่วงกว่า 20 ปีก่อน โดยเป็นการปรับปรุงเพื่อยืดอายุการใช้งานทั้งโครงสร้างอากาศยานและเปลี่ยนระบบต่างๆ ของเครื่องบินให้มีความทันสมัยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรดาร์ คอมพิวเตอร์ควบคุมการใช้อาวุธ ระบบพิสูจน์ฝ่าย การปรับปรุงห้องนักบิน รวมถึงการติดตั้งระบบอาวุธใหม่ๆ ทั้งอากาศสู่อากาศและอากาศสู่พื้น และได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องมาตลอดหลายปีที่เข้าประจำการ

 

จึงถือว่าแม้ F-16 เหล่านี้จะเป็น F-16 รุ่นแรกๆ ที่ออกมาจากสายการผลิตและมีอายุไม่ห่างจาก F-16 ของฝูง 103 และ 403 ของกองทัพอากาศไทยมากนัก แต่ถือเป็น F-16 ที่มีความทันสมัยพอสมควร และยังสามารถใช้งานได้ค่อนข้างดีในสภาวะแวดล้อมปัจจุบัน

 

จากรูปลักษณ์ภายนอกและข้อมูลหมายเลขประจำเครื่องบ่งบอกว่า F-16 ล็อตแรกที่เข้าประจำการในยูเครนนั้นเป็น F-16 ที่เคยประจำการในกองทัพเดนมาร์ก จุดสังเกตที่เห็นได้ชัดเจนก็คือระบบป้องกันตัวเองที่ผลิตโดยบริษัท Terma ที่ติดตั้งอยู่ใต้ปีก ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็น Pylon Integrated Dispensing System Plus หรือ PIDS+ และน่าจะมี Electronic Combat Integrated Pylon System Plus หรือ ECIPS+ มาด้วยเช่นกันตามที่เคยใช้งานในกองทัพอากาศเดนมาร์ก

 

PIDS+ และ ECIPS+ นั้นเป็นระบบป้องกันตนเองและระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเติมจากระบบที่ติดตั้งมาบนเครื่องบิน โดยจะติดตั้งที่ไพลอนใต้ปีก ซึ่งตัวระบบนั้นสามารถทำหน้าที่เป็นไพลอนได้ด้วย ทำให้การติดตั้งระบบนี้จะไม่เสียตำแหน่งติดอาวุธไปเหมือนระบบอื่นๆ ระบบนี้จะทำหน้าที่ป้องกันอากาศยานจากการโจมตีทางอิเล็กทรอนิกส์ ในทางกลับกันก็สามารถโจมตีรบกวนสัญญาณทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ Jam ระบบตรวจจับของข้าศึกได้ สามารถติดตั้งระบบแจ้งเตือนจรวดที่วิ่งเข้าหาเครื่องบินรบ และติดตั้งระบบปล่อยเป้าลวงทั้งเป้าลวงเรดาร์และเป้าลวงความร้อนได้เพิ่มเติมเพื่อรับมือกับจรวดที่เป็นภัยคุกคามกับเครื่องบินที่ติดตั้ง ซึ่งตัวระบบนี้น่าจะมีประโยชน์อย่างมากในการปฏิบัติงานในยูเครน ซึ่งเป็นสนามรบที่มีการต่อสู้กันในสงครามอิเล็กทรอนิกส์อย่างการรบกวนสัญญาณค่อนข้างเข้มข้น

 

ภาพที่ปรากฏยังเห็นนักบินสวมหมวกบินติดศูนย์เล็ง Joint Helmet Mounted Cueing System หรือ JHMCS ซึ่งเป็นหมวกบินพิเศษที่มีจอภาพแสดงผลบนหน้ากากด้านหน้าของหมวก และสามารถทำการล็อกเป้าหมายและนำทางจรวดให้เข้าสู่เป้าหมายได้เพียงแค่หันหน้ามองตามเป้าหมายเท่านั้น ซึ่งสามารถใช้งานกับจรวดรุ่นใหม่ๆ เช่น AIM-9X โดยรับข้อมูลจากหมวก JHMCS และบินตามเส้นทางที่หมวก JHMCS นำทางจากการหันมองของนักบิน แต่ยังไม่ชัดเจนว่ายูเครนจะได้รับมอบจรวดแบบนี้หรือไม่ เพราะในภาพที่ติดตั้งนั้นยังเป็นจรวดรุ่นเก่าที่ไม่ได้รองรับการนำทางด้วยหมวก JHMCS แต่ถึงอย่างไรการมีหมวก JHMCS ก็สามารถเพิ่มขีดความสามารถและการตระหนักรู้สถานการณ์หรือการรับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเครื่องบินได้มากกว่าการใช้หมวกบินธรรมดา

 

นอกจากนั้น F-16 ยังสามารถใช้งานกับระบบอาวุธหลากหลายของ NATO ที่มอบให้กับยูเครนไปก่อนหน้าที่แล้วได้ทันที เช่น จรวดต่อต้านการแพร่คลื่นเรดาร์ AGM-88 HARM ซึ่งจะวิ่งเข้าหาแหล่งกำเนิดเรดาร์ของจรวดต่อสู้อากาศยานและทำลายเรดาร์ของจรวดต่อสู้อากาศยานที่จะทำให้ระบบต่อสู้อากาศยานนั้นหมดสภาพการรบ หรือระเบิดร่อน GBU-39 Small Diameter Bomb ที่มีขนาดเล็กและบินได้ไกล สามารถทำลายเป้าหมายได้อย่างแม่นยำด้วยการนำทางของระบบนำวิถี นอกจากนั้นยังสามารถติดตั้งอาวุธแบบอื่นๆ ที่น่าจะจำเป็นในสงคราม เช่น ระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์หรือจรวดต่อสู้รถถังได้เช่นกัน

 

F-16 ที่ยูเครนได้รับจึงช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรบได้เป็นอย่างมาก ทำให้ยูเครนสามารถรบกวนการโจมตีทางอากาศของเครื่องบินขับไล่และโจมตีของรัสเซีย ให้การสนับสนุนทางอากาศต่อกำลังภาคพื้นดินของยูเครนเพื่อรับมือกับกำลังที่มีจำนวนมากกว่าของรัสเซีย ไปจนถึงรับมือและจัดการกับโดรนและจรวดร่อนต่างๆ หรือใช้อาวุธปล่อยพิสัยไกลเพื่อโจมตีลึกเข้าไปในแนวหลังของรัสเซียได้มากยิ่งขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม F-16 อาจไม่ได้เปลี่ยนผลลัพธ์ของสงครามในทันที เพราะอย่างที่เราทราบกันดีก็คือยูเครนใช้งานอากาศยานของโซเวียตมานาน ซึ่งนอกจากจะมีหลักการและแนวคิดในการปฏิบัติงานที่ต่างจากอากาศยานของตะวันตกโดยสิ้นเชิงแล้ว ยังค่อนข้างล้าสมัยเมื่อเทียบกับระบบของตะวันตกที่ยูเครนได้รับ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านจากระบบเดิมเป็นระบบใหม่นั้นต้องใช้การฝึกอย่างเข้มข้นและสั่งสมประสบการณ์หลายปีกว่าจะทำการรบได้อย่างมีประสิทธิภาพ และภาพข่าวที่ยูเครนเผยแพร่ซึ่งมีการติดตั้งจรวดอากาศสู่อากาศกับ F-16 ก็อาจจะสื่อว่าในระยะแรก F-16 ของยูเครนน่าจะทำภารกิจอากาศสู่อากาศ คือรับมือกับเครื่องบินขับไล่และโจมตีของรัสเซียมากกว่าจะเข้าโจมตีสนับสนุนกำลังภาคพื้นดินหรือโจมตีลึกเข้าไปในดินแดนของรัสเซีย

 

แต่ถึงกระนั้น ไม่ว่าสงครามในยูเครนจะออกมาในรูปแบบไหน ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีเครื่องบินขับไล่ที่ทันสมัยในกองทัพยูเครนถือเป็นสิ่งจำเป็นทั้งในระยะกลางและระยะยาว การเริ่มสร้างขีดความสามารถใหม่ให้กับกองทัพอากาศยูเครนตั้งแต่วันนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น และถ้าสงครามยูเครนยังยืดเยื้อต่อเนื่องแบบนี้ ก็ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็น F-16 ของยูเครนเข้ามามีบทบาทในการรบมากยิ่งขึ้นตามการฝึกและประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นของกำลังพลของกองทัพอากาศยูเครนก็เป็นได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising