นับตั้งแต่ พ.ศ. 2554 ในวันที่ 4 ตุลาคมของทุกปี จะมีการประกาศรายชื่อภาพยนตร์ที่จะได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ โดยมีเกณฑ์การคัดเลือกคือ เป็นภาพยนตร์ที่มีคุณค่า บันทึกประวัติศาสตร์ ความทรงจำ มีความเสี่ยงต่อการสูญเสีย มีบูรณภาพ หรือมีอิทธิพลต่อสังคมในยุคสมัยต่างๆ เพื่อเป็นหลักประกันว่าภาพยนตร์เหล่านี้จะได้รับการอนุรักษ์เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นหลังต่อไป
การประกาศรายชื่อมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 9 ประจำปี พ.ศ. 2562 จำนวน 15 เรื่อง โดยความน่าสนใจอยู่ที่ มีภาพยนตร์ที่นำเสนอประเด็นความหลากหลายทางเพศที่มีกะเทยเป็นตัวละครหลักถึง 2 เรื่อง ได้รับการคัดเลือกในครั้งนี้ด้วย
เรื่องแรกคือ กะเทยเป็นเหตุ (2498) ภาพยนตร์สั้นที่มีตัวละครเอกเป็นกะเทยที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยบันทึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย ที่ฉายภาพความหลากหลายว่ามีอยู่ในสังคมไทยมาตั้งแต่สมัย 60 ปีก่อน เพียงแต่ผู้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะ ‘ปิดตา’ ทำเหมือนคนเหล่านี้ไม่มีตัวตน นับว่าเป็นภาพยนตร์ LGBT ที่มาก่อนกาลอย่างแท้จริง
เรื่องที่สองคือ Insects in the Backyard ของ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ที่ผันตัวเองไปเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อผลักดันประเด็น ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ ให้เป็นที่ยอมรับในสังคมมากขึ้น นับเป็นภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกๆ ที่พูดถึงกะเทยในฐานะที่ไม่ได้เป็นเพียง ‘ตัวตลก’ และสะท้อนให้เห็น ‘ปัญหา’ เรื่องเพศสภาพที่ถูกกดทับอยู่ลึกๆ รอวันปะทุออกมา
นอกจากนี้ Insects in the Backyard ยังควบตำแหน่งภาพยนตร์เรื่องแรกที่ถูก ‘แบน’ จากพระราชบัญญัติพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ด้วยข้อกล่าวหาที่ว่า ‘ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน’ ก่อนที่ธัญญ์วารินตัดสินใจสู้คดีจนสามารถจัดฉาย (ตัดฉากที่มีความยาว 3 วินาทีออก) ได้ในปี พ.ศ. 2560
อีกหนึ่งเรื่องที่เคยถูกแบนคือ อาปัติ ภาพยนตร์สยองตั้งคำถามกับความเป็นพระที่แท้จริง โดย ขนิษฐา ขวัญอยู่ จนถูกสั่งห้ามฉายในปี พ.ศ. 2558 ภายหลังทีมผู้สร้างต้องตัดเนื้อหาบางส่วนออกไปเพื่อให้ผ่านการพิจารณาและสามารถจัดฉายได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการเห็นว่า ‘เหมาะสม’
การขึ้นทะเบียนให้ภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ จึงไม่ได้เป็นเรื่องน่ายินดีแค่คุณภาพของภาพยนตร์ หากแต่ยังเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะช่วย ‘บันทึก’ ประวัติศาสตร์ในวงการภาพยนตร์ไทยเอาไว้ เพื่อส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไปได้รับรู้ว่า ในอดีตหนังที่พูดเรื่องความหลากหลายทางเพศ ตั้งคำถามกับความความศรัทธา เคยถูกนำเสนอ, กล่าวหา, ตัดสิน และต้องต่อสู้เพื่อยืนหยัดความเชื่อในการสะท้อนสังคมผ่านงานศิลปะมามากขนาดไหน
ส่วนภาพยนตร์อีก 12 เรื่องที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ได้แก่ ภาพยนตร์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ. 2469 ภาพยนตร์ส่วนพระองค์ชุดแรกที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงถ่ายด้วยพระองค์เอง, การเสด็จเลียบเมืองเหนือ ROYAL TOUR IN NORTHERN SIAM (2470) และ ชมสยาม (2473) ที่ฉายภาพวัฒนธรรมและส่งเสริมการท่องเที่ยวในสมัยรัชกาลที่ 7
เลือดชาวนา (2479) และ ปิดทองหลังพระ (2482) ที่หลงเหลือเพียงเศษฟิล์มขนาด 33 มม. แต่ช่วยบันทึกผลงานของทีมงานผู้บุกเบิกการสร้างภาพยนตร์ไทยที่หลงเหลืออยู่เพียงน้อยนิด, BANGKOK METROPOLITAN BUSES AND TRUCKS (2501), มวยไทย (2506), ‘ฟ้าเมืองไทย’ ฉลองขึ้นปีที่ 8 พุธ 7 เมษา 19 (2519) ที่บันทึกเหตุการณ์สำคัญในช่วงต่างๆ, นางสาวโพระดก (2508), ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด (2536), ฝัน บ้า คาราโอเกะ (2540) และ พี่มาก..พระโขนง (2556)
โดยผลงานทั้งหมดที่ได้รับการขึ้นทะเบียน ทางหอภาพยนตร์แห่งชาติจะทำการเผยแพร่ภาพยนตร์บางส่วนลงในแชนแนลยูทูบของหอภาพยนตร์ และนำมาจัดฉายที่โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา (รอติดตามโปรแกรมการจัดฉายได้ที่ www.fapot.org)
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า