×

มาตรา 4 และ 5 ของ NATO คืออะไร ทำไมเหตุขีปนาวุธตกในโปแลนด์อาจขยายวงขัดแย้ง

16.11.2022
  • LOADING...
NATO

เช้านี้ (16 พฤศจิกายน) ข่าวใหญ่ที่คนทั่วโลกต่างจับตาคือ กรณีขีปนาวุธที่ถูกอ้างว่าเป็นของรัสเซียตกลงในเขตแดนของโปแลนด์ จนเป็นเหตุให้มีประชาชนเสียชีวิต 2 รายด้วยกัน 

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้สงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียส่อแววตึงเครียดมากกว่าเดิม เหตุเพราะโปแลนด์ไม่ได้เป็นเพียงแค่ประเทศเพื่อนบ้านของยูเครนเท่านั้น แต่ยังเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO ถึงกับที่เช้านี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา ต้องจัดประชุมฉุกเฉินในหมู่ผู้นำกลุ่ม G20 ที่กำลังอยู่ในระหว่างการประชุมที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าว ขณะที่มีรายงานว่า ในฝั่งของ NATO ก็เตรียมจัดการประชุมด่วนด้วยเช่นกัน

 

สิ่งที่หลายคนกังวลที่สุดคือ การที่ขีปนาวุธของรัสเซียตกในดินแดนของชาติสมาชิก NATO จะนำไปสู่การใช้บทบัญญัติมาตรา 5 (Article 5) หรือไม่ และมีแนวโน้มแค่ไหนที่สงครามจะขยายวงความขัดแย้งไปดึงเอาโลกตะวันตกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

 

Article 5 คืออะไร ทำไมใครๆ ถึงวิตก

 

  • สำหรับผู้ที่สนใจข่าวเกี่ยวกับสงครามและประเด็นความมั่นคง เชื่อว่าคงไม่มีใครไม่รู้จัก Article 5 หรือมาตรา 5 ของ NATO เพราะเป็นมาตราที่เสี่ยงนำไปสู่สถานการณ์ที่รุนแรงได้ค่อนข้างสูง

 

  • เล่าย้อนกลับไปก่อนว่า NATO ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1949 โดยสมาชิก 12 ประเทศ ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ แคนาดา และสหภาพยุโรป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันป้องกันดินแดนจากอิทธิพลของสหภาพโซเวียต

 

  • แต่หลังจากที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย NATO ก็ได้ขยายกำลังพันธมิตรออกไปเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีอยู่ 30 ประเทศ โดย NATO ให้คำมั่นว่าจะสร้างหลักประกันถึงเสรีภาพและความมั่นคงของชาติสมาชิก ทั้งทางการเมืองและทางทหาร 

 

  • โดย Article 5 นั้นบัญญัติไว้ว่า การโจมตีสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งของชาติสมาชิก NATO ‘จะเท่ากับเป็นการโจมตีสมาชิกทุกประเทศ’

 

  • ด้วยเหตุนี้การที่ขีปนาวุธของรัสเซียตกในโปแลนด์ จึงทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนน่าวิตกไปมากกว่าเดิม เพราะหากที่ประชุม NATO เห็นพ้องกันว่า เหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะรัสเซียจงใจโจมตีโปแลนด์ ก็อาจนำไปสู่การใช้ Article 5 ได้

 

Article 4 ต่างกันอย่างไร ทำไมโปแลนด์ใช้ได้แล้ว

 

  • Article 4  หรือบทบัญญัติมาตรา 4 ของสนธิสัญญา NATO จะค่อนข้างเบากว่า เพราะจะเป็นการกำหนดการหารือก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆ

 

  • Article 4 จะเรียกใช้ในกรณีที่ประเทศสมาชิกรู้สึกว่า ชาติของตนกำลังถูกคุกคามจากประเทศอื่น (หรือกลุ่มก่อการร้าย) จากนั้นรัฐสมาชิกทั้ง 30 ประเทศก็เริ่มปรึกษาหารืออย่างเป็นทางการ ตามคำร้องขอของสมาชิกที่ถูกคุกคาม โดยการหารือนั้นจะเน้นพิจารณาว่าภัยคุกคามที่เกิดขึ้นนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ และจะรับมืออย่างไร ซึ่งจะเป็นไปตามฉันทมติของที่ประชุม

 

  • แต่ถึงเช่นนั้น ไม่ได้หมายความว่าหากมีการจัดประชุมตาม Article 4 แล้ว ชาติ NATO จะต้องส่งทหารระดมกำลังกันออกไปต่อสู้กับศัตรูของชาติพันธมิตร

 

  • ในอดีตที่ผ่านมานั้น เคยมีหลายชาติ NATO ที่เรียกร้องให้จัดการประชุมตาม Article 4 ยกตัวอย่างเช่นเมื่อปีที่ผ่านมา ตุรกีเคยขอให้มีการจัดประชุมขึ้น หลังจากที่พลทหารหลายนายของตุรกีถูกฝั่งซีเรียโจมตีจนเสียชีวิต ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว NATO ตัดสินใจให้เปิดการหารือ แต่ก็ไม่ได้ออกแอ็กชันใดๆ ต่อกรณีที่เกิดขึ้น

 

  • หรืออย่างในกรณีของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ในขณะนั้น บัลแกเรีย, เช็กเกีย, เอสโตเนีย, ลัตเวีย, ลิทัวเนีย, โปแลนด์, โรมาเนีย และสโลวาเกีย ร้องขอให้มีการหารือภายใต้ Article 4 ทันทีที่รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครน ซึ่งชาติสมาชิกได้มาร่วมหารือกันเกี่ยวกับมาตรการและแนวทางการตัดสินใจ เพื่อสร้างหลักประกันถึงความมั่นคงและการปกป้องชาติสมาชิกทั้งหมด ซึ่งในขณะนั้น NATO ได้สั่งให้ดำเนินการตามแผนการป้องกัน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ และรักษาอาณาเขตของพันธมิตร

 

  • ส่วนในกรณีของโปแลนด์นั้น สำนักข่าว Reuters รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจากนักการทูตยุโรป 2 คนว่า โปแลนด์ได้เรียกร้องให้มีการจัดประชุมตาม Article 4 แล้ว ซึ่งทูตของ NATO เตรียมจะมาร่วมประชุมกันในวันนี้ โดยแหล่งข่าวระบุว่า การประชุมจะเป็นไปด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง เพราะตอนนี้ยังต้องใช้เวลาเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างไรกันแน่ และรัสเซียจงใจยิงขีปนาวุธใส่โปแลนด์หรือไม่

 

จะเกิดอะไรขึ้นนับจากนี้

 

  • เซอร์ ริชาร์ด บาร์รอนส์ (Richard Barrons) อดีตผู้บัญชาการประจำกองบัญชาการกองกำลังร่วมแห่งสหราชอาณาจักร เปิดเผยกับ Sky News ว่า ตอนนี้ทุกสายตาจะจับจ้องไปยังจุดเกิดเหตุระเบิดจากขีปนาวุธ และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเตรียมลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลของเศษซากขีปนาวุธและเศษชิ้นส่วนอื่นๆ เพื่อระบุให้แน่ชัดว่านั่นเป็นอาวุธชนิดใด หลังจากนั้นก็จะเริ่มสืบสวนว่าขีปนาวุธตกลงมาได้อย่างไร และใครที่อยู่เบื้องหลัง

 

  • ลอร์ด ริชาร์ด แดนแนตต์ (Richard Dannatt) หัวหน้ากองเสนาธิการ กล่าวว่า การสืบหาหลักฐานเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะหาก NATO ตัดสินใจอย่างหุนหันโดยยังไม่ทราบข้อเท็จจริงที่แน่ชัด ก็อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้

 

  • ท่ามกลางการสืบสวนที่ยังคงดำเนินอยู่ในขณะนี้ ทำให้ยังไม่สามารถฟันธงได้แน่ชัดว่า ขีปนาวุธนั้นมาจากฝ่ายรัสเซียจริงหรือไม่ แม้กระทรวงการต่างประเทศของโปแลนด์ระบุว่า ขีปนาวุธดังกล่าว ‘ผลิตในรัสเซีย’ ก็ตาม ขณะที่ฝั่งรัสเซียก็ยืนกรานว่าไม่ใช่ฝีมือของตน และมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการเจตนายั่วยุ โดยมุ่งเป้าไปที่การยกระดับสถานการณ์

 

  • แดนแนตต์เปิดเผยต่อไปว่า ในมุมมองส่วนตัวของเขา มีความเป็นไปได้ 2 อย่างคือ เหตุการณ์นี้ถ้าไม่เกิดจากความผิดพลาดของรัสเซีย ก็อาจเป็นเพราะรัสเซียจงใจที่จะดูท่าทีการตอบโต้จาก NATO เพราะเทคโนโลยีในการยิงขีปนาวุธสมัยใหม่นั้นมีความแม่นยำสูงมาก จึงพูดได้ไม่เต็มปากว่านี่คืออุบัติเหตุ

 

  • แต่ถึงเช่นนั้น บาร์รอนส์มองว่าการที่รัสเซียเล็งเป้าหมายไปที่หมู่บ้านเล็กๆ เพื่อที่จะเปิดฉากสงครามกับ NATO ก็ดูไม่สมเหตุสมผลเท่าไรในมุมมองของเขา

 

  • ฉะนั้นระหว่างที่ยังรอความแน่ชัด การตัดสินใจทุกย่างก้าวจึงต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง เพื่อเลี่ยงไม่ให้สงครามครั้งนี้ขยายวงความขัดแย้งกว้างออกไปมากกว่าเดิม

 

ภาพ: M-SUR Via Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising