‘แม่น้ำเจ้าพระยา’ คือแม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงผู้คนริมน้ำมานานนับแต่อดีต หลายพื้นที่กลายเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น ท่าเรือสาทร ที่เชื่อมการเดินทางของผู้คนจากรถไฟฟ้าไปยังโรงแรม คอมมูนิตี้มอลล์ และห้างสรรพสินค้าที่ตั้งอยู่ในย่านริมน้ำ
ล่องเรือทวนกระแสน้ำขึ้นมาทางทิศเหนือ สองฟากฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา เต็มไปด้วยเรื่องราวของประวัติศาสตร์ที่ยังคงมีชีวิตอยู่ มีบ้านเรือนหลังเก่าคอยบอกเล่าเรื่องราวของการย้ายถิ่นฐานของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งจีน แขก และมอญ สืบย้อนไปไกลถึงสมัยกรุงธนบุรีเป็นอย่างน้อย
จุดหมายปลายทางที่ THE STANDARD จะพาไปเยือนในคราวนี้ เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญกับไทยมายาวนาน ทั้งในด้านของยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศและโบราณราชประเพณีคือ พิพิธภัณฑ์อู่ต่อเรือหลวงเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี
พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา
เทียบท่าบริเวณหน้าอาคารราชนาวิกสภา กองบัญชาการกรมยุทธศึกษาทหารเรือ ฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามหมู่พระมหาปราสาทของพระบรมมหาราชวัง ที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2459 อาคารหลังนี้นับว่าเป็นจุดที่มีทัศนียภาพงดงามที่สุดในคุ้งน้ำเจ้าพระยา ดังเห็นจากคราวที่ใช้เป็นสถานที่ต้อนรับและรับชมกระบวนพยุหยาตราชลมารค เมื่อครั้งมีการประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC
ถัดเข้าไปด้านหลังอาคารราชนาวิกสภามีอาณาบริเวณที่ล้อมไว้ด้วยกำแพงใบเสมาเป็นเขตของพระนิเวศน์ในสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เมื่อครั้งที่ย้ายถิ่นฐานมาจากบ้านเดิมอัมพวามาที่ปากคลองมอญ ฝั่งธนบุรี ก่อนที่จะสถาปนาขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ในเวลาต่อมา
ในปัจจุบันบริเวณพระนิเวศน์นี้ได้กลายเป็นที่ตั้งของ ‘กองเรือลำน้ำ’ ที่มีหน้าที่ในการรับผิดชอบดูแล ป้องกันลำน้ำในอาณาเขต และลำน้ำภายในประเทศ อีกทั้งป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายทางลำน้ำ ตลอดจนคุ้มครองและช่วยเหลือประชาชนจากภัยพิบัติต่างๆ
ภายในรั้วของกรมอู่ทหารเรือ มีเรือนไม้สองชั้นอายุเกินกว่า 100 ปีที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นที่ตั้งของแหล่งเรียนรู้ล้ำค่าอย่าง พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา
โดยตัวอาคารสร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมแบบขนมปังขิงที่ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตกและเป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 พื้นของตัวเรือนเป็นไม้สัก มีหลังคาทรงปั้นหยา ฉลุลายลูกไม้ประดับรอบเชิงชาย ชายน้ำ ขอบด้านบนประตู และหน้าต่าง มีจุดเด่นอยู่ที่หน้าจั่วด้านหน้าอาคาร ซึ่งประดับเครื่องหมายและสัญลักษณ์ของกองทัพเรือ ใต้หน้าจั่วแกะสลักเป็นรูปเครื่องมือช่างต่างๆ ท่ามกลางลวดลายไม้ฉลุ และเคยได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2557 ประเภทอาคารสถาบันและอาคารสาธารณะ โดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษานี้ เป็นสถานที่เก็บรักษา อนุรักษ์ และจัดแสดงเอกสารทรงคุณค่าเกี่ยวกับการซ่อมสร้างเรือ เป็นแหล่งเรียนรู้ รวมไปถึงเผยแพร่พระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในด้านการต่อเรือ อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการต่อเรือรบ เรือพระที่นั่ง งานอู่เรือ และอุตสาหกรรมต่อเรือของประเทศ ตลอดจนผลงานทางช่างที่เป็นมรดกทางปัญญาของกรมอู่ทหารเรือ นับแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน
นอกจากนี้กรมอู่ทหารเรือยังเป็นที่ตั้งของโบราณสถานซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. 2545 จำนวน 2 แห่งคือ อุโบสถวัดวงศมูลวิหาร โบสถ์เก่าที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยมีจุดเด่นอยู่ที่พระประธานที่ตั้งอยู่กลางตัววิหารและหันหน้าออกทางด้านข้างตามแนวขวาง แตกต่างจากพระประธานทั่วไปที่ประดิษฐสถานอยู่ท้ายพระอุโบสถและหันหน้าออกมาตามแนวยาว
และ ปล่องเหลี่ยม ที่ก่อด้วยอิฐ ส่วนหนึ่งของระบบเครื่องจักรไอน้ำในโรงงานของกรมอู่ทหารเรือ ที่สร้างขึ้นโดยพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อการสร้างและซ่อมเรือไว้ใช้ในการป้องกันประเทศ โดยในอดีตเครื่องจักรภายในอู่ต่อเรือขับเคลื่อนด้วยระบบไอน้ำกำลังดันสูง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี
ล่องเรือต่อขึ้นมาทางทิศเหนือของแม่น้ำเจ้าพระยา จนถึงบริเวณคลองบางกอกน้อย ย่านหนึ่งที่เป็นฉากหลังของนวนิยายอมตะอย่าง คู่กรรม เป็นที่ตั้งของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี สถานที่เก็บรักษาเรือพระราชพิธีสำหรับประกอบพิธีกระบวนพยุหยาตราชลมารค
แต่เดิมที่นี่เป็นอู่เก็บเรือพระราชพิธีในความดูแลของสำนักพระราชวังและกองทัพเรือ ต่อมาเมื่อคราวเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 อู่และเรือพระราชพิธีบางส่วนถูกแรงระเบิดทำให้ได้รับความเสียหาย หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2490 สำนักพระราชวังและกองทัพเรือจึงได้มอบหมายให้กรมศิลปากรเป็นผู้ทำการซ่อมแซม และดูแลรักษาบรรดาเรือที่เสียหายให้กลับมาอยู่ในสภาพที่ใกล้เคียงดั้งเดิมมากที่สุด และตั้งเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ขึ้นในเวลาต่อมา
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
ภายในพิพิธภัณฑ์มีมรดกล้ำค่าของชาติที่จัดแสดงอยู่คือ โขนเรือนารายณ์ทรงสุบรรณเก่า ต้นแบบเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9, เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์, เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช, เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์, เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9, เรือครุฑเหินเห็จ, เรือกระบี่ปราบเมืองมาร, เรืออสุรวายุภักษ์, เรือเอกไชยเหินหาว อีกทั้งยังจัดแสดงเครื่องประกอบพระราชพิธีทางชลมารค เช่น บัลลังก์บุษบก และบัลลังก์กัญญาอีกด้วย
เรือครุฑเหินเห็จ
เรืออสุรวายุภักษ์
เรือกระบี่ปราบเมืองมาร
พิพิธภัณฑ์อู่ต่อเรือหลวงเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา เปิดให้เข้าชมโดยไม่เก็บค่าเข้าชมในวันราชการ เวลา 09.00-16.00 น. และในกรณีเข้าชมเป็นหมู่คณะ สามารถส่งหนังสือถึงกรมอู่ทหารเรือ เพื่อขอวิทยากรนำชม และให้ความรู้ได้อีกด้วย
ขอขอบคุณทริป ‘สมันเตาสัญจร ครั้งที่ 3 ล่องเจ้าพระยาตามรอยศิลปะเรือไทย’ โดยปาร์คนายเลิศ
ภาพเปิด: เรือพระที่นั่งจำลอง จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา (Nai Lert Park Heritage Home / Facebook)
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
- สมันเตาสัญจรเป็นการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากวิถีชีวิตของ นายเลิศ เศรษฐบุตร ผู้ริเริ่มธุรกิจรถเมล์ขาวไทยในไทย โดยชื่อ ‘สมันเตา’ นี้เป็นชื่อของเรือลำโปรดของนายเลิศ ที่ต่อขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2475 เพื่อการท่องเที่ยวทางน้ำในสมัยนั้น