×

นาซาเตรียมส่งยานอวกาศสำรวจดวงอาทิตย์ระยะใกล้ที่สุดในประวัติศาสตร์

21.07.2018
  • LOADING...

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือนาซา เตรียมส่งยานอวกาศที่ชื่อ Parker Solar Probe เพื่อสำรวจดวงอาทิตย์ โดยจะบินเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ในระยะ 4 ล้านไมล์ นับเป็นยานอวกาศแรกของโลกที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในประวัติศาสตร์ เพื่อไขความลับที่นักวิทยาศาสตร์พยายามค้นหามากว่า 60 ปี


Parker Solar Probe ยานอวกาศขนาดเท่ารถคันเล็กๆ จะออกเดินทางจากแหลมคานาเวอรัลในรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 6 สิงหาคมนี้ ภารกิจที่วางไว้กินเวลา 7 ปี โดยจะเดินทางผ่านชั้นบรรยากาศบางส่วนของดวงอาทิตย์ และจะเข้าใกล้พื้นผิวมากที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสำรวจมา มากกว่ายานอวกาศลำก่อนหน้านี้อย่าง Helios 2 ถึง 7 เท่า ซึ่งเคยเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ในระยะ 27 ล้านไมล์ ในปี 1976

 

“นี่คือความทะเยอทะยานที่ยิ่งใหญ่ ที่สามารถส่งยานสำรวจไปในสถานที่ที่เราไม่เคยไปมาก่อน” นิโคลา ฟอกซ์ นักวิทยาศาสตร์ที่รับผิดชอบโครงการนี้กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (20 กรกฎาคม)

NASA/Johns Hopkins APL/Ed Whitman

 

เป้าหมายหลักของการสำรวจในครั้งนี้ เพื่อไขความลับของชั้นบรรยากาศบนดวงอาทิตย์ที่เรียกว่า โคโรนา ซึ่งจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์มีความรู้มากขึ้นถึงที่มาและพัฒนาการของลมสุริยะที่จะมีผลกระทบกับโลก

 

อเล็กซ์ ยัง นักวิทยาศาสต์ดวงอาทิตย์ของนาซากล่าวว่า ความรู้ที่ได้จากการสำรวจดวงอาทิตย์จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการคาดการณ์สภาพอวกาศ (Space Weather) หรือผลที่เกิดจากปรากฏการณ์หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดจากกิจกรรมบนดวงอาทิตย์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโลกและชีวิตของมนุษย์

NASA/Johns Hopkins APL/Ed Whitman

 

สำหรับ Parker Solar Probe คือยานอวกาศลำแรกที่นาซาเปลี่ยนชื่อ เพื่อเป็นเกียรติให้กับนักวิจัยที่ยังคงมีชีวิตอยู่ บุคคลท่านนั้นคือ ยูจีน นิวแมน ปาร์เกอร์ นักวิทยาศาสตร์ผู้บุกเบิกงานวิจัยด้านลมสุริยะ

โปรเจกต์นี้ใช้งบประมาณถึง 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีนวัตกรรมด้านวิศวกรรมความร้อนที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องให้อุปกรณ์ภายในสามารถอยู่รอดได้ แม้ได้รับความร้อนมากขึ้นขณะบินเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ นาซาระบุว่า สามารถรักษาอุณหภูมิภายในให้คงที่ที่ 29 องศาเซลเซียส แม้ว่าอุณหภูมิภายนอกจะเดือดดาลถึง 1,370 องศาเซลเซียสก็ตาม

 

ติดตามภารกิจที่จะปฏิวัติความเข้าใจของเราที่มีต่อดวงอาทิตย์ได้ที่นี่ parkersolarprobe.jhuapl.edu/

 

 


อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising