ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ เผยหนี้เสียสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ หรือนาโนไฟแนนซ์ ปี 2560 ที่ผ่านมาพุ่งสูง โดยพบว่ามีแนวโน้มเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสิ้นไตรมาส 4 ปี 2560 ที่ผ่านมา มีหนี้เสียรวม 196 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าถึง 73 ล้านบาท หรือเกือบ 60% และเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 ปี 2559 ที่มีหนี้้เสีย 18 ล้านบาท ถึง 899% หรือเกือบ 9 เท่าตัว
ขณะที่ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ณ สิ้นปี 2560 มียอดปล่อยสินเชื่อรวมอยู่ที่ 4,777 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 916 ล้านบาท หรือ 23.72% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2560 ที่มียอดปล่อยสินเชื่อรวมอยู่ที่ 3,861 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 232% หรือจำนวน 3,342 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2559 ที่มียอดปล่อยสินเชื่อเพียง 1,435 ล้านบาท
ปัจจุบันยอดสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์คงค้างที่ยังไม่เป็นหนี้เสียรวมแล้วเกือบ 80 ล้านบาท และปี 2561 ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ 75 ล้านบาท และวงเงินสินเชื่อต่อรายปัจจุบันอยู่ที่ 1-3 หมื่นบาท
จุดประสงค์ของโครงการนาโนไฟแนนซ์คือการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งปัจจุบันนับเกือบสิบล้านครัวเรือน หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของประเทศที่รายรับไม่พอกับรายจ่าย จึงต้องกู้หนี้มาใช้เพื่อการบริโภค และมูลหนี้ก็พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ ล้านครัวเรือนหรือคิดเป็นจำนวน 1 ใน 3 ของจำนวนครัวเรือนไทยทั้งหมด รัฐบาลปัจจุบันและหน่วยงานต่างๆ จึงได้พยายามออกมาตรการเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบซึ่งเป็นโจทย์สำคัญ โดยต้นปี 2558 ได้ออกโครงการ สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ขึ้นโดยต้องการบรรเทาปัญหาหนี้นอกระบบ และส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพ เมื่อเริ่มโครงการ ผู้ขอสินเชื่อสามารถกู้ได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 36% ต่อปี โดยผู้กู้ไม่จำเป็นต้องมีหลักประกัน
ซึ่งตัวเลขหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นเกือบ 9 เท่านี้ชี้ว่า ความฝันของรัฐบาลอาจจะต้องสะดุด เมื่อโอกาสใหม่ที่หยิบยื่นให้อย่างนาโนไฟแนนซ์ดูท่าจะมีปัญหาเสียแล้ว
อ้างอิง: