×

NASA เผยรายละเอียด แผนส่งนักบินอวกาศเหยียบดวงจันทร์ในโครงการ Artemis ก่อนสร้างฐานถาวรบนดวงจันทร์

โดย THE STANDARD TEAM
23.09.2020
  • LOADING...

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ NASA ของสหรัฐฯ เผยแพร่รายละเอียดฉบับเต็มของภารกิจ Artemis ซึ่งตั้งเป้าส่งนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1972 โดยนอกจากนักบินอวกาศชาย จะมีนักบินอวกาศหญิงคนแรกที่ได้เข้าร่วมภารกิจสำรวจดวงจันทร์ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในปี 2024 ด้วย

 

“แผนของเราในการส่งผู้หญิงคนแรกและผู้ชายคนต่อไป ไปเหยียบบนดวงจันทร์ในปี 2024 กำลังเดินหน้า” เคธี ลูเดอร์ส หัวหน้าคณะกรรมการภารกิจสำรวจและปฏิบัติการของมนุษย์ของ NASA โพสต์ในทวิตเตอร์เมื่อวันจันทร์ (21 กันยายน) ที่ผ่านมา

 

สำหรับภารกิจแรกภายใต้โครงการ Artemis คือภารกิจ Artemis 1 จะเป็นการส่งยานอวกาศ Orion ไปพร้อมกับจรวดขนส่งรุ่นใหม่ Space Launch System (SLS) ขนาดยักษ์ ซึ่งยาน Orion จะไม่บรรทุกนักบินขึ้นไปด้วย แต่จะอยู่ในวงโคจรของดวงจันทร์ประมาณ 3 วัน เพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการบินไปยังดวงจันทร์ทั้งไปและกลับ ซึ่งตามไทม์ไลน์ของ NASA ตั้งเป้าดำเนินภารกิจนี้ภายในเดือนพฤศจิกายนปี 2021

 

หลังจากนั้นภารกิจ Artemis 2 จะเป็นการทดสอบนักบินอวกาศ ที่เดินทางไปกับยาน Orion และจรวด SLS เป็นครั้งแรก โดยจะบรรทุกนักบินอวกาศ 4 คน บินผ่านด้านไกลของดวงจันทร์ ที่มีระยะทางห่างจากโลกราว 400,000 กิโลเมตร ซึ่งทีมนักบินอวกาศชุดนี้จะได้เข้าไปยังห้วงอวกาศลึกที่สุดเท่าที่เคยมีมนุษย์เดินทางไป

 

และเมื่อยาน Orion เดินทางไปถึงจุดที่ไกลระดับนั้น แรงโน้มถ่วงจากดวงจันทร์และโลก จะเป็นสิ่งที่ช่วยดึงให้ยานเดินทางกลับได้สำเร็จ ซึ่งคาดว่าภารกิจทั้งหมดจะใช้เวลาราว 10 วัน โดยภารกิจนี้ถือเป็นการทดสอบการบรรทุกนักบินของยาน Orion ในการเดินทางไปและกลับจากดวงจันทร์อย่างปลอดภัย

 

ภารกิจ Artemis 3 จะเป็นการส่งนักบินอวกาศลงบนขั้วใต้ของดวงจันทร์

 

สำหรับภารกิจ Artemis 3 ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในปี 2024 ภารกิจหลักคือการส่งยาน Orion บินไปยังวงโคจรของดวงจันทร์ และส่งนักบินอวกาศลงเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ จากนั้นจึงเดินทางกลับสู่โลก

 

จุดที่จะส่งนักบินอวกาศลงไปนั้นคาดว่าเป็นบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ (แม้ว่าไม่นานมานี้ จะมีข่าวลือว่าจุดลงจอดอาจเป็นบริเวณเดียวกับยาน Apollo) ซึ่งการส่งยานลงจอดในบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์นั้น ในทางเทคนิคแล้วมีความยากกว่าจุดอื่นๆ ไม่มีภารกิจใด ที่ส่งมนุษย์หรือหุ่นยนต์สำรวจไปยังดวงจันทร์เคยทำได้มาก่อน 

 

เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ NASA จำเป็นต้องมีระบบลงจอดของมนุษย์ ซึ่งต้องใช้ยานอวกาศนำนักบินจากวงโคจรลงไปจอดยังพื้นผิวดวงจันทร์ โดยระบบนี้จะช่วยสนับสนุนการมีชีวิตรอดของมนุษย์ราว 1 สัปดาห์ หลังจากที่ยานลงจอด ก่อนที่จะกลับขึ้นไปยังวงโคจรของดวงจันทร์อีกครั้ง ซึ่งตอนนี้ทาง NASA กำลังร่วมมือกับ 3 บริษัทเทคโนโลยีอวกาศเพื่อการพาณิชย์ ได้แก่ Blue Origin, Dynetics, และ SpaceX เพื่อพัฒนาต้นแบบของระบบนี้

 

นอกจากนี้ ยังมีชุดอวกาศใหม่สำหรับนักบินที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาด้วย ซึ่งแม้ดูผิวเผินอาจจะคล้ายกับชุดนักบินอวกาศของยาน Apollo แต่ชุดอวกาศใหม่นี้จะมีความยืดหยุ่นมากกว่า และทำให้นักบินอวกาศสามารถทำภารกิจที่ซับซ้อนระหว่างการย่ำอวกาศได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังมีระบบสื่อสารภายในหมวกที่ดีขึ้นและระบบอื่นๆ ที่ได้รับการอัปเกรดเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ภารกิจ Artemis 3 นั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ซึ่งหลังเสร็จสิ้นภารกิจส่งมนุษย์ลงเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ครั้งนี้ NASA ตั้งเป้าที่จะส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ให้ได้ทุกปี โดยมีแผนติดตั้ง Gateway หรือสถานีอวกาศในวงโคจรของดวงจันทร์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับสถานีอวกาศนานาชาติ และจะดำเนินการภายใต้ความร่วมมือระหว่างนานาชาติ ซึ่งสำนักงานอวกาศของหลายประเทศ อาทิ รัสเซีย ญี่ปุ่น และแคนาดา ตอบรับที่จะร่วมสร้างสถานีอวกาศแห่งนี้แล้ว ขณะที่สถานีอวกาศ Gateway นี้ อาจถูกใช้งานในภารกิจสำรวจดาวอังคารหลังปี 2030 ด้วย

 

นอกจากนี้ ทางสำนักงานอวกาศของนานาชาติ ยังพร้อมร่วมมือกับ NASA ในแผนตั้งฐานถาวร หรือ Base Camp ที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งตั้งเป้าก่อสร้างได้ภายในต้นยุค 2030 โดยฐานแห่งนี้สามารถรองรับนักบินอวกาศได้ 4 คน พร้อมติดตั้งอุปกรณ์สำรวจ รวมถึงรถสำรวจดวงจันทร์ 2 คัน ซึ่งหนึ่งในนั้นสามารถใช้งานสำรวจในจุดที่อยู่ห่างจากฐานได้ในระยะไกล

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X