ในปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่าคนไทยจำนวนมากกำลังสับสนงุนงงเรื่องวัคซีน เท่าที่ผมได้อ่านจากข่าว เสพโซเชียล และลองคุยกับคนรู้จัก คำถามที่พบเห็นได้บ่อยๆ คือทำไมวัคซีน mRNA ที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายว่ามีประสิทธิผลมากที่สุดในการหยุดการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เช่น สายพันธุ์เดลตา ถึงได้มายากเย็นเหลือเกิน
ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนของ Pfizer หรือ Moderna ตกลงมันติดปัญหาอยู่ตรงไหนแน่ ใครรับผิดชอบ ทำไมขั้นตอนมันดูซับซ้อนจัง
ทำไมต้องรอให้มีผู้หลักผู้ใหญ่ออกมาพูดทีหนึ่งแล้วถึงจะเกิดการขยับ (แล้วก็ดูเหมือนพอจะทำก็ทำได้!)
ทำไมแผนวัคซีนดูเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาและไม่มีการแจ้งให้ผู้คนทราบและเข้าใจ เพื่อวางแผนชีวิตได้
แน่นอนทั้งหมดนี้อาจมีคำตอบที่มีเหตุมีผลอยู่ แต่ที่แน่ๆ คนจำนวนมากและตัวผมเองไม่มีคำตอบเหล่านี้
และเอาจริงๆ หลายคนที่ผมเห็นตั้งคำถามก็เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ บางคนอยู่ในรัฐบาลที่น่าจะเป็นผู้รู้ด้วยซ้ำ!
ผมเลยพยายามลองคิดดูว่ามันจะดีไหมหากเรามีเว็บไซต์ ‘วัคซีน tracker แห่งชาติ’ เปิดเผยข้อมูลเรื่องกระบวนการจัดหาวัคซีนจนไปถึงการกระจายการฉีดที่คนทั้งประเทศติดตามดูได้
โดยเว็บไซต์ที่ว่านี้อาจมีข้อมูลเหล่านี้
1. เรื่องซัพพลาย (การสั่งซื้อ ส่งมอบ) ไปถึงไหนแล้ว
- การสั่งซื้อวัคซีนแต่ละประเภท/ยี่ห้อนั้นมันอยู่ที่ขั้นตอนไหนแล้ว
- ใคร/หน่วยงานไหนเป็นผู้รับผิดชอบขั้นตอนนั้นๆ
- หน่วยงานนั้นกำลังทำอะไรอยู่
- ขั้นตอนนั้นน่าจะใช้เวลาประมาณเท่าไร
- จากข้อมูลเหล่านี้ประมาณการณ์ว่าควรจะได้ฉีดวัคซีนเหล่านี้ประมาณเมื่อไร
2. เรื่องการกระจายวัคซีน (เข้าใจว่ามีอยู่บ้างแล้ว)
- อัปเดตเรื่องยุทธศาสตร์การกระจายวัคซีนฉีดล่าสุดว่าจะฉีดกลุ่มไหนเป็น Priority อย่างไร (กลุ่มเสี่ยง กลุ่มอายุ ตามพื้นที่?)
- ในยุทธศาสตร์นี้ฉีดไปถึงไหนแล้ว (เข้าใจว่าตรงนี้มีประกาศอยู่บ้างแล้ว)
- ถ้าเป็นไปได้ไปเอาข้อมูลด้านซัพพลายของวัคซีนตรงนี้ไปโยงต่อกับการประมาณการณ์ว่าเราจะฉีดวัคซีนได้โดยเฉลี่ยวันละกี่คนใน 3-6 เดือนข้างหน้า (เช่น เราจะได้รู้ว่าหากวัคซีนบางส่วนมาช้ากว่าที่คาด อัตราการฉีดที่เคยประกาศไว้จะทำได้หรือไม่อย่างไร)
- ฯลฯ
โดยเฉพาะการติดตามเรื่องของซัพพลาย (ข้อ 1) ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นคอขวดสำคัญ
ยกตัวอย่างล่าสุด พอมีโรงพยาบาลเอกชนท้วงว่าทำไมรัฐบาลไม่ยอมเซ็นสัญญาซื้อวัคซีน mRNA ทางสำนักอัยการสูงสุดออกมาแจงว่ายังไม่เคยมีสัญญาซื้อขายวัคซีน Moderna ส่งมาให้ตรวจ แล้วทางองค์การเภสัชกรรมจึงออกมาอธิบายว่าที่ผ่านมายังไม่ได้เซ็นสัญญาเพราะอะไร (ดูลิงก์ข่าวในคอมเมนต์ด้านล่าง)
ซึ่งไม่ว่าจะเข้าใจหรือเชื่อคำอธิบายดังกล่าวหรือไม่ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการต้องรอจนมีคนโวยและออกมาอธิบายทีหลังแบบต่างคนต่างพูดนั้น มันทำให้ความเชื่อมั่นในรัฐบาลเสื่อมลงไปแล้ว และอาจทำให้คำอธิบายไม่มีน้ำหนัก
นอกจากนี้ต้องเข้าใจว่าคนตามข่าวไม่ได้ตามตลอด พอข่าวออกทีแก้ข่าวทีคนก็สับสน ไม่รู้ว่าข้อมูลที่ตัวเองฟังเป็นข้อมูลอัปเดตหรือยัง
ดังนั้น วัคซีน Tracker ควรมีทั้งเว็บไซต์ที่แสดงข้อมูลอัปเดตตลอด (Dashboard) และมาอยู่ในส่วนหนึ่งของการสื่อสารของ ศบค. ทุกๆ วัน (หรือทุก 2-3 วันก็ได้) สื่อต่างๆ สามารถติดตามได้จากแหล่งเดียวกัน คนทั่วไปจะรอฟัง ศบค. หรือไปเช็กเว็บไซต์ก็ได้
เปรียบเทียบกับตัวอย่างใกล้ตัวก็เสมือนกับเวลาเราสั่งอาหารฟู้ดเดลิเวอรีก็จะมีการ Tracker บอกให้ว่าร้านรับออร์เดอร์หรือยัง อยู่ขั้นตอนไหน ใครเป็นคนส่ง ให้ผู้บริโภคติดตามดูได้
หรือเสมือนในบริษัทใหญ่ก็จะมีระบบโปรเจกต์ tracker ภายในที่ละเอียด เพื่อติดตามว่าโครงการนั้นๆ มันไปอยู่ที่หน่วยงานของใครแล้ว ติดที่ไหน เพราะอะไร เพื่อให้ผู้บริหารตามถูก
ทั้งหมดนี้เพื่อให้ขอบเขตความรับผิดชอบของแต่ละองค์กรที่กำลังทำขั้นตอนนั้นๆชัดเจนขึ้น (Accountability)
ทั้งยังช่วยคน ธุรกิจ และองค์กรต่างๆ ได้วางแผนชีวิต บริหารความเสี่ยงถูกด้วย (เช่น หากเห็นว่าขั้นตอนมันไปติดอยู่ตรงจุดที่เราควบคุมไม่ได้จริงๆ จะได้ไม่ต้องรอลมๆ แล้งๆ)
อาจได้เวลาแล้วหรือไม่ที่เราควรจะมี Tracker เช่นนี้สำหรับเรื่องวัคซีนซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ เป็น ‘อาวุธ’ ที่สำคัญที่สุดในการต่อสู้กับไวรัสที่ตอนนี้กำลังคร่าชีวิตคนทุกวันทั้งทางตรงและทางอ้อม (ทั้งจากปัญหาโรงพยาบาลเต็ม ปัญหาเศรษฐกิจ และความเครียด ฯลฯ)
หากรัฐบาลไม่ทำ อีกไม่นานภาคประชาชนอาจทำ Tracker ตัวนี้ขึ้นมาเอง (หรือมีแล้ว?) โดยรวบรวมจากข้อมูลที่หาได้ทั่วไปซึ่งอาจถูกบ้างผิดบ้าง ซึ่งรัฐบาลเองก็คงไม่ต้องการเช่นนั้น
สุดท้ายผมได้เขียนในบทความผู้นำในยุคแห่งความไม่แน่นอน ว่า Trust (ความเชื่อถือ) คือ ‘ทุน’ ที่สำคัญที่สุดของผู้นำ
เพราะหากขาด Trust ผู้นำขององค์กรหรือสังคมก็จะไม่สามารถโน้มน้าว รวมพลัง และขับเคลื่อนคนให้มาช่วยกันแก้ปัญหาร่วมกันได้ เช่นเดียวกับธุรกิจที่ไม่สามารถประกอบธุรกิจได้หากไม่มีเงินทุน
ในยามที่ Trust กำลังสั่นคลอน สิ่งหนึ่งที่อาจจะพอช่วยกู้มันกลับมาได้บ้าง คือ การแสดงความจริงใจด้วยการเพิ่มความโปร่งใสถึงขีดสุด (Transparency) ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการติดตาม ประเมินสถานการณ์
การสร้าง Transparency ก็เสมือนการมอบ Trust ให้กับประชาชน ว่าเขาจะใช้ข้อมูลนี้อย่างมีประโยชน์
หากผู้นำอยากได้ Trust กลับมา ก้าวแรกอาจต้องเริ่มจากการที่เชื่อถือคนในสังคมก่อนก็เป็นได้
หมายเหตุ: เป็นไอเดียที่เพิ่งคิดขึ้นมาอาจจะยังไม่ไฟนอล โดยอยากชวนทุกคนมาคิดกันต่ออย่างสร้างสรรค์นะครับ
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: