×

นันทนาเตรียมยื่นญัตติอภิปรายตุลาการ ชี้ สังคมเรียกร้องให้พิจารณาตนเอง

โดย THE STANDARD TEAM
23.08.2024
  • LOADING...
ตุลาการ

วันนี้ (23 สิงหาคม) ที่อาคารรัฐสภา ภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือ ‘ทนายอั๋น บุรีรัมย์’ เข้ายื่นหนังสือต่อ นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อขอให้ตรวจสอบจริยธรรมของ อุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่กล่าวถึงการยุบพรรคก้าวไกล ในงานบรรยายเรื่อง ‘ศาลรัฐธรรมนูญกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560’ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา

 

ภัทรพงศ์เปิดเผยว่า อุดมเป็นหนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และเป็นบุคคลที่ยุบพรรค และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ที่แสดงความคิดเห็นไม่เหมาะสม ตนเองในฐานะประชาชนขอตั้งคำถามว่า พฤติกรรมของอุดมเหมาะสมกับการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ และผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่

 

อีกทั้งการมายื่น สว. ในครั้งนี้ เพราะ สว. เป็นผู้ให้ความเห็นชอบในการสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ จึงอยากให้ดำเนินการตรวจสอบ หรือใช้กลไกในทางอำนาจอื่นในการตรวจสอบ โดยหลังจากนี้ก็จะไปยื่นต่อที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

 

ด้านนันทนาระบุว่า ทางกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจ สว. ในการถอดถอน แต่สามารถยื่นญัตติเพื่อจะนำเรื่องดังกล่าวไปอภิปรายกันในสภา เพื่อให้เกิดการถกเถียงกันเรื่องจริยธรรมและบทบาทของตุลาการ เพื่อดำเนินการไปตามขั้นตอน โดยอาจจะยื่นตรงไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการตรวจสอบจริยธรรมกันเอง โดยเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ เราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ

 

ส่วนฝั่ง สว. จะมีการยื่นญัตติด่วนเพื่อให้ถกเถียงกันเหมือนฝั่ง สส. หรือไม่นั้น นันทนายืนยันว่า จะยื่นญัตติในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน แต่ขึ้นอยู่กับประธานวุฒิสภา ว่าจะวินิจฉัยเป็นญัตติด่วน หรือจะให้อภิปรายในสภาได้หรือไม่

 

ขณะที่คำพูดของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนดังกล่าว ถือว่าผิดจริยธรรมหรือไม่ นันทนากล่าวว่า ถ้าจะใช้คำที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในการถอดถอน เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ต้องใช้คำว่า “วิญญูชนย่อมตระหนักได้ว่าคำกล่าวนั้น เหมาะสมหรือไม่กับสถานะที่เป็นตุลาการ”

 

นันทนาให้ความเห็นว่า หากอยู่ในสถานะที่เป็นคนให้คุณให้โทษ มีอำนาจอย่างกว้างขวาง มาแสดงบทบาทที่อาจจะไม่เป็นที่เหมาะสมในสถานะ และทำให้สังคมมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างรุนแรง ถ้าเป็นการพิจารณาตนเอง ก็เป็นสิ่งที่สาธารณะชนอยากจะเรียกร้อง แต่ขึ้นอยู่กับตัวผู้ที่สื่อสารออกมาว่า จะหันกลับไปพิจารณาตนเองหรือไม่

 

สำหรับกรณีที่ สส. ระบุว่า จะต้องร่วมมือกันเพื่อช่วยกันแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระนั้น ในส่วนของ สว. จะมีการร่วมกันรวมเสียงเพื่อแก้ไขเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ นันทนาระบุว่า ส่วนตัวมีความเห็นด้วยว่าโครงสร้างที่ทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองคือรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ทำให้เกิดองค์กรอิสระที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน และมีขอบเขตอำนาจที่ล้นเกิน จึงต้องกลับมามองว่ารัฐธรรมนูญมีข้อบัญญัติที่มีปัญหา หากจะแก้ปัญหาที่สาเหตุ คือต้องเริ่มต้นจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ รวมทั้งให้ผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่ร่างคือ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อให้ตอบโจทย์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising