×

อ่านแนวคิดสร้างองค์กรให้ยั่งยืนที่ถอดแบบจากตัวตนและไลฟ์สไตล์ของ ‘ณพน เจนธรรมนุกูล’ ผู้บริหารเลือดใหม่ของ ‘สัมมากร’

โดย THE STANDARD TEAM
07.08.2023
  • LOADING...
ณพน เจนธรรมนุกูล

บริษัท สัมมากร จำกัด (มหาชน) หรือ SAMCO คือผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างสรรค์โครงการคุณภาพจากความเข้าใจชีวิตเป็นระยะเวลากว่า 53 ปี 

 

ถามคนรุ่นเก่าน้อยคนจะไม่รู้จัก ส่วนคนยุคหลังอาจพอคุ้นชื่อ ‘หมู่บ้านสัมมากร’ อยู่บ้าง จะถือว่าเป็นโจทย์หนักสำหรับทายาทที่ต้องมารับไม้ต่อหรือไม่ หากต้องทรานส์ฟอร์มองค์กรให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในยุคที่ผู้อยู่อาศัยต้องการมากกว่าที่อยู่อาศัย  

 

หนักหรือไม่? ขึ้นอยู่กับว่าไม้นั้นถูกส่งต่อให้ใคร THE STANDARD ชวน ณพน เจนธรรมนุกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สัมมากร จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารหนุ่มวัย 36 ปี คุยถึงความท้าทายในการเข้ามารับไม้ต่อ SAMCO แบรนด์อสังหาที่เก๋าเกมเรื่องการสร้างบ้านคุณภาพดี แต่ยังมีจุดบอดเรื่องการสร้างแบรนด์ที่ส่งพลังมาไม่ถึงคนรุ่นหลัง  

 

ณพน เจนธรรมนุกูล

 

“ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้เรายังไม่สามารถเปลี่ยนภาพจำของสัมมากรได้ทั้งหมด และก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้จักสัมมากรด้วยซ้ำ แต่คนที่รู้จัก ผมเชื่อว่าสิ่งที่เขาพูดถึงคือบ้านที่มีคุณภาพที่ดี” 

 

แต่ถ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 2558 หลังจากที่ณพนเข้ามาทำงานที่สัมมากรเต็มตัว จนถึงปัจจุบันภาพลักษณ์ของแบรนด์ดูทันสมัยและเข้าใจวิถีชีวิตคนยุคใหม่มากขึ้น 

 

ณพนเล่าว่าหลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสชิมลางทำงานด้าน Investment Banking ในบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง แล้วจึงตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทด้าน MBA ที่ Duke University สหรัฐอเมริกา ก่อนจะกลับมารับไม้ต่อ โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างองค์กรให้มีความยั่งยืนด้วยการปรับโครงสร้างองค์กร ผนวกการเสริมทัพด้วยคนเจนใหม่

 

“ช่วงปีแรกผมดูแลฝ่ายพัฒนาธุรกิจ รับผิดชอบด้านพัฒนาโครงการต่างๆ ไม่นานก็ขยับเข้ามาดูแลรับผิดชอบงานด้านฝ่ายขาย ทำการตลาด เริ่มสร้างทีมงานคนรุ่นใหม่ พอขยับมาดูแลด้านบริหารจัดการก็เริ่มเห็นภาพกว้าง เพราะได้มีส่วนร่วมกับการทำงานทุกภาคส่วน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ดูแลโปรเจกต์และโครงการบ้านใหม่ๆ เป้าหมายของผมคือต้องการสร้างองค์กรที่ยั่งยืน”  

 

ณพน เจนธรรมนุกูล

 

องค์กรยั่งยืนต้องเริ่มที่ ‘คน’

ณพนเชื่อว่าการพัฒนา ‘คน’ ให้มีศักยภาพเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับลูกค้า แต่ก็เป็นความท้าทายสำหรับเขาเช่นกัน เพราะนั่นหมายถึงการรื้อวัฒนธรรมองค์กรที่ปฏิบัติกันมายาวนาน

 

“เมื่อก่อนการทำงานค่อนข้างซ้ำซ้อนและไม่มีแนวทางที่ชัดเจน ถ้าไม่เปลี่ยนเราจะไปต่อไม่ได้ เพราะคู่แข่งเปลี่ยนเร็วและแซงเราไปไกล ผมต้องการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่คนในองค์กรมีความกระตือรือร้น พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง ผมใช้เวลาเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรนานพอสมควร แต่ตอนนี้ถือว่าทำสำเร็จ หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก พนักงานกล้าที่จะออกนอกกรอบ กล้าทำอะไรใหม่ๆ ไดนามิกของการทำงานก็ดีขึ้น 

 

“ที่เห็นได้ชัดคือการสื่อสารภายในองค์กร เมื่อก่อนคนที่อยู่หน้างานไม่กล้ารายงานปัญหาที่เกิดขึ้นในโครงการ เพราะกลัวความผิด แต่ตอนนี้เปลี่ยนแปลงไป ทุกคนกล้ารายงาน พอได้รับรายงานเร็วเราก็แก้ไขได้ทัน จากปัญหาเล็กๆ ก็จะไม่กลายเป็นปัญหาใหญ่ อีกอย่างที่เราปรับขนานกันไปคือเราสร้างองค์กรให้เป็น Flat Organization หรือโครงสร้างองค์กรแบบแนวราบ เพื่อให้การทำงานภายในองค์กรอยู่ในระดับเดียวกันมากที่สุด ทำให้ข้อมูลมาถึงผมและระดับผู้บริหารง่ายมาก ทุกคนมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเท่าเทียม”   

 

การทำงานในธุรกิจธนาคารก็มีส่วนขัดเกลาแนวคิดการบริหารองค์กรให้กับเขาเช่นกัน “ผมเชื่อในทีมเวิร์ก เพราะเราทำงานกันแบบนั้นเพื่อให้งานที่ดีในเวลาที่จำกัด ก็พยายามนำจุดนี้มาปรับใช้ที่สัมมากร เพราะธุรกิจอสังหาต้องทำงานเป็นทีม กระบวนการในแต่ละขั้นตอนค่อนข้างเยอะ ตั้งแต่ขออนุญาตจัดสรรโครงการ ออกแบบโครงการ ก่อสร้าง จนกระทั่งขาย ถ้าไม่มีทีมเวิร์ก แต่ละคนมี Silo เป็นของตัวเอง ปัญหาฝ่ายใครฝ่ายมัน องค์กรจะเดินหน้าต่อไม่ได้” 

 

นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาจึงให้ความสำคัญกับฟันเฟืองสำคัญอย่าง ‘พนักงาน’ ที่สุด แต่ถ้าจะให้เกิดความยั่งยืน 3 องค์ประกอบหลักต่อไปนี้ต้องแข็งแกร่ง 

 

“องค์ประกอบแรกคือ พนักงานต้องมีประสิทธิภาพ บริษัทเองก็ต้องมีส่วนช่วยให้พวกเขาทำงานง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพขึ้น จะด้วยการโปรแกรมต่างๆ ที่มีให้ หรือคอร์สอบรมเสริมทักษะ เชื่อมโยงไปกับองค์ประกอบต่อมาคือ ความยืดหยุ่นในการทำงาน กรอบการทำงานแบบเดิมต้องไม่มี ยกตัวอย่าง การทำโปรดักต์ เราแตกไลน์มาทำโปรดักต์ลักชัวรี เป็นการฝึกให้องค์กรมีความยืดหยุ่นในการทำโปรดักต์ที่หลากหลาย เท่ากับว่าอนาคตยังต่อยอดไปโปรดักต์อื่นๆ ได้อีก สิ่งนี้จะสามารถทำให้สัมมากรเป็นองค์กรที่ยั่งยืนได้จริง

 

“องค์ประกอบสุดท้ายคือ เราต้องเป็นองค์กรที่มีความสามารถในการต้านทานความเปราะบาง เมื่อเจอปัญหาต้องแข็งแกร่งขึ้น คนในองค์กรถ้าเจอปัญหาแล้วย่อท้อ นั่นไม่ใช่วิธีคิดที่ถูกต้อง คนของเราถ้าเจอปัญหาต้องเก่งขึ้น”

 

ณพน เจนธรรมนุกูล

 

วิกฤตทำให้แกร่งและมองเกมขาด

ถึงจะเป็นคำถามที่ดูซ้ำแต่ก็อดที่จะอยากรู้ไม่ได้ว่าเขารับมือกับวิกฤตโควิด-19 อย่างไร “เราพยายามวิเคราะห์สถานการณ์ก่อนว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง จุดที่เชื่อว่าแบรนด์อื่นๆ ก็เห็นเหมือนกันคือการแพร่ระบาดของโรคนี้ทำให้คนต้องเว้นระยะห่าง ทุกคนต้องอยู่บ้าน แปลว่าบ้านเป็นสินค้าที่มีดีมานด์ สิ่งที่ต้องทำคือเดินหน้าโครงการต่อ เพราะตอนนั้นก็มีคำถามว่าควรจะระงับการก่อสร้างหรือไม่ สุดท้ายคนต้องการบ้าน ต้องการพื้นที่ส่วนตัว ยิ่งตอนนี้ทุกอย่างเป็นไฮบริด ทำให้คนต้องการพื้นที่ภายในบ้านมากขึ้น” 

 

บทเรียนสำคัญที่เขาถอดรหัสได้ในตอนนั้นคือธุรกิจต้องปรับตัวให้เร็ว

 

“จะสังเกตเห็นว่าองค์กรใหญ่ที่ไม่เจ็บหนักเพราะเขาปรับตัวเร็ว 

 

“เมื่อคนต้องการพื้นที่มากขึ้น ยิ่งต้องสื่อสารให้เขาเห็นถึงประโยชน์ของการมีพื้นที่ที่มากขึ้น เพราะการอยู่บ้านต้องมีประโยชน์มากกว่าแค่เป็นที่นอนหลับพักผ่อน” 

 

นิยามของ ‘บ้านที่หลับสบาย’ ในยุคของณพนจึงกินความมากไปกว่าโครงสร้างบ้านที่แข็งแรง แต่ยังต้องเป็นพื้นที่ที่อยู่แล้วมีความสบายใจ รู้สึกปลอดภัย  

 

“เราเชื่อเรื่องการวางแปลนบ้านที่มีประโยชน์สูงสุดกับผู้อยู่อาศัยอยู่แล้ว แบบบ้านโครงการใหม่ๆ จึงปรับการออกแบบให้มีฟังก์ชันที่ยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ ทำให้คนในบ้านมีพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่ส่วนรวมได้”

 

พฤติกรรมผู้บริโภคก็มีส่วนในการออกแบบ โดยเฉพาะปัจจุบันผู้อยู่อาศัยเน้นเรื่อง Well-being มากขึ้นทั้งสุขภาพกายและใจ 

 

“พื้นที่ในบ้านต้องออกแบบให้เข้าใจกับความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค จะเห็นได้ว่าเดี๋ยวนี้พื้นที่บ้านทำกิจกรรมได้หลากหลาย โต๊ะกินข้าวสามารถปรับเป็นพื้นที่ทำงาน ทำการบ้าน ทำงานอดิเรก หรือห้องนั่งเล่นที่ใช้พื้นที่บางส่วนเป็นที่ออกกำลังกาย

 

“นอกจากการออกแบบพื้นที่ภายในบ้าน สัมมากรยังให้ความสำคัญกับพื้นที่ส่วนกลาง ผมมองว่ามันเป็นสินทรัพย์ที่สามารถส่งต่อให้ลูกบ้านและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนยุคนี้จะอายุยืนขึ้น เวลาออกแบบเราจึงจินตนาการไปว่าถ้าเขาต้องอยู่ไปอีก 50-60 ปี สภาพแวดล้อมแบบไหนจะตอบโจทย์เรื่อง Well-being ได้ 

 

“คำว่าคุ้มค่าของคนยุคนี้ก็เปลี่ยนไป ราคาก็ส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่ผู้อยู่อาศัยมองหาคือคุณภาพชีวิตที่จะได้ จุดแข็งของสัมมากรคือ ‘บ้านที่มีคุณภาพ’ คนรุ่นเก่าที่รู้จักสัมมากรเขาเชื่อมั่นว่าเราสร้างบ้านที่มีคุณภาพ แต่สิ่งที่ผมต้องการเสริมเข้าไปคือคุณภาพชีวิต เพราะต่อจากนี้ธุรกิจอสังหา นอกจากสร้างบ้านต้องสร้างแบรนด์ ความเชื่อของแบรนด์เป็นสิ่งสำคัญ มันมีผลต่อการเลือกที่อยู่อาศัย เพราะมันสะท้อนภาพลักษณ์และตัวตนของเขา นี่คือสิ่งที่ธุรกิจอสังหากำลังแข่งขันในตลาด นอกเหนือจากคุณภาพบ้านที่ดี”  

 

ณพน เจนธรรมนุกูล

 

มุมมองการออกแบบที่ได้จากงานอดิเรก

ณพนสร้างนิยามความสวยของ ‘บ้านสัมมากร’ ขึ้นใหม่ ต้องไม่ใช่แค่สวย แต่ต้องสวยแบบยั่งยืน “อีก 50 ปี 100 ปี ก็ยังต้องสวยอยู่ ดีไซน์ของเราจึงเน้นความเรียบง่าย คลาสสิก ร่วมสมัย ซึ่งค่อนข้างเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรของเรากับแบรนด์ของเรา 

 

“ผมเข้ามามีส่วนร่วมกับการออกแบบบ้านทุกหลัง รวมถึงการออกแบบส่วนกลางให้เป็นพื้นที่สีเขียว เพราะมีโอกาสเรียนถ่ายภาพกับอาจารย์ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ จากเดิมเวลาดูแบบบ้านรู้ว่าไม่สวยนะ แต่ไม่รู้ว่าไม่สวยอย่างไร เพราะมองทุกอย่างด้วยตรรกะ ไม่เข้าใจศิลปะ หรือการถ่ายรูปก็เหมือนกัน จะคิดแค่เรื่องคอมโพสิชันว่าอยากให้มีอะไรในรูปบ้าง แต่อาจารย์ตุลย์สอนว่ารูปต้องเล่าเรื่อง ต้องให้อารมณ์ มันเหมือนได้เปิดสมองซีกขวา และผมก็นำแนวคิดนี้มาปรับใช้กับการออกแบบบ้าน แทนที่จะมองแค่ว่ามีฟังก์ชันครบ มันต้องมอบสุนทรียะของการอยู่อาศัยซึ่งเราพยายามใส่ลงไปในบ้านของสัมมากร”   

 

แนวคิดการบริหารองค์กรที่ถอดแบบมาจากตัวตนและไลฟ์สไตล์ 

“เวลาว่างผมจะให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพร่างกายรวมถึงดูแลสุขภาพใจ พลังงานดีๆ มักจะเกิดขึ้นจากช่วงเวลาที่ได้อยู่กับตัวเอง ผมชอบอ่านหนังสือ มันเป็นการได้คุยกับคนเขียนเชิงลึกว่าเขาคิดอย่างไร เวลาผมอ่านจะชอบย้อนคิดกับสิ่งที่เราเป็น มีอะไรที่ปรับใช้กับตัวเองได้ไหม ใช้กับองค์กรได้ไหม มีอะไรที่พนักงานเราน่าจะนำไปใช้แล้วเกิดประโยชน์” 

 

หนังสือแนวพัฒนาตัวเอง พัฒนาองค์กร และปรัชญาการใช้ชีวิต คือหมวดโปรดของเขา “ช่วงหนึ่งผมชอบอ่านหนังสือพัฒนาตัวเอง หลังๆ หันมาอ่านเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรเพื่อหาว่ามีแง่มุมไหนที่ตรงกับองค์กรเรา หรืออะไรที่ดีก็จะนำมาปรับใช้ ช่วงนี้จะชอบอ่านแนวปรัชญาการใช้ชีวิต ทำอย่างไรให้ชีวิตมีความสุข ผมยังเชื่อว่า Well-being เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งผมก็อยากให้พนักงานมี Well-being เช่นกัน”  

 

สำหรับการดูแลสุขภาพร่างกายเขาเลือก ‘กอล์ฟ’ เป็นเครื่องมือ เพราะนอกจากจะได้ออกกำลังกาย กอล์ฟยังสร้างสมดุลให้กับความคิด 

 

“การเล่นกอล์ฟเป็นกีฬาที่ต้องมีการวางแผน ต้องใช้เวลาอยู่กับตัวเองเยอะ ต้องมีสติกับสิ่งที่ทำ ฝึกให้อยู่กับปัจจุบัน เวลาตีกอล์ฟมันไม่เป็นดั่งใจทุกอย่าง เมื่อเจอความผิดพลาดแล้วช็อตต่อไปคุณจะจัดการกับความรู้สึกตัวเองอย่างไร จะจมอยู่กับความผิดพลาดที่ผ่านมา หรือยอมรับ ปล่อยวาง แล้วเดินหน้าต่อ ทำให้เราเข้าใจอีโก้ตัวเองและบริหารอีโก้ตัวเองได้ดีมาก

“วิปัสสนาผมก็ชอบนะ เมื่อก่อนเคยบอกตัวเองว่าไม่ใช่คนพุทธ เพราะยังไม่เข้าใจในแก่นของมัน แต่พอได้ศึกษาก็พบว่าพุทธศาสนาคือการปฏิบัติจริง มันช่วยในการใช้ชีวิตประจำวันได้ดีมาก ทำให้เข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัจจัยภายนอกและมันก็กระทบกับจิตใจคุณได้ แต่ถ้าจิตใจคุณแข็งแกร่งก็ไม่มีอะไรมากระทบได้ บางเรื่องที่เคยทุกข์กับมันมาก พอเข้าใจเราก็ให้ความสำคัญกับมันน้อยลง” 

 

เขาไม่ปฏิเสธว่าแนวคิดการบริหารองค์กรถูกถอดแบบมาจากตัวตนของเขา

 

“ด้วยบุคลิกหรือแนวคิดที่ผมเชื่อและปฏิบัติทุกวันนี้ มันสร้างให้ผมเป็นผู้นำที่ดีได้ ผมเป็นคนชอบเรียนรู้ ชอบฟีดแบ็กตัวเอง เวลาได้สิ่งดีๆ จากประสบการณ์ก็พยายามถ่ายทอดให้กับพนักงาน ผลักดันให้เขาพัฒนาทักษะ มีความยืดหยุ่น และมีความสามารถในการรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ อยู่เสมอ ผมไม่เคยมองว่าอายุเป็นอุปสรรคในการบริหารองค์กร มันอยู่ที่ว่าคุณเรียนรู้อะไรมา ผ่านอะไรมา และนำมาปรับใช้กับการทำงานหรือเปล่า”

 

ณพน เจนธรรมนุกูล

 

เชื่อใน ‘Work-Life Balance’ แต่ก็มีความสุขได้ถ้า Work กับ Life จะไม่บาลานซ์

แม้ว่าณพนจะเชื่อในคำว่า Work-Life Balance แต่ก็มีมุมมองที่น่าสนใจว่า “สมัยนี้เส้นกั้นระหว่าง Work กับ Life มันเริ่มเบลอ อย่างที่สัมมากรทุกวันนี้เราให้พนักงานทำงานแบบไฮบริด เท่ากับ Work กับ Life เกิดขึ้นพร้อมกันที่บ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะเขาเองมีโอกาสที่จะบริหารจัดการชีวิตตัวเองได้ดีขึ้น ไม่ใช่ว่าฉันต้องมานั่ง 9 โมงถึง 5 โมง และไม่ได้ทำอะไรกับชีวิตเลย

 

“สิ่งที่อยากให้ทุกคนรู้สึกเหมือนผมคือ งานไม่ใช่ภาระ แต่เป็นสิ่งที่พัฒนาให้เราเป็นคนที่มีคุณภาพมากขึ้น นี่เป็นสิ่งที่ผมพยายามผลักดันและบอกกับพนักงานทุกคน 

 

“สำหรับผมด้วยหน้าที่การงานมันเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้วที่งานจะล้ำเส้นพื้นที่ส่วนตัว แต่ผมกลับมีความสุขที่ได้ช่วยให้องค์กรเดินต่อไปได้ เลยไม่ได้รู้สึกมีปัญหาอะไรถ้า Work กับ Life จะไม่บาลานซ์

 

“แต่ถ้าเมื่อไรกระทบกับจิตใจ เมื่อก่อนก็ไปต้องไปพักผ่อน แต่เดี๋ยวนี้ผมสามารถคลายเครียดด้วยตัวเอง เพราะทุกอย่างมันเป็นปัจจัยภายนอก ถ้าเราควบคุมภายในจิตใจเราได้สำหรับผมมันก็ไม่ได้สาหัสมาก” 


คะแนนการทำงานเต็มสิบ คะแนนชีวิตเต็มร้อย

ลองให้เขาประเมินตัวเองทั้งเรื่องการทำงานและการใช้ชีวิต คะแนนเต็มสิบเขาให้ตัวเองเท่าไร ณพนบอกว่า การทำงานถ้าวัดเรื่องบุคลากร เขาให้คะแนนเต็มสิบ เพราะมาตรวัดความสำเร็จของเขาคือ ‘ความสุขของพนักงาน’ 

 

“ต้องถามว่าพนักงานมีความสุขมากขึ้นหรือไม่ ถ้าเขามีนั่นคือความสำเร็จ ทุกวันนี้ผมเห็นทีมมีความสุขกับการทำงานมากขึ้น งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น กลายเป็นองค์กรที่สร้างผลงานได้ดี มีปฏิสัมพันธ์ที่ดี ในอนาคตเมื่อภายในเราแข็งแกร่งก็เชื่อว่าจะขยับเป้าหมายสร้างการช่วยเหลือให้กับผู้อื่นและสังคม” 

 

แต่หากถามถึงเป้าใหญ่ขององค์กรที่เขาบอกว่า “ยังอีกไกล แต่มั่นใจว่าสัมมากรเป็น 1 ใน 5 ของวงการอสังหาได้อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นตัวโปรดักต์ แนวคิด และกลยุทธ์ เราสู้ได้หมด ผมเชื่อว่าทีมงานของเราจะช่วยให้บริษัทไปถึงเป้าหมายใหญ่ได้อย่างแน่นอน

 

“ส่วนเรื่องชีวิตผมให้คะแนนตัวเองเต็ม (ยิ้ม) ทุกวันนี้ผมมีความสุขกับจุดที่ยืน และดีใจที่ได้เป็นคนสร้างประโยชน์กับผู้อื่น ทำให้พนักงานมีความสุข ได้มีส่วนสร้างบ้านที่มีคุณภาพ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับลูกค้า และด้วยความที่เราเป็นคนชอบพัฒนาตัวเอง ยิ่งทำให้ผมมั่นใจว่าจะสามารถเติบโตขึ้นทั้งในแง่การทำงานและการใช้ชีวิต” ณพนกล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising