×

สิ่งที่หายไปจากแผน AI แห่งชาติ: ทำอย่างไรให้ไทยเป็น ‘ผู้สร้าง’ ไม่ใช่แค่ ‘ผู้ใช้’

07.05.2025
  • LOADING...
แผน AI แห่งชาติ

หลังจากคณะกรรมการ AI แห่งชาติประกาศยุทธศาสตร์ใหญ่ ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็น ‘AI Hub of ASEAN’ ก็ได้รับความสนใจจากวงการเทคโนโลยีอย่างคึกคัก ด้วยตัวเลขเป้าหมายที่ 10 ล้าน AI Users, 90,000 AI Professionals, และ 50,000 AI Developers พร้อมงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานกว่า 5 แสนล้านบาท ครอบคลุม Cloud, Data Center, GPU, National Data Bank และอื่นๆ

 

แต่สิ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจในแผนนี้คือสิ่งที่แผนไม่ได้พูดถึงมากกว่าครับ เพราะถ้าอ่านดีๆ จะเห็นว่ายุทธศาสตร์ส่วนใหญ่จะเน้นที่การนำเทคโนโลยีมาใช้ มากกว่าการสร้างเทคโนโลยีเพื่อส่งออก 

 

ในระดับ Infra การลงทุนใน Data Center และ GPU นี่ เราเป็นผู้ซื้อแน่ๆ ส่วนที่ผลิตเองได้มีน้อยมาก ในระดับ Model แม้จะมีการพูดถึงการสร้าง Open Source AI Platform และ National LLM แต่โดยทั่วไปแล้ว บริการลักษณะนี้มักมีเพื่อให้บริการกับผู้ใช้งานในประเทศ มากกว่าเพื่อส่งไปแข่งขันกับต่างประเทศ หรือในระดับ Application ที่มีการพูดถึง Use Case หลากหลาย แต่แทบทั้งหมดก็เป็นการใช้งานภายในประเทศ แม้จะมี Health AI ที่มีศักยภาพในการส่งออกนวัตกรรม แต่กลับไม่มีแผนชัดเจนในการต่อยอดสู่ตลาดระดับภูมิภาคหรือระดับโลก

 

ถ้าหากไปดูประเทศใกล้ตัวอย่างสิงคโปร์ เอกสาร National AI Strategy ที่ประกาศใช้ในปี 2023 ได้วางเป้าหมายเรื่อง ‘Local to Global’ ไว้อย่างชัดเจน โดยมีเป้าหมายให้คนสิงคโปร์และธุรกิจสิงคโปร์เป็น World-Leading in AI และมี Action Plan ว่าจะทำอะไรบ้าง จะสร้างขีดความสามารถระดับโลกได้อย่างไร จะดึงต่างประเทศมาหนุน Ecosystem ในประเทศอย่างไร เทียบกันแล้วแผนของไทยเรายังขาดกรอบคิดเชิงรุกในลักษณะเดียวกัน

 

ข้อเสนอ: ยกระดับไทยให้เป็นส่วนหนึ่งของ Global AI Supply Chain

 

หากต้องการเปลี่ยนบทบาทจากผู้ใช้ เป็นผู้สร้าง ไทยจำเป็นต้องมีนโยบายเสริมที่มุ่งเป้าไปที่การส่งเสริมนักวิจัยและผู้ประกอบการให้สามารถพัฒนาและขยายเทคโนโลยีไทยสู่เวทีโลกอย่างแท้จริง โดยผมขอเสนอแนวทางเพิ่มเติมสำหรับแผน AI แห่งชาติ ดังนี้

 

  1. Funding & Incentive: เพิ่ม Cheque Size ของ Grant ภาครัฐทั้งสำหรับวิจัยและสำหรับผู้ประกอบการ และเปิดทางให้ BOI สามารถร่วมลงทุนแบบ matching fund ควบคู่กับ Grant ได้ เพื่อให้มี Runway ที่ยาวพอที่จะดำเนินธุรกิจหรืองานวิจัยไปถึง milestone ใหญ่ได้

 

  1. Global R&D Collaboration: จัดตั้งโครงการ Global Joint Lab Program เพื่อจูงใจให้ Big Tech มาตั้งศูนย์วิจัย AI ในไทย โดยร่วมกับหน่วยงานวิจัยหรือบริษัทเอกชนไทย และมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ

 

  1. Talent & Visibility: สนับสนุนให้นักวิจัยและผู้ประกอบการ AI ในการเข้าร่วมงานและออกบูทใน AI Conference ระดับนานาชาติ เพื่อให้ไทยมีตัวตนและบทบาทในการขับเคลื่อน AI ในระดับโลก

 

  1. Market Access & Partnership: สร้างโครงการ Co-Selling กับ AI/Cloud Marketplace ระดับโลก เพื่อเป็นช่องทางให้ AI Product & Service ของไทยได้เข้าถึงตลาดโลก

 

  1. Transparency & Trust: จัดทำ Thai AI Investment Dashboard เพื่อเปิดเผยรายชื่อบริษัท ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น, จำนวนเงินสนับสนุน, Milestone ที่ทำได้ เพื่อสร้างความโปร่งใส ไม่ให้เงินรัฐกลายเป็น Easy Money และสร้างความเชื่อมั่นจากประชาชนและนักลงทุน

 

โดยข้อเสนอ 5 ข้อนี้ ผมตั้งใจให้รองรับนักวิจัยและผู้ประกอบการในทุกๆ ช่วงของ journey ตั้งแต่มีทุนสำหรับผู้เริ่มต้น มีความร่วมมือในการวิจัยจากพันธมิตรระดับโลก มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี เมื่อเติบโตแล้วก็ได้ร่วมกับผู้นำตลาดเอานวัตกรรมไปขยายในระดับ Global

 

ส่งท้าย: ใครเป็นเจ้าของเทคโนโลยี – คนนั้นเป็นเจ้าของเศรษฐกิจ

 

ในโลกที่ AI กำลังกลายเป็นหัวใจของเศรษฐกิจใหม่ คำถามสำคัญไม่ใช่แค่ ‘ใครใช้ AI ได้มากที่สุด’ แต่คือ ‘ใครเป็นเจ้าของ AI ที่คนอื่นต้องใช้’

 

เพราะเจ้าของเทคโนโลยีไม่ใช่แค่สร้างเครื่องมือ แต่เป็นผู้กำหนดกติกา และเก็บผลประโยชน์จากทุกการใช้งาน

 

หากวันนี้ไทยยังไม่เริ่มเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้กำหนดเกม วันข้างหน้าเราอาจจะเป็นแค่ตัวประกอบ NPC ในเศรษฐกิจ AI ที่ไม่มีสิทธิ์เลือกบทของตัวเองก็ได้นะครับ

 

ภาพ: Vithun Khamsong / Getty Images, visual7 / Getty Imges

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising