×

นฤมลสนับสนุน กนง. ขยับขึ้นดอกเบี้ย เตือนระวังสหรัฐฯ คงประกาศขึ้นบัญชีจับตาประเทศไทยบิดเบือนค่าเงิน

โดย THE STANDARD TEAM
23.09.2022
  • LOADING...

วันนี้ (23 กันยายน) ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิก พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์’ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเงินของโลกตลอดสัปดาห์นี้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ขึ้นดอกเบี้ยอีก +0.75% สู่ระดับ 3-3.25%, วันที่ 22 กันยายน ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย คงไว้ที่ -0.1%, วันที่ 22 กันยายน ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก +0.5% จึงเพิ่มเป็น 2.25%

 

ศ.ดร.นฤมลระบุ เป็นไปตามคาด คือ ญี่ปุ่นเลือกที่จะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย การเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนโดยตรงจึงเป็นทางเลือกที่นำมาใช้ เมื่อวันจันทร์ (19 กันยายน) ยังเขียนอยู่เลยว่า “ถึงแม้ BOJ ยังคงไม่ขึ้นดอกเบี้ย แต่ก็ยังไม่เห็นวี่แววของการที่จะเสี่ยงใช้วิธีแทรกแซงค่าเงินเยนโดยตรง ค่าเงินเยนล่าสุดตกลงไปอยู่ที่ 144 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าสุดในรอบ 24 ปี ถ้าอ่อนต่อเนื่องไปจนหลุด 150 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ อาจจะได้เห็นการปรับเปลี่ยนมาตรการของ BOJ”

 

แต่หลังจากที่ค่าเงินเยนต่อดอลลาร์สหรัฐหลุดตัวเลข 145 ไป รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ปล่อยให้อ่อนต่อเนื่องไปอีก ไฟเขียวให้มีการเข้าซื้อเงินเยนเมื่อวันพฤหัสบดี (22 กันยายน) จนค่าเงินเยนต่อดอลลาร์สหรัฐขยับแข็งค่าเป็น 140 ชุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์ว่า โดยหลักการแล้วอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต้องเป็นไปตามกลไกตลาด แต่เราไม่อาจทนต่อความผันผวนซ้ำหลายครั้งที่มาจากการเก็งกำไร แต่ไม่ได้เปิดเผยปริมาณของเม็ดเงินที่ใช้เข้าแทรกแซงค่าเงิน

 

ทั้งนี้ จะเห็นว่าแต่ละประเทศมีปัจจัยภายในที่แตกต่างกัน อัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นสูงขึ้น แต่ก็ยังอยู่ที่เพียง 3% ซึ่งยังต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อในประเทศอื่นมาก ธนาคารกลางญี่ปุ่นจึงเห็นว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลลบกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมากกว่า แต่นั่นหมายถึงส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเทียบกับประเทศอื่นจะสูงขึ้น และส่งผลกระทบกับให้เงินเยนอ่อนค่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงมาตัดสินใจใช้แนวทางแทรกแซงค่าเงินโดยตรง

 

ศ.ดร.นฤมลระบุอีกว่า วันที่ 28 กันยายน ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดกันว่าน่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก +0.25% เป็นการทยอยขึ้นไม่ให้เกิดผลกระทบมากไปกับต้นทุนของธุรกิจและเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว และลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างประเทศในระดับหนึ่ง เพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเร็วเกินไป อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่อ่อนไหวต่ออัตราแลกเปลี่ยนควรป้องกันความเสี่ยง และภาครัฐควรควบคุมต้นทุนในการป้องกันความเสี่ยงให้เหมาะสม

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กนง. ของประเทศไทยพิจารณาข้อมูลรอบด้าน และตัดสินใจทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาทีละน้อย ซึ่งในภาพรวมถือว่ามีความเหมาะสม เราจึงเห็นค่าเงินบาทค่อยๆ อ่อนตัว ซึ่งส่งผลดีกับภาคการส่งออก ส่วนธุรกิจนำเข้า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองก็ได้ส่งสัญญาณให้ภาคเอกชนป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมาต่อเนื่อง จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแทรกแซงค่าเงินโดยตรงอย่างที่หลายฝ่ายกังวล 

 

ที่ต้องระมัดระวังคือ เมื่อเดือนมิถุนายน 2022 สหรัฐฯ ยังคงประกาศขึ้นบัญชีประเทศไทยเป็นประเทศที่ถูกจับตาอย่างใกล้ชิดเพราะบิดเบือนค่าเงิน ซึ่งกรณีเลวร้ายหากเข้าข่ายบิดเบือนค่าเงินเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า อาจส่งผลกระทบต่อการนำเข้า-ส่งออกระหว่างไทยกับสหรัฐฯ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X