นักดาราศาสตร์ตรวจพบไอน้ำในบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ GJ 9827 d ที่อยู่ห่างโลกไป 97 ปีแสง จากข้อมูลล่าสุดของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล
น้ำเป็นหนึ่งในโมเลกุลที่พบได้ทั่วไปในเอกภพ และถือเป็นสิ่งจำเป็นของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก ทำให้การค้นหาชีวิตในแห่งหนอื่นของเอกภพ มักดำเนินควบคู่ไปกับการตรวจหาร่องรอยของน้ำบนดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงอื่น โดย GJ 9827 d มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเป็น 2 เท่าของโลก ทำให้เป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะขนาดเล็กสุดที่นักดาราศาสตร์เคยตรวจพบไอน้ำในบรรยากาศได้
Laura Kreidberg จาก Max Planck Institute for Astronomy หนึ่งในคณะวิจัยที่ค้นพบข้อมูลดังกล่าว ระบุว่า “การพบน้ำบนดาวเคราะห์ขนาดเล็กเพียงนี้ เป็นการค้นพบที่สำคัญมาก มันช่วยพาเราเข้าใกล้การตามหาดาวที่คล้ายโลกจริงๆ ได้มากยิ่งขึ้น”
อย่างไรก็ตาม แม้ดาวเคราะห์ GJ 9827 d จะมีไอน้ำในบรรยากาศของดาว แต่โอกาสในการพบชีวิตมีอยู่น้อยมาก เนื่องจากเป็นดาวเคราะห์ที่ร้อนมากกว่า 426 องศาเซลเซียส หรือร้อนเทียบเท่าดาวศุกร์ และนักดาราศาสตร์ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นดาวเคราะห์หินหรือดาวเคราะห์ก๊าซประเภท ‘มินิเนปจูน’ ที่อุดมไปด้วยไฮโดรเจนในผิวบรรยากาศ
ดาวเคราะห์ GJ 9827 d ถูกค้นพบโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ในปี 2017 โดยโคจรรอบดาวฤกษ์ประเภทดาวแคระแดงในทุกๆ 6.2 วัน และอยู่ห่างจากโลกไปประมาณ 97 ปีแสง ในทิศของกลุ่มดาวปลาคู่ โดยกล้องฮับเบิลได้ตรวจดูการ Transit หรือสังเกตดูแสงของดาวฤกษ์ที่หรี่ไปเมื่อถูกดาวเคราะห์เคลื่อนผ่านหน้ารวม 11 ครั้ง จนนำไปสู่การตรวจพบไอน้ำในบรรยากาศ
Thomas Greene นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์แห่งศูนย์วิจัย Ames ของ NASA ระบุว่า “การพบน้ำเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นพบสิ่งอื่นๆ ข้อมูลจากฮับเบิลเปิดประตูให้งานวิจัยในอนาคตที่อาจใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบแบบนี้ได้ละเอียดขึ้น ผ่านการตรวจดูในช่วงอินฟราเรด เช่น การตรวจหาโมเลกุลอย่างคาร์บอนมอนอกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทน ที่ช่วยให้เราทำความเข้าใจการก่อตัวของดาวเคราะห์ดวงนั้นๆ ได้ เมื่อมีองค์ประกอบข้อมูลมาอย่างครบถ้วน”
ภาพ: NASA, ESA, Leah Hustak (STScI), Ralf Crawford (STScI)
อ้างอิง: