×

เดินทางในหลุมขุดค้น ตามหาบรรพชนคนไทย ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า โฉมใหม่

24.12.2021
  • LOADING...
National Museum thailand

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • บ้านเก่าเป็นวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินใหม่ที่มีความสำคัญอันดับต้นๆ ของประเทศ เพราะเป็นชุมชนหมู่บ้านแรกๆ ในไทยที่เริ่มต้นทำการเกษตรกรรมเมื่อ 4,000 กว่าปีมาแล้ว และยังสะท้อนร่องรอยของการอพยพของกลุ่มคนจากจีนมายังภาคตะวันตกของไทยอีกด้วย
  • อาคารทรงลูกบาศก์ หรือสี่เหลี่ยมนี้มีที่มาจากหลุมขุดค้นทางโบราณคดี ซึ่งนักโบราณคดีมักใช้เป็นรูปแบบหลุมมาตรฐานเพื่อการขุดค้นทางโบราณคดี ทั้งนี้ มาจากความคิดเชิงปริมาณและวิธีการบันทึกข้อมูล เช่น หากต้องการทราบว่าในแต่ละช่วงเวลามีคนหนาแน่นมากน้อยแค่ไหน ก็สามารถเปรียบเทียบจำนวนของภาชนะดินเผาในแต่ละชั้นดินได้ง่าย หรือหากเจอโครงกระดูกตรงไหนของหลุมขุดค้นก็สามารถวาดภาพและบันทึกข้อมูลลงบนกระดาษกราฟได้ หรือในขั้นตอนท้ายๆ ของการขุดค้นที่ต้องมีการแบ่งชั้นดิน ผนังชั้นดินในหลุมสี่เหลี่ยมที่ผนังราบเรียบก็สามารถแบ่งชั้นดินได้ง่ายกว่าหลุมที่เป็นวงกลม 
  • พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้พาเราหลุดพ้นจากภาวะที่พิพิธภัณฑ์มักนำเสนอคือ ความเป็นไทย ในอนาคตเชื่อว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัด และเป็นศูนย์วิจัยทางด้านโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญของภูมิภาค 

สถาปัตยกรรมรูปทรงสี่เหลี่ยมสีน้ำตาลแดงแปลกตา คล้ายกับงาน Cubic Architecture ตั้งอยู่ท่ามกลางไร่มันสำปะหลังนี้ คงไม่มีใครคิดว่านี่คือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า ซึ่งเรียกได้ว่าฉีกไปจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทุกแห่งในประเทศไทย และไม่ใช่แค่เพียงในแง่ของสถาปัตย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงวิธีการเล่าเรื่องอีกด้วย 

 

บ้านเก่าเป็นวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินใหม่ที่มีความสำคัญอันดับต้นๆ ของประเทศ เพราะเป็นชุมชนหมู่บ้านแรกๆ ในไทยที่เริ่มต้นทำการเกษตรกรรมเมื่อ 4,000 กว่าปีมาแล้ว และยังสะท้อนร่องรอยของการอพยพของกลุ่มคนจากจีนมายังภาคตะวันตกของไทยอีกด้วย ทำให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า ได้รับการสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 บนพื้นที่พักของทีมขุดค้นทางโบราณคดีในยุคนั้น ซึ่งอาคารเก่านั้นได้ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ล่าสุดทางกรมศิลปากรได้ปรับโฉมอาคารใหม่ชนิดที่ทำให้ลืมภาพเดิมๆ ของพิพิธภัณฑ์ไทยไปได้เลย 

 

บ้านเก่า โบราณคดีไทย-เดนมาร์ก   

‘บ้านเก่า’ เป็นชื่อที่คนไทยทุกคนคุ้นหูเป็นอย่างดี เพราะบรรจุอยู่ในแบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ สาเหตุที่มีความสำคัญมากเท่านี้ไม่ใช่เพราะเป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์แห่งแรกในไทยเท่านั้น หากแต่เกี่ยวพันกับแนวคิดที่เชื่อว่า คนบ้านเก่าคือบรรพบุรุษของคนไทย 

 

National Museum thailand

หลุมขุดค้นที่บ้านเก่าที่ขุดระหว่าง พ.ศ. 2504-2505 (Reynolds 1990)

 

ในปีระหว่าง พ.ศ. 2503-2505 นักโบราณคดีกรมศิลปากร และมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ได้ร่วมกันขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า โดยมี ดร.เปียร์ ซอเรนเซน (Per Sorensen) เป็นผู้อำนวยการขุดค้นฝั่งเดนมาร์ก และมี อ.ชิน อยู่ดี เป็นผู้อำนวยการฝั่งไทย จึงเรียกโครงการนี้กันว่า ‘โครงการความร่วมมือทางโบราณคดีระหว่างไทย-เดนมาร์ก’ 

 

โดยในครั้งนั้นถือเป็นการขุดค้นทางโบราณคดีระบบเป็นครั้งแรกในไทย นับตั้งแต่การขุดค้นเป็นหลุมสี่เหลี่ยม การจัดแบ่งชั้นดินชั้นวัฒนธรรม มีการเก็บหลักฐานและบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบ และทำการวิเคราะห์โบราณวัตถุอย่างละเอียด เช่น โครงกระดูกคนตายมีอายุเท่าไร ตายด้วยสาเหตุอะไร ดังนั้น ในหมู่นักโบราณคดีจึงถือว่าการขุดค้นที่บ้านเก่าเป็นจุดเริ่มต้นของงานโบราณคดีไทยสมัยใหม่ 

 

เหตุที่บ้านเก่าได้รับความสนใจจากนักโบราณคดีชาวต่างชาติต้องเล่าย้อนกลับไปสักนิดว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อเชลยชาวดัตช์ แวน เฮเกอเร็น (H. R. van Heekeren) ได้ค้นพบเครื่องมือหินของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ระหว่างสร้างทางรถไฟ หลังจากสงครามสงบลง เขาจึงได้นำเครื่องมือหินนี้ไปวิเคราะห์ที่พิพิธภัณฑ์พีบอดี (Peabody Museum) สหรัฐอเมริกา เมื่อ ดร.เอช แอล โมเวียส (H. L. Movious) ผู้เชี่ยวชาญเครื่องมือหินในยุคนั้น ซึ่งสรุปว่าเป็นเครื่องมือยุคหินเก่า ทำให้บ้านเก่าอาจเป็นสะพานแผ่นดินที่ช่วยไขคำตอบการเดินทางระหว่างมนุษย์ปักกิ่งกับมนุษย์ชวา (คือโฮโม อิเร็กตัส) จึงทำให้เกิดการประสานความร่วมมือกับทางรัฐบาลเดนมาร์ก จนนำไปสู่การขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเก่าในที่สุด

 

National Museum thailand

 

อย่างไรก็ตาม ที่บ้านเก่าไม่พบชั้นของเครื่องมือหินกะเทาะที่จะเชื่อมโยงกับมนุษย์สายพันธุ์โฮโม อิเร็กตัส แต่กลับพบหลักฐานที่สำคัญเช่นกันคือ ‘หม้อสามขา’ (Tripod pottery) ซึ่งเป็นภาชนะเด่นที่พบในสมัยหินใหม่ในเขตลุ่มน้ำเหลือง (ฮวงโห) ในประเทศจีน เช่น วัฒนธรรมหยางเชา มีอายุ 7,000-5,000 ปีมาแล้ว หรือวัฒนธรรมหลงซาน มีอายุ 5,000-4,000 ปีมาแล้ว จากการค้นพบหม้อสามขาที่บ้านเก่าที่คล้ายกันกับวัฒนธรรมหินใหม่ในจีน จึงนำไปสู่ข้อสมมติฐานว่า นี่คือบรรพบุรุษของคนไทยที่อพยพมาจากจีน 

 

National Museum thailand

หัวกะโหลกของมนุษย์สมัยหินใหม่ที่บ้านเก่า (https://www.sac.or.th/databases/physicalanthro/paper/7)

 

การขุดค้นในครั้งนั้นทั้งที่บ้านเก่าและข้างเคียงพบโครงกระดูกมนุษย์ทั้งหมด 38 โครง โดยมี ศ.นพ.สุด แสงวิเชียร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และทีม ดำเนินการวิเคราะห์โครงกระดูก ซึ่งสรุปว่ากะโหลกศีรษะที่บ้านเก่ามีลักษณะคล้ายกับประชากรปัจจุบันที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ตอนใต้ของทวีปเอเชีย แตกต่างกับกลุ่มตัวอย่างจากแหล่งโบราณคดีร่วมสมัยเดียวกันในไทยที่มีขนาดกะโหลกศีรษะและขนาดใบหน้ากว้างกว่า (ฐานข้อมูลมานุษยวิทยากายภาพในประเทศไทย

 

ถ้าตีความจากข้างต้นก็สรุปได้ว่า คนในวัฒนธรรมบ้านเก่าเดิมมีต้นกำเนิดจากลุ่มน้ำเหลือง จากนั้นค่อยๆ เคลื่อนย้ายมายังแถบกาญจนบุรี โดยเป็นประชากรกลุ่มใหม่ที่มีลักษณะทางกายภาพแตกต่างจากคนท้องถิ่นเดิม ส่วนจะเป็นบรรพบุรุษของคนไทยหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับมุมมอง (Approach) ในการอธิบาย เช่น หากเชื่อในแนวคิดว่าคนไทยทุกวันนี้เป็นกลุ่มคนที่เกิดจากการผสมผสานหลายเชื้อชาติหลายเผ่าพันธุ์ ก็ต้องบอกว่า คนไทยอยู่ที่นี่ แต่ถ้าหากเชื่อตามแนวคิดการอพยพเคลื่อนย้ายก็ต้องตอบว่า ในอดีตมีคนกลุ่มหนึ่งที่เคลื่อนย้ายมาจากจีน หลังจากนั้นคนกลุ่มนี้อาจเคลื่อนย้ายไปที่อื่นหรือผสมผสานกลายเป็นคนในสมัยต่อมา ส่วนจะพูดภาษาไทยไหม หรือมีสำนึกความเป็นไทยไหมนั้นตอบไม่ได้ 

 

ถอดรหัสอาคารทรงลูกบาศก์  

ที่ผมเขียนเรื่องบ้านเก่า เพราะเมื่อวันที่ 18-19 ธันวาคมที่ผ่านมา ผมพาคนไปเที่ยว คล้ายกับทัวร์ ก่อนหน้านั้นสัก 1 สัปดาห์ บังเอิญโชคดีได้พบกับนักโบราณคดีผู้ขุดค้นแหล่งโบราณคดีในวัฒนธรรมบ้านเก่า และสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้นคือ คุณสุภมาศ ดวงสกุล นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ช่วยนำชมและอธิบายเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ทั้งหมด ซึ่งต้องขอบคุณมา ณ ที่นี้ และยังมี คุณสำเนา จาดทองคำ หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า ที่ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกท่านอีกด้วย ซึ่งพอฟังเรื่องราวแนวคิดเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์นี้แล้วจึงอยากจะมาเล่าให้ทุกคนฟัง เพื่อเชิญชวนให้ทุกคนไปเที่ยวกันมากๆ 

 

National Museum thailand

 

อาคารทรงลูกบาศก์ หรือสี่เหลี่ยมนี้มีที่มาจากหลุมขุดค้นทางโบราณคดี ซึ่งนักโบราณคดีมักใช้เป็นรูปแบบหลุมมาตรฐานเพื่อการขุดค้นทางโบราณคดี ทั้งนี้ มาจากความคิดเชิงปริมาณและวิธีการบันทึกข้อมูล เช่น หากต้องการทราบว่าในแต่ละช่วงเวลามีคนหนาแน่นมากน้อยแค่ไหน ก็สามารถเปรียบเทียบจำนวนของภาชนะดินเผาในแต่ละชั้นดินได้ง่าย หรือหากเจอโครงกระดูกตรงไหนของหลุมขุดค้นก็สามารถวาดภาพและบันทึกข้อมูลลงบนกระดาษกราฟได้ หรือในขั้นตอนท้ายๆ ของการขุดค้นที่ต้องมีการแบ่งชั้นดิน ผนังชั้นดินในหลุมสี่เหลี่ยมที่ผนังราบเรียบก็สามารถแบ่งชั้นดินได้ง่ายกว่าหลุมที่เป็นวงกลม 

 

ชั้นดินนี้มีความสำคัญต่องานโบราณคดีมาก เพราะสีดินและเนื้อดินที่มีความแตกต่างกันย่อมบ่งบอกว่าเกิดขึ้นในช่วงเวลาและสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่นดินที่มีสีดำมากแสดงว่ามีอินทรียวัตถุเป็นจำนวนมาก และอากาศชุ่มชื้น ซึ่งจะตรงข้ามกับดินที่มีสีอ่อนที่บ่งบอกว่าอากาศแห้งแล้งมากกว่า หรือดินที่มีทรายปะปนในปริมาณมาก ก็แสดงว่าอาจมีน้ำพัดพาตะกอนทรายมาจากภูเขา อาจมีน้ำท่วม เป็นต้น ความแตกต่างของดินนี้เองที่ใช้เป็นหนึ่งในเกณฑ์สำคัญของการจัดกลุ่มของหลักฐานทางโบราณคดี 

 

ตามผนังของชั้นดิน ปกติแล้วจะมีชิ้นส่วนของโบราณวัตถุติดอยู่ด้วย อาจเป็นเศษภาชนะดินเผา ชิ้นส่วนโครงกระดูก เครื่องมือหิน หรืออื่นๆ ซึ่งของพวกนี้ปกติจะมีความแตกต่างกันในแต่ละชั้นดิน ทั้งนี้ เนื่องจากในแต่ละช่วงเวลา มนุษย์มีการพัฒนาเทคโนโลยีแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่นในยุคหินกลางก็ใช้เครื่องมือหินกะเทาะที่ทำจากหินกรวดแม่น้ำ ในยุคหินใหม่ก็ใช้เครื่องมือหินขัดและภาชนะดินเผา ซึ่งของพวกนี้จะติดอยู่บนผนังชั้นดิน ของที่เก่าจะอยู่ชั้นดินตอนล่าง ของที่ใหม่ก็จะอยู่ชั้นดินตอนบนๆ เป็นต้น 

 

National Museum thailand

หลุมขุดค้นทางโบราณคดี และแท่นดินที่มีโครงกระดูกมนุษย์กับเศษภาชนะดินเผาที่แหล่งโบราณคดีวัดท่าโป๊ะ

 

นอกจากนี้แล้ว ในงานขุดค้นทางโบราณคดีนั้น เมื่อพบหลักฐานทางโบราณคดีหรือโครงกระดูกในหลุมขุดค้นบางกรณีจะมีการตั้งแท่นเอาไว้ ซึ่งเป็นแท่นที่เกิดจากการไม่ขุดนำหลักฐานที่พบออกไปในทันที ทั้งนี้ ก็เพื่อให้แท่นดังกล่าวเป็นระดับความลึกที่ใช้ในการเทียบเคียงกับหลักฐานอื่นที่ค้นพบ หรือตั้งไว้เพื่อจะได้เข้าใจรูปแบบการฝังศพ หรือตั้งแท่นไว้เพื่อใช้สำหรับการจัดทำพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง (Site Museum) เป็นต้น 

 

ทั้งหมดที่ผมบรรยายมานี้ก็คือ หลักสำคัญของการทำความเข้าใจหลุมขุดค้นทางโบราณคดีในเบื้องต้น ซึ่งความเข้าใจนี้เองได้ถูกแปลงให้กลายมาเป็นตัวอาคารทรงลูกบาศก์ กล่าวคือ 

 

  • ภายนอกอาคารทำเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม จำลองหลุมขุดค้นทรงสี่เหลี่ยม 
  • ตัวอาคารทาเป็นสีน้ำตาลแดง เพื่อสื่อถึงสีของดิน
  • หน้าอาคารทำเป็นม้านั่งขนาดเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน วางดูไม่เป็นระเบียบ อยู่ท่ามกลางกรวดสีขาว หมายถึงแท่นดินที่ใช้สำหรับวางโบราณวัตถุในหลุมขุดค้น
  • รอบตัวอาคารประดับด้วยกระจกสี่เหลี่ยมเล็กใหญ่จำนวนมาก เพื่อบ่งบอกว่านี่คือโบราณวัตถุที่ติดอยู่บนผนังชั้นดิน 

 

ดังนั้น หมายความว่าเมื่อเราเดินเข้าไปในอาคารก็คือการทะลุมิติของเวลาตามชั้นดินในหลุมขุดค้นทางโบราณคดี

 

National Museum thailand

ภายในตัวอาคารเป็นทางลาดเอียง เป็นมิตรต่อทั้งคนปกติและคนที่นั่งรถเข็น 

แถมเล่าเรื่องผ่านผนังอาคารในรูปของชั้นดินอีกด้วย

 

ทะลุมิติเวลาผ่านชั้นดินทางโบราณคดี

เมื่อเดินเข้าไปในตัวอาคารจัดแสดง อาคารหลังนี้แบ่งออกเป็น 3 ชั้น โดยในแต่ละชั้นนั้นสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและสังคมวัฒนธรรมในแต่ละช่วงเวลา ดังนี้

 

ชั้น(ดิน)ที่ 1 (ชั้นล่างสุด) เปรียบได้กับชั้นดินที่เก่าที่สุด ดังนั้น เมื่อเดินเข้าไปจะพบกับเครื่องหินกะเทาะและหินขัดที่ ดร.แวน เฮเกอเร็น ค้นพบ และข้อมูลการค้นคว้าแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า โดยมีวีดิทัศน์นำเสนอบอกเล่าประวัติความเป็นมาทั้งหมด อีกทั้งนำเสนอภาพรวมของแหล่งโบราณคดีที่ค้นพบในเขตกาญจนบุรีและข้างเคียง และชุดของเครื่องมือหินกะเทาะที่พบในเขตลุ่มน้ำแควที่จัดอยู่ในยุคหินเก่าและหินกลาง 

 

ดังนั้น ห้องจัดแสดงในชั้นนี้จึงเป็นเหมือนกับจุดเริ่มต้นของการค้นคว้าทางโบราณคดี ที่ซ้อนทับกับจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในลุ่มน้ำแควน้อยที่อาจมีอายุหลักแสนปีเรื่อยมาจนถึงราว 4,000-5,000 ปีมาแล้ว

 

National Museum thailand

เครื่องมือหินกะเทาะ (จำลอง) ที่ ดร.แวน เฮเกอเร็น ค้นพบในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

 

เมื่อดูนิทรรศการในชั้นที่ 1 จนสุดทางเดินแล้ว จะมีทางเดินลาดเอียงที่พาเราขึ้นไปสู่ชั้น 2 ทางเดินที่ลาดเอียงนี้ใช้เฉดสีน้ำตาล สีส้ม สีเหลืองนวลสลับกันไป ที่ผนังมีเส้นเวลา (Timeline) พร้อมคำบรรยายเกี่ยวกับวิวัฒนาการของมนุษย์ เพื่อสื่อว่าเรากำลังเดินผ่านชั้นดินขึ้นไปยังอีกมิติเวลาหนึ่ง

 

National Museum thailand

เครื่องมือหินกะเทาะแบบต่างๆ ซึ่งมีรูปทรงคล้ายกับขวานหิน ซึ่งคนโบราณใช้สับตัดเนื้อและต้นไม้

 

ชั้น(ดิน)ที่ 2 เป็นช่วงสมัยหินใหม่ที่มนุษย์ก้าวเข้าสู่สังคมหมู่บ้านเกษตรกรรม นำเสนอหลักฐานที่ค้นพบในวัฒนธรรมบ้านเก่าเป็นหลัก จุดเด่นที่อยากให้ชมกันมี 3 จุด 

 

จุดแรก เป็นหม้อสามขา (Tripod Pottery) ซึ่งเป็นวัตถุชิ้นเด่น (Diagnostic Finds) ของวัฒนธรรมบ้านเก่า หม้อสามขานี้ทำขึ้นเพื่อใช้ในพิธีกรรมโดยเฉพาะ เพราะมักพบร่วมกับศพ (คล้ายกับภาชนะลายเขียนสีของบ้านเชียงที่ทำขึ้นเพื่ออุทิศให้กับศพ) มีทั้งที่พบในเขตบ้านเก่า และแหล่งอื่นๆ ในวัฒนธรรมเดียวกัน เช่นที่หนองราชวัตร สุพรรณบุรี 

 

National Museum thailand

ภาพซ้าย หม้อสามขาที่บ้านเก่า ภาพขวา หม้อสามขาในวัฒนธรรมหยางเชา ประเทศจีน (https://en.wikipedia.org/wiki/Yangshao_culture#/media/File:CMOC_Treasures_of_Ancient_China_exhibit_-_pottery_ding.jpg)

 

โดยส่วนตัวคิดว่า หม้อสามขาที่บ้านเก่านี้คงไม่ต่างกันมากกับความเชื่อเกี่ยวกับหม้อสามขาในจีนที่เรียกว่า ‘ติง’ (Ding / 鼎) ภาชนะชนิดนี้ทำขึ้นเพื่อใช้บูชาบรรพบุรุษ โดยใช้ใส่เหล้าและอาหาร สาเหตุที่ต้องบูชาบรรพบุรุษนั้นเพราะมีความเชื่อว่า คนที่มีชีวิตอยู่จะสุขหรือจะทุกข์ก็ขึ้นอยู่กับการบูชาผีบรรพบุรุษ หากบูชาดี ผีก็จะส่งเสริมให้ชีวิตของคนเป็นดีด้วย 

 

ด้วยความสำคัญของภาชนะนี้เอง ในสมัยหลังได้ยกย่องให้มันเป็นภาชนะของชนชั้นสูง และแสดงถึงการเป็นเจ้าที่ดิน อีกทั้งยังหล่อเป็นสำริดแทนการทำเป็นภาชนะดินเผาในเวลาต่อมา ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์เซี่ย และชัดเจนมากในราชวงศ์ซาง ดังนั้น หม้อสามขาที่บ้านเก่าจึงมีนัยสำคัญทางสังคมและพิธีกรรม ซึ่งน่าจะค้นคว้าต่อไป 

 

จุดที่สอง เป็นนิทรรศการเกี่ยวกับโครงกระดูกที่นำเสนอลักษณะทางกายภาพและโรคภัยไข้เจ็บของคนบ้านเก่า โดยตรงนี้มีจอภาพที่ผู้ชมสามารถเลื่อนไปมาเพื่อดูลักษณะของกระดูกมนุษย์โบราณได้ ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับคนบ้านเก่าคือ โดยเฉลี่ยผู้ชายมีความสูง 168.5 เซนติเมตร ผู้หญิงสูง 160 เซนติเมตร คนที่นี่บางคนป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมีย (โลหิตจาง) ทำให้กระดูกกะโหลกหนากว่าปกติ 

 

National Museum thailand

กะโหลกศีรษะ (จำลอง) ของคนที่เป็นโรคโลหิตจางที่พบจากการขุดค้นที่บ้านเก่า

 

จุดที่สาม เป็นกลุ่มของตุ๊กตาที่จำลองวิถีชีวิตของคนในสมัยหินใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการกิน เต้นรำ ทำพิธีกรรม ซึ่งถือได้ว่าทำได้น่ารัก และน่าจะต่อยอดทำเป็นตุ๊กตาของที่ระลึกของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ในอนาคต 

 

National Museum thailand

ตุ๊กตาคนเต้นรำในพิธีกรรม ดูน่ารัก ดูน่ากลัวเล็กๆ ถ้าจะพัฒนาเป็นของที่ระลึกคงต้องปรับปรุงกัน

 

ชั้น(ดิน)ที่ 3 ทางเดินได้พาเราขึ้นไปห้องชั้นบนสุด ซึ่งเข้าสู่สมัยโลหะ โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลาหลักคือ 

 

  1. สมัยสำริด มีอายุราว 3,000 ปี มีตัวอย่างสำคัญคือวัตถุที่ได้จากแหล่งโบราณคดีท่าโป๊ะ ซึ่งปัจจุบันมีหลุมขุดค้นทางโบราณคดีจำนวน 5 หลุมอยู่ในเขตโรงเรียนท่าโป๊ะ ซึ่งไม่พลาดที่จะเดินไปชม สำริดเกิดขึ้นจากการผสมกันของโลหะ 2 ชนิดหลักคือ ดีบุก ซึ่งพบได้ทั่วไปในเขตเทือกเขาตะวันตก และทองแดง ซึ่งมีแหล่งผลิตสำคัญที่เขาวงพระจันทร์ ลพบุรี สะท้อนว่าคนในยุคนั้นมีการแลกเปลี่ยนกันข้ามภูมิภาค

 

National Museum thailand

หลุมฝังศพที่แหล่งโบราณคดีวัดท่าโป๊ะ ข้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า

 

  1. สมัยเหล็ก มีอายุราว 2,500 ปี มีหลักฐานเด่นคือ เครื่องมือเครื่องใช้ทำจากเหล็ก กลองมโหระทึกในวัฒนธรรมดองซอนที่เวียดนาม และเครื่องประดับที่พบจากแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร ได้แก่ ลูกปัดหินสีส้ม (คาร์เนเลียน) ที่สำคัญ แต่น่าเสียดายที่โบราณวัตถุชิ้นนี้ไม่จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์บ้านเก่าคือ สิงโตสลักทำจากหินคาร์เนเลียน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนายุคต้น ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าในยุคเหล็กผู้คนแถบกาญจนบุรีได้ติดต่อกับสังคมภายนอกทั้งจากอินเดีย และจากเวียดนาม 

 

National Museum thailand

สิงโตทำจากหินคาร์เนเลียน เป็นสัญลักษณ์การเข้ามาของพระพุทธศาสนายุคแรกเริ่ม หรือ สุวรรณภูมิ พบที่บ้านดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เดิมจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า ก่อนจะย้ายไปยังกรุงเทพฯ 

 

ในสมัยเหล็กนี้พบว่า ผู้คนในเขตบ้านเก่านี้มีความหลากหลายมากขึ้น เห็นได้จากมีกลุ่มคนที่สร้างโลงไม้ไว้สำหรับใส่ศพ โดยเก็บโลงไว้ตามถ้ำ สะท้อนความเชื่อหลังความตายอีกแบบหนึ่ง โลงไม้พวกนี้ทำเป็นรูปเรือ ซึ่งเกี่ยวพันกับความเชื่อเรื่องเรือส่งวิญญาณ โลงไม้แบบเดียวกันนี้พบที่แม่ฮ่องสอนและอีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสะท้อนถึงการอพยพเคลื่อนย้ายของผู้คนอีกระลอกหนึ่งเมื่อ 2,500 ปีที่แล้ว 

 

National Museum thailand

โลงไม้สำหรับฝังศพพบในถ้ำแถบบ้านเก่าและใกล้เคียง มีอายุราว 2,500-2,000 ปีมาแล้ว

 

  1. สมัยประวัติศาสตร์ในสมัยทวารวดีและเขมร (ลพบุรี) โดยนำเสนอประติมากรรมต่างๆ ที่ได้จากการขุดค้นที่เมืองโบราณต่างๆ เช่น เมืองพงตึก และปราสาทเมืองสิงห์ ซึ่งทั้งสองแหล่งโบราณคดีนี้มีความสำคัญในฐานะที่เป็นเมืองบนเส้นทางคมนาคม-การค้า ที่สามารถเดินทางไปยังด่านเจดีย์สามองค์เพื่อเข้าไปยังฝั่งทะเลอันดามันของเมียนมาได้

 

National Museum thailand

เศียรพระโพธิสัตว์และพระพุทธเจ้าพบที่ปราสาทเมืองสิงห์ อยู่ห่างจากพิพิธภัณฑ์บ้านเก่าเพียง 10 กิโลเมตรเท่านั้น

 

โดยสรุป นิทรรศการและวัตถุต่างๆ ที่จัดแสดงทั้ง 3 ชั้นนี้กำลังนำเราเข้าใจ 3 ประเด็นไปพร้อมกันคือ 1. ความเข้าใจต่อเวลา ที่เริ่มต้นจากชั้นดินเก่าสุดไปยังใหม่สุด 2. การเข้าใจพัฒนาการของเทคโนโลยี สังคม และวัฒนธรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา 3. การเข้าใจวิธีการขุดค้นและการทำงานทางโบราณคดี 

 

แต่ที่สำคัญด้วยคือ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้พาเราหลุดพ้นจากภาวะที่พิพิธภัณฑ์มักนำเสนอคือ ความเป็นไทย ในอนาคตเชื่อว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัด และเป็นศูนย์วิจัยทางด้านโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญของภูมิภาค 

 

อยากให้ไปกันเที่ยวกันครับ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising