จิม ไบรเดนสไตน์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) วิจารณ์อินเดียว่าทำสิ่งที่ ‘เลวร้าย’ หลังทดสอบขีปนาวุธต่อต้านดาวเทียม จนเกิดขยะอวกาศจำนวนมาก ซึ่งทำให้สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) และนักบินอวกาศตกอยู่ในความเสี่ยง
นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดียประกาศเมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมาว่า อินเดียประสบความสำเร็จในการยิงทำลายดาวเทียมของตนเองที่โคจรอยู่นอกโลกด้วยขีปนาวุธจากพื้นสู่อวกาศ (ground-to-space missile)
ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของอินเดียระบุในแถลงการณ์ว่า การทดสอบขีปนาวุธดังกล่าวเกิดขึ้นที่ชั้นบรรยากาศต่ำ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เกิดขยะอวกาศกระจายไปทั่ว ส่วนเศษซากที่เกิดขึ้นจะสลายเหลือเพียงชิ้นเล็กชิ้นน้อย และตกลงสู่พื้นโลกภายในหลายสัปดาห์
อย่างไรก็ตาม ไบรเดนสไตน์ยืนยันว่า พวกเขาตรวจพบเศษซากขนาดใหญ่พอที่จะติดตามได้จำนวน 60 ชิ้น ซึ่งจำนวนนี้มี 24 ชิ้นที่ลอยอยู่เหนือจุดโคจรของสถานีอวกาศนานาชาติ
“การสร้างกิจกรรมที่ส่งขยะอวกาศสู่วงโคจรและลอยอยู่เหนือสถานีอวกาศนานาชาติเป็นเรื่องที่เลวร้าย” ไบรเดนสไตน์กล่าว พร้อมเสริมด้วยว่ากิจกรรมแบบนี้ไม่ส่งผลดีต่อการบินในห้วงอวกาศของมนุษยชาติในอนาคต
“นี่คือสิ่งที่เรารับไม่ได้กับการปล่อยให้มนุษย์สร้างขยะอวกาศบนวงโคจรโลก ซึ่งทำให้คนของเราตกอยู่ในอันตราย” ผู้บริหารนาซากล่าว
ทั้งนี้มีเพียง 3 ประเทศในโลกที่มีศักยภาพทางเทคโนโลยีในการยิงทำลายดาวเทียมที่โคจรอยู่นอกโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีน ขณะที่อินเดียก็มีความต้องการยกระดับประเทศให้กลายเป็นมหาอำนาจด้านอวกาศทัดเทียมกับ 3 ประเทศข้างต้น และพยายามเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันประเทศเช่นกัน
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: