×

จากฝรั่งภูเก็ต ถึง กะเทยผ่านศึก ‘45 วินาที’ ไม่พอคัดคนเข้าไทย

07.03.2024
  • LOADING...
45 วินาที ตม. ตรวจคนเข้าเมือง

“กระบวนการทำงานตรวจคัดกรองชาวต่างประเทศเข้าราชอาณาจักรของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองมีเวลาเพียง 45 วินาทีเท่านั้น ซึ่งไม่อาจตัดสินได้เลยว่าบุคคลที่ผ่านด่านไปแล้วจะเข้าไปทำสิ่งไม่ดีหรือไม่”

 

ไม่ว่าจะเป็นกรณีชายต่างชาติที่จังหวัดภูเก็ตสร้างความเดือดร้อนให้แพทย์สาวจนนำไปสู่การไล่รื้อที่พัก หรือจะเป็นกรณียกพวกรุมทำร้าย LGBTQIA+ ชาวไทยที่ย่านท่องเที่ยวกลางเมืองกรุงเทพฯ

 

ความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วเหล่านี้ เมื่อไม่ได้เกิดขึ้นจากคนในชาติ เราจะจัดการไม่ได้จริงหรือ?

 

THE STANDARD พูดคุยกับ พ.ต.อ. ปริญญา กลิ่นเกษร
รองผู้บังคับการกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 ถึงวิธีการคัดกรองบุคคลต่างประเทศเข้าไทย ไปจนถึงมาตรการจัดการขั้นเด็ดขาดเมื่อคนต่างชาติเหล่านั้นเข้าข่ายเป็นภัยกับคนในชาติ

 


 

‘45 วินาที’ เงื่อนไขการทำงานตำรวจ

 

พ.ต.อ. ปริญญา อธิบายถึงวิธีการคัดกรองบุคคลเข้าราชอาณาจักรว่า ตามหลักสากลของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองทั่วโลก เมื่อบุคคลใดก็ตามเดินทางถึงประเทศปลายทางแล้วผ่านขั้นตอนตรวจสอบทางอิเล็กทรอนิกส์ เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบตัวบุคคลนั้นเทียบกับหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ว่าข้อมูลตรงกันหรือไม่ เดินทางเข้ามาด้วยวีซ่าประเภทใด เป็นบุคคลตามหมายจับหรือไม่ และติดแบล็กลิสต์หรือไม่

 

ถ้าไม่มีเงื่อนไขตามที่กล่าวในข้างต้นเจ้าหน้าที่ต้องให้บุคคลนั้นเข้าประเทศได้ ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดนี้ต้องใช้เวลาเพียง 45 วินาทีเท่านั้นที่จะต้องตรวจสอบและอนุญาตให้เสร็จ

 

ถือวีซ่าท่องเที่ยวอย่างไรให้ติดแบล็กลิสต์

 

พ.ต.อ. ปริญญา กล่าวต่อว่า หากเดินทางเข้าประเทศไทยด้วยวีซ่าท่องเที่ยวจะไม่สามารถประกอบกิจการและทำงานใดไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ได้ ซึ่งเรื่องนี้มีความผิดถึงขั้นเพิกถอนวีซ่าและส่งตัวกลับประเทศทันที เพราะถือว่าเป็นการทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 

 

และขณะเดียวกัน หากงานนั้นเข้าข่ายเป็น ‘การทำงานที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวทำได้’ นอกจากการถูกเพิกถอนวีซ่าแล้ว จะถูกเพิ่มรายชื่อในแบล็กลิสต์ของประเทศด้วย

 


 

FYI:

 

งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำเด็ดขาด 27 งาน ตามบัญชีที่ 1 ของประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ได้แก่ 

 

  1. งานแกะสลักไม้
          
  2. งานขับขี่ยานยนต์ที่ไม่ใช้เครื่องจักรหรือเครื่องกลในประเทศ ยกเว้นงานขับขี่เครื่องบินระหว่างประเทศ งานขับรถยก (Forklift)
          
  3. งานขายทอดตลาด            
          
  4. งานเจียระไนเพชร, พลอย  
  5. งานตัดผม, เสริมสวย 
  6. งานทอผ้าด้วยมือ                  
          
  7. งานทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องใช้ด้วยกก หวาย ฟาง ไม้ไผ่ ขนไก่ เส้นใย ฯลฯ    
  8. งานทำกระดาษสาด้วยมือ            
          
  9. งานทำเครื่องเขิน            
          
  10. งานทำเครื่องดนตรีไทย       
          
  11. งานทำเครื่องถม            
          
  12. งานทำเครื่องทอง, เงิน, นาก            
          
  13. งานทำเครื่องลงหิน            
          
  14. งานทำตุ๊กตาไทย            
          
  15. งานทำบาตร            
          
  16. งานทำผ้าไหมด้วยมือ            
          
  17. งานทำพระพุทธรูป            
          
  18. ทำร่มกระดาษ, ผ้า            
         
  19. งานนายหน้า, ตัวแทน ยกเว้นในธุรกิจการค้าหรือการลงทุนต่างประเทศ            
  20. งานนวดไทย            
          
  21. งานมวนบุหรี่ด้วยมือ            
          
  22. งานมัคคุเทศก์            
          
  23. งานเร่ขายสินค้า            
          
  24. งานเรียงตัวพิมพ์อักษรไทยด้วยมือ            
          
  25. งานสาวบิดเกลียวไหม            
          
  26. งานเลขานุการ            
          
  27. งานบริการทางกฎหมาย

 

ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 8 กำหนดว่า คนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ ฝ่าฝืนมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมถึงห้ามขอใบอนุญาตทำงานเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับโทษ       

 


 

วีซ่าเมื่อถูกถอน ไม่มีโอกาสที่สองให้กู้กลับ

 

เมื่อถามถึงกรณีบุคคลที่ถูกเพิกถอนวีซ่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป พ.ต.อ. ปริญญา อธิบายว่า บุคคลนั้นจะจัดอยู่ในสถานะผู้ต้องกักทันที เพื่อรอเข้าสู่การส่งตัวกลับประเทศต้นทาง ตามหมวด 6 การส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักรของพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 

 

ซึ่งบุคคลดังกล่าวจะถูกควบคุมตัวไปอยู่ในสถานที่พักชั่วคราวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง แต่ทั้งนี้ ขณะที่บุคคลนั้นถูกกักตัวอยู่ยังมีสิทธิที่จะขอยื่นประกันตัวเพื่อไปสู้คดีที่ถูกดำเนินอยู่ได้ 

 

แต่เมื่อการเพิกถอนวีซ่าสำเร็จบริบูรณ์แล้ว คนคนนั้นจะไม่สามารถยุติการเพิกถอนได้ จะต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทางทันที ไม่ว่าบุคคลนั้นทำธุรกรรมหรือธุรกิจใดไว้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องบริหารจัดการภายในบริษัทให้ได้ 

 

พ.ต.อ. ปริญญา กล่าวต่อว่า การจะเพิกถอนวีซ่าของบุคคลหนึ่งคดีความจะต้องดำเนินให้ถึงที่สุดก่อน ต้องเป็นการลงโทษจำคุกเท่านั้น ไม่ใช่แค่การรอลงอาญาหรือโทษปรับ แต่อีกเงื่อนไขคือ ถ้าถูกตัดสินว่าเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ ก็สามารถถูกเพิกถอนวีซ่าได้เช่นกัน 

 


 

FYI:

 

พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 12 ระบุลักษณะต้องห้ามของคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักร ดังนี้

 

  1. ไม่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางอันถูกต้องและสมบูรณ์อยู่ หรือมีแต่มิได้รับการตรวจลงตราจากสถานทูตหรือสถานกงสุลไทย
  2. ไม่มีปัจจัยยังชีพตามสมควรแก่กรณีที่เข้ามาในราชอาณาจักร 
  3. เข้ามาเพื่อทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการคนต่างด้าว 
  4. วิกลจริตหรือมีโรคอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎกระทรวง 
  5. ยังมิได้ปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ หรือฉีดวัคซีน 
  6. เคยได้รับโทษจำคุก 
  7. มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคมหรือถูกรัฐบาลต่างประเทศออกหมายจับ 
  8. มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเข้ามาเพื่อค้าประเวณี การค้าหญิงหรือเด็ก ค้ายาเสพติด ลักลอบหนีภาษีศุลกากร 
  9. ไม่มีเงินติดตัวหรือไม่มีประกันตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด 
  10. รัฐมนตรีไม่อนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามมาตรา 16 
  11. ถูกรัฐบาลไทยหรือรัฐบาลต่างประเทศเนรเทศหรือเพิกถอนสิทธิการอยู่ในราชอาณาจักร

 


 

บทเรียนเคสฝรั่งภูเก็ต – LGBTQIA+ ฟิลิปปินส์

 

เมื่อถามว่า เราสามารถป้องกันหรือทำอะไรได้บ้างเพื่อคัดกรองใครก็ตามที่เข้ามาในประเทศไทย พ.ต.อ. ปริญญา กล่าวย้ำกระบวนการทำงานตรวจคัดกรองชาวต่างประเทศเข้าราชอาณาจักรของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองว่า เจ้าหน้าที่มีเวลาเพียง 45 วินาทีเท่านั้น ซึ่งเวลาดังกล่าวไม่อาจตัดสินได้เลยว่าบุคคลที่ผ่านด่านไปแล้วจะเข้าไปทำสิ่งไม่ดีหรือไม่

 

“ที่ผ่านมาชาวฟิลิปปินส์ที่เข้ามาท่องเที่ยวและทำงานถูกต้องตามกฎหมายในประเทศไทยมีจำนวนมาก กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเพียงกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นส่วนน้อยเท่านั้น” พ.ต.อ. ปริญญา กล่าว

 

เมื่อถามว่า จากนี้ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองต้องเน้นย้ำการติดตามดูแลชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยอย่างไรบ้าง พ.ต.อ. ปริญญา กล่าวว่า เป็นเรื่องการบูรณาการของหน่วยงานเพื่อตรวจสอบ เนื่องด้วยปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศ เจ้าหน้าที่ต้องตรวจอนุญาตด้วยมาตรฐานพื้นฐาน ตม. สากลให้เสร็จสิ้นภายใน 45 วินาที 

 

แต่ทั้งนี้ ตำรวจต้องตามตรวจสอบต่อว่าบุคคลเหล่านั้นขณะอยู่ในราชอาณาจักรมีพฤติกรรมหรือพฤติการณ์อย่างไร ซึ่งประเด็นนี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมีนโยบายมาอย่างต่อเนื่องแล้ว ที่จะให้เจ้าหน้าที่วางกรอบพื้นที่เสี่ยงว่าจะมีต่างชาติกระทำผิดกฎหมาย รวมไปถึงเฝ้าระวังสัญชาติที่สุ่มเสี่ยงกระทำผิดกฎหมายก่ออาชญากรรม

 

รวมทั้งการตรวจสอบที่พักอาศัยทั้งแบบโรงแรมและที่พักทั่วไปว่าให้ที่พำนักแก่บุคคลใดบ้าง ทำตามกฎหมายหรือไม่ และสั่งการเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ลงเก็บข้อมูลในชุมชนอย่างสม่ำเสมอ

 

ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับชาวต่างประเทศในประเทศไทยสามารถแจ้งเรื่องได้ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สถานีตำรวจในพื้นที่ ตำรวจท่องเที่ยว และเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายได้ทันที

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising