เมื่อวันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา ดร.นพ.อธิบ ตันอารีย์ โรงพยาบาลศรีธัญญา ได้รายงานสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายจังหวัด พ.ศ. 2564 ที่สำรวจพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับพื้นที่โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในงานเสวนาวิชาการและประชุมวิชาการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด เพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัยและนักวิชาการการเสพติด โดยร่วมนำเสนอผลการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบแนวทางการแก้ไขปัญหาสารเสพติดจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อนำไปสู่การต่อยอดในเชิงวิชาการและนำไปแก้ไขปัญหาสารเสพติดในสังคม
จากรายงานสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายจังหวัด พ.ศ. 2564 จากกลุ่มตัวอย่าง 84,000 คนทั่วประเทศ พบว่า 28% ของประชากรไทย อายุ 15 ปี ขึ้นไป ดื่มสุราในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และ 9% ของวัยรุ่นไทยอายุ 15-19 ปี ดื่มสุรา แม้กฎหมายห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ให้ผู้อายุต่ำกว่า 20 ปี
สัดส่วนของนักดื่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงสูงคือ 43.8% ดื่มบ่อยอย่างน้อยทุกสัปดาห์ 35.9% ดื่มหนัก 31.6% ดื่มแล้วขับขี่ยานพาหนะ
สำหรับจังหวัดที่มีค่าเฉลี่ยดัชนีความเสี่ยงต่อปัญหาแอลกอฮอล์ในระดับสูง 0.6 คะแนนขึ้นไป 5 อันดับสูงสุด คือ น่าน 0.723 คะแนน, เชียงราย 0.722 คะแนน, แพร่ 0.704 คะแนน, มุกดาหาร 0.696 คะแนน และพะเยา 0.688 คะแนน
ส่วนกลุ่มจังหวัดที่มีดัชนีคะแนนความเสี่ยงฯ ต่ำ น้อยกว่า 0.4 คะแนน 5 ลำดับต่ำสุด คือ ยะลา 0.123 คะแนน, ปัตตานี 0.148 คะแนน, นราธิวาส 0.172 คะแนน, พังงา 0.277 คะแนน และสิงห์บุรี 0.284 คะแนน
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย