×

แบงก์ชาติทั่วโลกแห่ขายบอนด์สหรัฐฯ ประคองค่าเงินอ่อน กระจายความเสี่ยง จับตาระยะยาวดอลลาร์อาจถูกสั่นคลอน

02.06.2022
  • LOADING...
แบงก์ชาติทั่วโลกแห่ขายบอนด์สหรัฐฯ

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • หลายประเทศแห่เทขายบอนด์สหรัฐฯ เพื่อประคองการอ่อนค่าของสกุลเงินตัวเอง ที่อ่อนค่าจากการขึ้นดอกเบี้ยและการดูดสภาพคล่องกลับของ Fed
  • การหันไปถือเงินสกุลอื่นเพื่อกระจายความเสี่ยงในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศที่ไม่ได้เป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับสหรัฐฯ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการเทขายบอนด์สหรัฐฯ ครั้งใหญ่จากธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก 
  • ผู้เชี่ยวชาญคาดเทรนด์ลดการถือครองดอลลาร์อาจลากยาว 3-5 ปี โดยในระยะยาวอาจส่งผลให้ต้นทุนกู้ยืมของสหรัฐฯ สูงขึ้น และดอลลาร์อาจสูญเสียสถานะพิเศษ 

การปรับทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ด้วยการขึ้นดอกเบี้ย ได้ส่งผลให้ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ธนาคารกลางหลายประเทศทั่วโลกต้องปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อประคองค่าเงินของตัวเองไม่ให้อ่อนค่าเร็วจนเกินไป

 

แห่ขายดอลลาร์ประคองค่าเงิน

ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่มีการเทขายบอนด์สหรัฐฯ ออกมามากถึง 7.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปริมาณการถือครองทั้งหมดราว 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในระยะเวลาเพียง 3 เดือน เพื่อดูแลค่าเงินเยนที่อ่อนค่าจากต้นปีไปแล้วถึง 12% ทำสถิติอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 20 ปี

 

ขณะที่จีนซึ่งเป็นประเทศที่มีการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น ก็ปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ลงติดต่อกันเป็นเวลา 4 เดือน คิดเป็นมูลค่าราว 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ทำให้การถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยรวมทั้งหมดของจีนอยู่ในระดับที่ต่ำสุดรอบ 12 ปี นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2010

 

โดยผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าจีนอาจเดินหน้าลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ลงอย่างต่อเนื่อง หากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูง และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังเปราะบาง 

 

เพราะนอกจากปัจจัยเรื่องการดูแลเสถียรภาพของเงินหยวนที่อ่อนค่าลงจากต้นปีราว 5% แล้ว จีนยังมีโจทย์ในเรื่องการกระจายทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการถือครองเงินสกุลดอลลาร์มากเกินไป หลังจากเกิดกรณีที่สหรัฐฯ เล่นงานรัสเซียผ่านการคว่ำบาตรทางการเงิน

 

ด้านอินเดียก็มีการเทขายเงินสกุลดอลลาร์จากเงินทุนสำรองอย่างต่อเนื่องเพื่อประคองค่าเงินรูปีที่อ่อนค่าเป็นประวัติการณ์ทะลุระดับ 77 รูปีต่อดอลลาร์ไปเมื่อเร็วๆ นี้ โดยข้อมูลล่าสุดระบุว่า ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาอินเดียขายพันธบัตรสหรัฐฯ มากถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่งผลให้เงินทุนสำรองของอินเดียลดต่ำลงมาเหลือน้อยกว่า 6 แสนล้านดอลลาร์

 

ในส่วนของประเทศไทย ข้อมูลล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า นับจากต้นปีที่ผ่านมาเงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิของไทยปรับลดลงจาก 279,156 ดอลลาร์ ลงมาอยู่ที่เหลือ 258,040 ล้านดอลลาร์ หรือลดลงไปแล้ว 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็น 7.5% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 26 เดือน นับจากวันที่ 20 มีนาคม 2020

 

3 ปัจจัยหนุนคนทิ้งบอนด์สหรัฐฯ

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research วิเคราะห์ว่า แรงเทขายพันธบัตรสหรัฐฯ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้น่าจะเกิดจาก 3 แรงขับเคลื่อนใหญ่ๆ ได้แก่ 

 

  1. การแทรกแซงของธนาคารกลางในกลุ่มประเทศที่สกุลเงินได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สูง ค่าเงินของตัวเองอ่อนค่าค่อนข้างมาก ทำให้ต้องขายเงินดอลลาร์เพื่อดูแลไม่ให้เงินสกุลท้องถิ่นเคลื่อนไหวผันผวนเกินไป

 

  1. การที่นักลงทุนต่างประเทศเริ่มให้น้ำหนักกับการลงทุนในบอนด์สหรัฐฯ ลดลงจากทิศทางดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น

 

  1. การกระจายความเสี่ยงของเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในกลุ่มประเทศที่ไม่ได้เป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ซึ่งมีความกังวลว่าอาจถูกสหรัฐฯ ใช้มาตรการทางการเงินเล่นงานเช่นเดียวกับรัสเซียในระยะข้างหน้า

 

“จาก 3 ปัจจัยข้างต้น ให้น้ำหนักกับข้อแรกซึ่งเป็นการดูแลค่าเงินมากที่สุด อีก 2 ปัจจัยยังมีน้ำหนักค่อนข้างน้อย เพราะในช่วงที่ผ่านมาเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมาก ทำให้เงินหลายสกุลอ่อนค่าลงค่อนข้างเร็ว การขายบอนด์เพื่อดูแลค่าเงินก็เป็นเรื่องปกติไม่คิดว่ามีอะไรที่น่ากังวล” พิพัฒน์กล่าว

 

พิพัฒน์ยังประเมินด้วยว่า อีกไม่นานกระแสการซื้อบอนด์สหรัฐฯ น่าจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากขณะนี้ตลาดเริ่มมีความกังวลในเรื่อง Recession หรือภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจมากขึ้น ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ก่อนหน้านี้ก็ขยับขึ้นไปสูงกว่าระดับ 3% ซึ่งล่าสุดเริ่มย่อตัวลงมาเคลื่อนไหวในระดับ 2.7-2.8% แล้ว 

 

คาดเทรนด์อาจลากยาว 3-5 ปี

ขณะที่ จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี ประเมินว่า การปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ของประเทศต่างๆ น่าจะเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นในช่วง 3-5 ปีจากนี้ เนื่องจากการใช้มาตรการคว่ำบาตรทางการเงินอย่างรุนแรงต่อรัสเซียของสหรัฐฯ ทำให้เงินดอลลาร์ที่เคยถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย มีสภาพคล่องสูง อยากขายเมื่อไรก็ขายได้ เริ่มถูกมองต่างไปจากเดิมและทำให้ธนาคารกลางในหลายประเทศต้องหันมาพิจารณากระจายการถือครองเงินทุนสำรองไปยังสกุลเงินอื่นมากขึ้น

 

“ปัจจุบันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของทั้งโลกถูกถือเป็นเงินสกุลดอลลาร์ถึง 60% ซึ่งสูงเกินไป แต่การที่ 70% ของธุรกรรมการค้าโลกใช้เงินดอลลาร์ ก็ทำให้หลายประเทศยังเลือกถือเงินดอลลาร์เพราะตอบโจทย์การค้า แต่วิกฤตในรอบนี้อาจต่างออกไป เพราะมีกระแสโลกาภิวัตน์ตีกลับเกิดขึ้นด้วย เห็นได้จากการที่หลายประเทศเริ่มค้าขายโดยใช้เงินสกุลของตัวเองโดยตรงมากขึ้น” จิติพลกล่าว

 

จิติพลระบุอีกว่า แม้ในระยะสั้นอิทธิพลของเงินดอลลาร์จะยังไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีสินทรัพย์อื่นที่มีความปลอดภัย ผันผวนต่ำ มีสภาพคล่องสูง เปลี่ยนเป็นเงินได้ทันทีเทียบได้กับดอลลาร์ แต่ในระยะยาวหากเงินดอลลาร์ค่อยๆ ทยอยถูกใช้น้อยลง บทบาทในการเป็นเงินสกุลพิเศษ (Exceptional Currency) ของดอลลาร์จะลดน้อยลงด้วย

 

“เมื่อดอลลาร์ถูกถือน้อยลงต้นทุนการกู้ยืมของสหรัฐฯ จะปรับสูงขึ้น อาจจะปีละ 0.05-0.1% สหรัฐฯ อาจไม่สามารถออกกฎเกณฑ์ให้ทุกคนต้องทำตามได้เหมือนเก่า แต่กว่าที่ภาพเหล่านี้จะเกิดขึ้นอาจต้องรอให้สัดส่วนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของทั้งโลกที่เป็นดอลลาร์ลดลงต่ำกว่า 50% ซึ่งคงต้องใช้เวลานับ 10 ปี” จิติพลกล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising