×

ทำไมการเดินทางเยือนไต้หวันของ แนนซี เพโลซี จึงจุดชนวนตึงเครียดสหรัฐฯ-จีน

02.08.2022
  • LOADING...
แนนซี เพโลซี

แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา เปิดฉากทริปเดินทางเยือนเอเชียอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ประเดิมด้วยสิงคโปร์เป็นชาติแรก ขณะที่แถลงการณ์ระบุว่า เพโลซีจะนำคณะผู้แทนสภาคองเกรสเดินสายเยือนอีก 3 ประเทศในเอเชีย ได้แก่ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ 

 

แต่ไฮไลต์ที่ทั่วโลกจับตาคือ ในท้ายที่สุดแล้วเพโลซีจะตัดสินใจเดินทางเยือนไต้หวันตามที่เคยประกาศไว้หรือไม่ ท่ามกลางท่าทีอันแข็งกร้าวจากจีน ซึ่งประกาศชัดเจนว่าพร้อมใช้กำลังทางทหารตอบโต้อย่าง ‘เข้มแข็งและเด็ดเดี่ยว’ หากผู้แทนระดับสูงจากสหรัฐฯ รายนี้กล้าย่างกรายเข้ามาในเกาะไต้หวัน ซึ่งจีนมองว่าเป็นเขตการปกครองของตนเอง

 

หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า เพโลซีอาจเดินทางต่อไปยังไต้หวันภายในคืนนี้ (2 สิงหาคม) ซึ่งนับเป็นการเดินทางเยือนครั้งแรกของผู้นำระดับสูงสุดของสหรัฐฯ ในรอบ 25 ปี 

 

แน่นอนว่ากระแสข่าวเกี่ยวกับแผนเดินทางเยือนไต้หวันของเธอ ได้จุดชนวนความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอีกครั้ง เนื่องจากปักกิ่งมองว่าวอชิงตันไม่ยึดถือ ‘หลักการจีนเดียว’ โดยจีนถือว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ และอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของจีน แม้ไต้หวันจะมีสิทธิในการปกครองตนเองก็ตาม 

 

ทำไมเพโลซีต้องการเยือนไต้หวัน

  • เหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งที่เพโลซีต้องการเยือนไต้หวันนั้นก็เพราะต้องการสนับสนุนจุดยืนของไต้หวัน และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และไต้หวันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งจุดยืนนี้ได้รับแรงสนับสนุนอย่างมากจากสมาชิกสภาคองเกรส ทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน

 

ท่าทีของรัฐบาลไบเดนต่อการเยือนไต้หวันของเพโลซี

  • แผนเดินทางเยือนไต้หวันของเพโลซี ไม่เพียงแต่ทำให้จีนเฝ้าจับตามองเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างความยากลำบากให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่น้อย ซึ่งแม้แต่กองทัพสหรัฐฯ และประธานาธิบดีโจ ไบเดนเอง ก็เคยแสดงความคิดเห็นออกมาเป็นนัยๆ ว่า ไม่เห็นด้วยกับความคิดของเธอ

 

  • ก่อนหน้านี้ทั้งกองทัพสหรัฐฯ และทำเนียบขาวต่างพยายามโน้มน้าวเพโลซีให้ไตร่ตรองและเปลี่ยนใจ เพื่อไม่ให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนย่ำแย่ลงไปอีก 

 

ทำไมจีนไม่พอใจ แม้ในอดีตเคยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ เยือนไต้หวันมาก่อน

  • เพโลซีถือเป็นผู้แทนระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นรองเพียงประธานาธิบดีโจ ไบเดน และ คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ดังนั้นการไปเยือนไต้หวันจึงมีนัยสำคัญทางการเมืองระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม กรณีของเพโลซีถือว่าไม่ใช่ครั้งแรก เพราะในปี 1997 นิวต์ กิงริช ประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครีพับลิกันในเวลานั้น เคยเดินทางเยือนไต้หวันแล้ว

 

  • อย่างไรก็ตามจีนอาจมองว่าบริบทในสมัยกิงริชและเพโลซีนั้นแตกต่างกัน เพราะในสมัยที่กิงริชเดินทางเยือนไต้หวันนั้น เขาได้เลือกเดินทางไปประชุมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกรุงปักกิ่งของจีนก่อนเป็นเวลา 3 วัน แล้วจึงแวะเยือนกรุงไทเป ซึ่งอาจเป็นการแสดงออกที่จีนมองว่า ‘ให้เกียรติ’ มากกว่ากรณีของเพโลซี

 

  • จีนมองว่าการที่เพโลซีเยือนไต้หวันนั้นถือเป็นการดูหมิ่นประเทศอย่างสูง เพราะเพโลซีอยู่สังกัดพรรคเดียวกับประธานาธิบดีไบเดน และมีโอกาสสืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีในลำดับที่ 3 ด้วย

 

  • นอกจากนี้ชาวจีนยังไม่นิยมชมชอบเพโลซีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เนื่องจากเธอเป็นผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์จีนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเพโลซีเคยเดินทางไปกรุงปักกิ่ง เพื่อประท้วงเหตุการณ์นองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมินด้วยตัวเองเมื่อปี 1991 

 

  • ขณะเดียวกัน เธอยังเป็นผู้ที่ยืนหยัดในประเด็นเรื่องทิเบต รวมถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ในจีน โดยเมื่อปี 2002 เพโลซีเคยยื่นจดหมายให้กับ หูจิ่นเทา ประธานาธิบดีจีนในสมัยนั้น เพื่อแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการคุมขังนักกิจกรรมทางการเมืองในจีนและทิเบต ซึ่งสร้างความเดือดดาลให้กับจีนอย่างมาก

 

  • นอกจากนี้ เพโลซียังเป็นหนึ่งในสมาชิกสภาคองเกรสที่เรียกร้องให้ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ผู้นำสหรัฐฯ ในช่วงเวลานั้น ปฏิเสธเข้าร่วมพิธีเปิดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุงปักกิ่งเป็นเจ้าภาพเมื่อปี 2008 แต่ทว่าไม่ประสบผลสำเร็จ นอกเหนือจากนั้นเธอยังเรียกร้องให้สหรัฐฯ บอยคอตทางการทูต ต่อมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่งเป็นเจ้าภาพ เมื่อช่วงต้นปี 2022 อีกด้วย เพื่อประท้วงประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวมุสลิมอุยกูร์ในจีน

 

ท่าทีของสหรัฐฯ ต่อคำขู่ และปฏิกิริยาของจีน

  • จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ เตือนว่า มาตรการตอบโต้ของจีนนั้นอาจรวมไปถึงการยิงขีปนาวุธลงสู่ช่องแคบไต้หวัน ตลอดจนการส่งเครื่องบินรุกล้ำเข้าไปในเขตป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวันด้วย ซึ่งนั่นอาจทำให้ความตึงเครียดในภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้น

 

  • แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เรียกร้องให้ทางการจีนทบทวนท่าที และแนวทางที่จะใช้ตอบโต้ผู้แทนระดับสูงของสหรัฐฯ ใหม่อีกครั้ง หากการเดินทางเยือนไต้หวันเกิดขึ้นจริง เพราะการตอบโต้ของจีนอาจทำให้สถานการณ์ด้านความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศยิ่งย่ำแย่ลง โดยทางการสหรัฐฯ เองก็จะเฝ้าจับตามองการเดินทางเยือนพันธมิตรในเอเชียของเพโลซี และท่าทีของจีนอย่างใกล้ชิด

 

  • สถานการณ์กำลังทวีความตึงเครียดมากขึ้น โดยเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (30 กรกฎาคม) จีนได้ประกาศซ้อมรบด้วยกระสุนจริงนอกชายฝั่งมณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับไต้หวัน ก่อให้เกิดความวิตกกังวลว่า จีนอาจตัดสินใจส่งกำลังทหารบุกเข้าไต้หวันเร็วกว่าที่คาดการณ์กันไว้

 

โอกาสที่จีนจะบุกไต้หวัน

  • สีจิ้นผิงเคยประกาศซ้ำอยู่หลายครั้งว่า จีนพร้อมใช้กำลังทหารเข้ายึดครองไต้หวันหากจำเป็น รวมทั้งเคยเตือนในระหว่างพูดคุยทางโทรศัพท์กับไบเดนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า สหรัฐฯ ‘อย่าคิดเล่นกับไฟ’ ในกรณีไต้หวัน

 

  • ถึงแม้ไบเดนจะเคยออกมาแสดงความกังวลว่า ทริปของเพโลซีอาจยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมในตอนนี้ แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไบเดนก็พูดย้ำอยู่หลายครั้งว่า สหรัฐฯ พร้อมจะปกป้องไต้หวันหากจีนคิดจะยึดครองดินแดน

 

  • ถึงแม้สหรัฐฯ จะไม่ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันอย่างเป็นทางการ แต่สหรัฐฯ ก็มองว่าดินแดนแห่งนี้เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ ได้ขายอาวุธให้กับไต้หวัน และมีสัมพันธ์ทางการค้าที่แข็งแกร่งอีกด้วย

 

  • อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ท่าทีที่จีนสื่อออกมานั้นอาจเป็นการเล่นสงครามน้ำลายเสียมากกว่า เพราะจีนไม่น่าจะทำอะไรรุนแรงต่อเพโลซี หรือตั้งใจที่จะก่อสงครามกับไต้หวันจริงๆ

 

  • ท้ายที่สุดนั้น คำถามที่ยังเหลืออยู่คือสหรัฐฯ และจีนจะสามารถหาจุดร่วมเกี่ยวกับประเด็นไต้หวันได้หรือไม่ และไต้หวันจะสามารถรักษาสถานะปัจจุบันไว้ได้อย่างมั่นคงหรือเปล่า มิเช่นนั้น ก็เป็นไปได้ที่การเผชิญหน้ากันระหว่างสามดินแดนอาจเปิดฉากขึ้นบนเกาะแห่งนี้

 

จับตาเพโลซีเยือนไต้หวันจริงหรือไม่

  • แม้ในตอนนี้เพโลซีจะยังไม่ได้ยืนยันอย่างเป็นทางการว่าจะเดินทางไปไต้หวันหรือไม่ แต่สื่อหลายสำนักคาดการณ์ว่า ในท้ายที่สุดเธอจะตัดสินใจเดินทางเยือนไต้หวันอย่างแน่นอน โดยสำนักข่าว Financial Times รายงานว่า เพโลซีจะเข้าพบไช่อิงเหวิน ประธานาธิบดีของไต้หวันในช่วงเช้าวันพรุ่งนี้ (3 สิงหาคม)

 

  • หากเพโลซีเดินทางเยือนไต้หวันจริง จะเท่ากับว่าทริปของเธอเกิดขึ้นก่อนการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งคาดการณ์ว่าที่ประชุมจะโหวตสนับสนุนให้สีจิ้นผิงนั่งตำแหน่งผู้นำประเทศต่อเป็นสมัยที่ 3 นั่นแปลว่า ในช่วงเวลานี้สีจิ้นผิงจำเป็นต้องแสดงภาวะผู้นำ ความเข้มแข็งให้ชาวจีนเห็น และไม่เผยให้เห็นข้อบกพร่องใดๆ ต่อประเด็นไต้หวัน เพื่อกรุยทางให้การเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 ผ่านไปด้วยความราบรื่น

 

แฟ้มภาพ: Saul Loeb / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising