หลังจาก Killers of the Flower Moon ของ Martin Scorsese ก็ดูเหมือนว่า Apple Studios จะเป็นอีกหนึ่งสตูดิโอที่รุกคืบเข้ามาในอุตสาหกรรมหนังอย่างรวดเร็ว เพราะล่าสุด Ridley Scott เองก็ได้รับทุนสร้างก้อนโตจากพวกเขามาทำหนังเรื่อง Napoleon ที่ว่าด้วยชีวิตของ Napoleon Bonaparte รัฐบุรุษผู้ชำนาญการทำศึกสงครามและจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศสด้วยเช่นกัน
โดยการนำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มาดัดแปลงเป็นหนังในครั้งนี้ ตัวเอกคนสำคัญอย่าง Napoleon ก็ได้นักแสดงมากฝีมืออย่าง Joaquin Phoenix ที่เคยร่วมงานกันมาแล้วในหนังเรื่อง Gladiator (2000) เมื่อ 23 ปีก่อนมารับบทนำ พ่วงด้วยนักแสดงสาวอย่าง Vanessa Kirby ที่มารับบทเป็น Josephine ผู้เป็นทุกสิ่งอย่างในชีวิตของของเขา
Napoleon จะเล่าถึงช่วงเวลาการปฏิวัติฝรั่งเศส เมื่อความขัดแย้งแบ่งกลุ่มคนออกเป็น 2 ฟากฝั่ง โดยฝั่งหนึ่งมีเป้าหมายที่ต้องการจะโค่นล้มระบอบเก่าเพื่อสถาปนาระบอบใหม่ และท่ามกลางสถานการณ์คุกรุ่นทางการเมือง Napoleon Bonaparte (Joaquin Phoenix) ผู้บัญชาการทหารปืนใหญ่ที่สั่งสมชื่อเสียงในฐานะแม่ทัพที่คว้าชัยในสงครามมามากมาย ก็ได้รัฐประหารพร้อมกับไต่เต้าเข้าสู่อำนาจอย่างถลำลึก ก่อนที่จะสถาปนาตนขึ้นเป็นจักรพรรดิ Napoleon Bonaparte แห่งฝรั่งเศสในที่สุด
แต่ Ridley Scott ไม่ได้นำเสนอเรื่องราวของเขาโดยมีหมุดหมายใจกลางปักอยู่ที่การก้าวเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญหรือการทำศึกสงครามในช่วงระยะเวลาต่างๆ หากแต่เป็นการสำรวจเรื่องส่วนตัวและชีวิตรักกับ Josephine Bonaparte (Vanessa Kirby) ยอดรักเพียงหนึ่งเดียวในชีวิต ที่บ่อยครั้งหนังเผยให้เห็นว่าระหว่างออกศึก สิ่งที่ Napoleon ทำเป็นประจำคือการเขียนจดหมายหาเธอ ซึ่งด้านหนึ่งมันแทบจะกลายเป็นกระดูกสันหลังของหนังทั้งเรื่องไปโดยปริยาย
และข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนที่สุดคือ ด้วยระยะเวลาที่หนังมีเกือบ 3 ชั่วโมง Ridley Scott ไม่ได้เน้นหนักไปที่รายละเอียดของ Napoleon ในสงครามเลย ทั้งความปราดเปรื่อง ห้าวหาญ รวมไปถึงความเป็นจอมวางแผนของเขาถูกบอกเล่าออกมาอย่างผิวเผิน แม้การต่อสู้จะแสดงให้เห็นถึงความกรำศึกบ้างก็ตาม
ฉะนั้นเมื่อเทียบเคียงกับเป้าประสงค์ที่หนังต้องการจะเล่าจริงๆ เราอาจมองได้ว่าสิ่งที่ Ridley Scott หมายมั่นปั้นมือจะทำให้คนดูเห็นนั้นไม่ใช่ Napoleon ที่ต้องคอยปวดหัวกับการทำศึกในสงคราม แต่เป็นในสนามรักต่างหาก เพราะตั้งแต่การปฏิวัติไปจนถึงการก้าวเข้าสู่อำนาจ และร่วงหล่นจากบัลลังก์ สิ่งหนึ่งที่มักวนเวียนอยู่กับเขาเสมอก็คือความรัก ที่ในหลายๆ ครั้งการทำสงครามกับกามารมณ์ดูจะเป็นสิ่งที่หนังให้ความสำคัญในแง่ของการพัฒนาตัวละครเสียมากกว่า
และความน่าเสียดายก็ตามมา เมื่อหนังไม่ได้ให้พื้นที่แก่เรื่องอื่นอย่างเป็นหลักเป็นแหล่ง โดยเฉพาะความเป็นมนุษย์ของ Napoleon ก่อนจะเถลิงเข้าสู่อำนาจ ที่ในต้นเรื่องมันแสดงออกอย่างชัดเจนเมื่อทรราชผู้นี้ไม่กล้าแม้แต่จะฆ่าคน
ที่สำคัญคนที่มีความเกี่ยวข้องทางประวัติศาสตร์กับ Napoleon ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่างก็ถูกตัดทอนพื้นที่ออกไปจนแทบจะไม่มีช่องว่างให้แก่การสำรวจตัวตนของพวกเขา หรือพูดง่ายๆ ถึงจะไม่มาก แต่มันก็เป็นหนังที่ค่อนข้างจะเรียกร้องให้คนดูต้องทำความเข้าใจในแง่ประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะถ้าไม่ได้ดูด้วยเหตุผลของความบันเทิงเพียงอย่างเดียว เพราะหากไม่มีพื้นฐานความรู้เลย ก็อาจตามมาด้วยคำถามว่า ตัวละครนี้มีความสำคัญอะไรกับ Napoleon และยิ่งไปกว่านั้นคือ การมีอยู่ของเขาส่งผลอย่างไรต่อประเทศฝรั่งเศสในช่วงเวลานั้น
แต่ปัญหาส่วนหนึ่งก็อาจมาจากบทของ David Scarpa ที่พยายามจะรวบรวมเอาช่วงเวลามากมายมาเล่าภายในหนังเรื่องเดียว ซึ่งไม่มากไม่น้อยมันส่งผลให้ภูมิทัศน์ทางการเมืองและโลกของ Napoleon กลายเป็นเรื่องที่ถูกบอกเล่าออกมาอย่างตื้นเขินทั้งที่ควรจะทรงพลัง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เชิดหน้าชูตาให้กับหนังอย่างถึงที่สุดคือฉากสงครามที่ถูกถ่ายทอดออกมาด้วยความเฉียบแหลมทางเทคนิค ซึ่งก็อาจเพียงพอที่จะพิสูจน์ให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของมัน ไม่ว่าจะเป็นร่างกายเปื้อนเลือดที่ทะลุผ่านน้ำแข็ง หรือคลื่นกองทหารที่พุ่งเข้าสู่สนามรบ ที่สำคัญฉากการต่อสู้เหล่านั้นส่งเสียงครวญครางอย่างมีพลัง โดยเฉพาะเมื่ออยู่ภายใต้ระบบการฉายของโรงภาพยนตร์
และก็คงจะไม่เกินจริงนักหากบอกว่า Napoleon ของ Ridley Scott นั้นเชื่อมโยงกับเรื่องของ Cinematic Apparatus (เทคโนโลยีและกลไกของหนังที่สร้างประสบการณ์การรับชมอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งส่งผลต่อความเข้าใจ อารมณ์ และการตีความของคนดู) โดยตรง เพราะถ้าว่ากันตามภาพรวม หากความอลังการทั้งหมดถูกลดขนาดลงไปอยู่ในจอโทรทัศน์หรือจอคอมพิวเตอร์ ความตระการตาของมันก็อาจไม่สามารถสร้างความรู้สึกในแบบที่เป็นอยู่ได้เลย
ในทำนองเดียวกันสงครามก็เป็นสิ่งที่หนังใช้เป็นเครื่องมือแสดงให้เห็นถึงความบ้าคลั่งของ Napoleon อย่างตรงไปตรงมาตราบจนถึงบั้นปลายชีวิต เมื่อความทะเยอทะยานของเขาผลักดันให้ผู้คนนับล้านไปสู่ความตาย และที่น่าสนใจคือ นัยหนึ่ง Napoleon เองอาจมีชีวิตอยู่อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อถูกรายล้อมไปด้วยสิ่งนั้นเช่นกัน แต่หนังก็ไม่หยิบเอาประเด็นนี้มาใช้ในการขยับขยายมิติของตัวละครให้กว้างไกลและลึกซึ้งมากกว่านี้
ส่วนนักแสดงนำอย่าง Joaquin Phoenix ฝีไม้ลายมืออันจัดจ้านของเขายังคงถ่ายทอดตัวละคร Napoleon ออกมาได้อย่างน่าทึ่งราวกับควบคุมทุกอย่างได้ดั่งใจนึก แต่คนที่น่าพูดถึงจริงๆ คือ Vanessa Kirby ในบทบาทของ Josephine ที่ดูจะติดขัดในการถ่ายทอดอารมณ์ของบุคคลที่กลายเป็นเหมือนกระจกเงาของ Napoleon และส่วนสำคัญก็อาจมาจากความรู้สึกเหล่านั้นถูกแสดงออกมาผ่านการพากย์เสียงในหนัง ซึ่งดูจะจับต้องความสัมพันธ์ที่แท้จริงของเธอที่มีต่อ Napoleon ได้ไม่ครบถ้วนเท่าไร แต่ถึงกระนั้นความกล้าเล่นฉากร้อนแรงก็เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม และเมื่อหักลบกลบทุกอย่าง ก็พอถัวเฉลี่ยให้ข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นไม่เด่นชัดจนเกินไป
รวมๆ แล้วนอกจากฉากสงครามที่น่าตื่นตาตื่นใจ Napoleon ของ Ridley Scott เป็นหนังที่มีเลนส์ในการมองประวัติศาสตร์แบบเฉพาะเจาะจงมาก เพราะมันไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งใดเลยนอกจากความรักที่คละคลุ้งอยู่ตลอดเวลา ซึ่งส่งผลให้เนื้อเรื่องของหนังและตัวละครขาดมิติในหลายแง่มุม
ที่สำคัญแกนหลักด้านอื่นก็ดูจะไม่ได้ถูกนำเสนอออกมาเท่าที่ควร จนมันกลายเป็นเพียงแค่องค์ประกอบที่ใส่เข้ามาเพื่อส่งเสริมสถานการณ์โดยรวม แต่ไม่ได้ช่วยทำให้เห็นถึงจิตใจเบื้องลึกของเขา และมากไปว่านั้นคือมันกลบโทนหนังที่ควรจะแสดงให้เห็นถึงความเป็น The Great ของ Napoleon ไปจนหมด หลงเหลือเพียงแค่ความตลกที่ไม่ค่อยน่าดูชมของยอดบุรุษผู้นี้
Napoleon เข้าฉายแล้ววันนี้ในโรงภาพยนตร์
รับชมตัวอย่างได้ที่: